Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

7 ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามก่อนซื้อ Web Application Firewall

ในยุค Digital Economy นี้ หลายองค์กรมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนธุรกิจของตนมากขึ้น หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดที่สุดคือการให้บริการลูกค้าออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่มักกระทำผ่านเว็บแอพพลิเคชัน เช่น การชำระค่าบริการออนไลน์ การซื้อของออนไลน์ หรือการให้บริการ Content ออนไลน์ เป็นต้น กล่าวได้ว่า เว็บแอพพลิเคชันกลายเป็นหน้าบ้านอันแสนสำคัญสำหรับองค์กร

Web Application Firewall ระบบป้องกันภัยคุกคามสำหรับเว็บแอพพลิเคชันโดยเฉพาะ

บริษัทที่ประสบความสำเร็จในยุค Digital Economy ย่อมทราบดีกว่า เว็บแอพพลิเคชันมีความสำคัญต่อแบรนด์และชื่อเสียงของพวกเขามากเพียงใด การปล่อยให้เว็บแอพพลิเคชันถูกแฮ็คหรือถูกโจมตีย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจของลูกค้า การกำหนดนโยบายและวางมาตรการควบคุมจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เว็บแอพพลิเคชันมั่นคงปลอดภัยอยู่เสมอ หนึ่งในมาตรการที่ใช้รับมือกับการโจมตีไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ Web Application Firewall (WAF)

Web Application Firewall ต่างจาก Firewall ทั่วไปตรงที่ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามที่พุ่งเป้ามายังเว็บแอพพลิเคชันโดยเฉพาะ เช่น SQL Injection, Cross-site Scripting, CSRF และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ มีผู้ให้บริการ Web Application Firewall เป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ Appliance และโซลูชันบนระบบ Cloud … คำถามคือ แล้วเราควรจะเลือกใช้ Web Application Firewall แบบใด ยี่ห้อไหน จึงจะเหมาะสมกับองค์กรมากที่สุด ?

7 ประเด็นที่ต้องพิจารณาเมื่อเลือกซื้อ Web Application Firewall

Akamai ผู้ให้บริการระบบ CDN และโซลูชัน Cloud Security ชั้นนำของโลก ได้ให้คำแนะนำในการเลือกซื้อ Web Application Firewall โดยผู้ใช้ควรพิจารณาถึงคำถามเหล่านี้ขณะ POC หรือก่อนตัดสินใจซื้อกับ Vendor ซึ่งมีทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้

1. Throughput ที่เราจำเป็นต้องใช้มีขนาดเท่าไหร่ ?

WAF ทำหน้าที่ปกป้องเว็บไซต์และแอพพลิเคชันผ่านการตรวจสอบ HTTP และ HTTPS Request ซึ่งช่วยหลีกเลี่ยงการรั่วไหลของข้อมูลสู่ภายนอก การเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ และการเข้าควบคุม Web Server แต่การตรวจสอบเหล่านี้ย่อมมาพร้อมกับความหน่วง (Latency) ซึ่งทำให้เข้าถึงเว็บแอพพลิเคชันได้ช้าลง กล่าวคือ ถ้าขนาดของการโจมตี (หรือทราฟฟิคของการใช้งานปกติ) สูงเกินกว่า Throughput ของ WAF อาจทำให้ WAF ประมวลผลทราฟฟิคได้ช้ากว่าปกติ หรือเลวร้ายที่สุดคือ WAF อาจหยุดการทำงานแล้วปล่อยผ่านทราฟฟิค (Fail Open) หรือบล็อกทราฟฟิคทั้งหมดแทนได้ (Fail Close)

โดยปกติแล้ว Throughput ของ WAF จะถูกจำกัดโดยประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ ซึ่ง WAF แบบ On-premise จะมี Throughput สูงสุดประมาณ 2 Gbps ในขณะที่ถ้าเป็น WAF แบบ Cloud-based จะสามารถขยาย Throughtput ได้มากกว่านั้น ซึ่งเหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องให้บริการระบบออนไลน์แก่ลูกค้าเป็นจำนวนมาก

2. ความสามารถในการตรวจจับการโจมตีรูปแบบใหม่ๆ เป็นอย่างไร ?

ยิ่ง Vendor และ WAF เฝ้าสังเกตการโจมตีมากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถเรียนรู้วิธีการโจมตี รวมไปถึงคุณลักษณะต่างๆ ได้ดีมากเท่านั้น ผู้ใช้ควรถาม Vendor ให้ชัดเจนว่า “มีการเก็บข้อมูลการโจมตีหรือไม่?”, “จากที่ไหนบ้าง?”, “อัปเดตข้อมูลบ่อยแค่ไหน?” และ “เอาข้อมูลมาใช้เพื่อเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยได้อย่างไร?”

ส่วนใหญ่แล้ว WAF แบบ On-premise สามารถประมวลผลข้อมูลที่วิ่งมายังเว็บแอพพลิเคชันที่ป้องกันอยู่ได้เท่านั้น ส่งผลให้บาง Vendor ต้องซื้อ Threat Feeds จากผู้ให้บริการรายอื่น หรือพึ่งพาเฉพาะข้อมูลที่ลูกค้าแชร์ให้เพียงอย่างเดียว การรู้ที่มาที่ไปของข้อมูลการโจมตีที่ใช้อัปเดตอุปกรณ์ย่อมช่วยให้ผู้ใช้สามารถประเมินคุณภาพของ WAF ได้เป็นอย่างดี

3. Vendor ที่เราเลือกมีบริการ Threat Intelligence หรือไม่ ?

ข้อมูลการโจมตีนับได้ว่าเป็นส่ิงสำคัญในการสร้าง Threat Intelligence … “ข้อมูลการโจมตีถูกจัดเก็บและนำมาใช้หรือไม่?”, “Vendor นำข้อมูลเหล่านั้นมาเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยได้อย่างไร?”, “Vendor มี Framework ในการทดสอบก่อนนำข้อมูลเหล่านั้นมาอัปเดตที่ WAF หรือไม่?” และ “ข้อมูลการโจมตีถูกนำมาใช้เพื่อปรับแต่ง WAF Rules ได้อย่างไร?” … เหล่านี้คือคำถามที่ผู้ใช้ควรถาม Vendor เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพด้าน Threat Intelligence และเพื่อให้รู้ว่า WAF ที่เลือกใช้งานสามารถปรับแต่งให้สอดคล้องกับการโจมตีรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างยืดหยุ่นหรือไม่

4. ใครสามารถบริหารจัดการ Web Application Firewall ของเราได้บ้าง ?

WAF แบบ Cloud-based มักถูกบริหารจัดการและดูแลโดยพาร์ทเนอร์ MSSP หรือทาง Vendor เอง ซึ่งปกติแล้วสามารถควบคุม WAF ได้ผ่านทาง Web GUI ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่า Rules การติดตามทราฟฟิค การอัปเดต White/Black Lists และอื่นๆ ในขณะที่ WAF แบบ On-premise ส่วนใหญ่จะเน้นเพียงแค่การขายอุปกรณ์แล้วจบไป ไม่มีบริการเสริมสำหรับบริหารจัดการและปรับแต่งอุปกรณ์ให้สามารถปกป้องเว็บแอพพลิเคชันได้อย่างมั่นคงปลอดภัย ผู้ใช้จำเป็นต้องว่าจ้างพนักงานเข้ามาตั้งค่า บริหารจัดการ และอัปเดต Rules ต่างๆ ที่สำคัญคือต้องสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการโจมตีเพื่อให้สามารถป้องกันแบบเชิงรุกได้ ดังนั้น ต้องไม่ลืมคำนวณค่าจ้างพนักงานเพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งของ OpEx ด้วย

5. อัตราการเกิด False Negative ของ Web Application Firewall ที่เราเลือกสูงแค่ไหน ?

ไม่มี WAF ใดที่สามารถป้องกันภัยคุกคามได้ 100% ตัวชี้วัดประสิทธิผลด้านความมั่นคงปลอดภัยของ WAF ที่สำคัญคืออัตราการเกิด False Negative ซึ่งเป็นตัวเลขที่ระบุจำนวนการโจมตีที่ WAF ไม่สามารถตรวจจับได้และปล่อยผ่านทราฟฟิคอันตรายเข้าสู่เว็บแอพพลิเคชัน ยิ่ง False Negative มีค่ามากเท่าไหร่ WAF ยิ่งมีคุณภาพแย่มากเท่านั้น ผู้ใช้ควรถามวิธีการชี้วัด False Negative จาก Vendor รวมไปถึงอัตราการเกิด False Negative ของซอฟต์แวร์เวอร์ชันล่าสุด

6. แล้วอัตราการเกิด False Positive ล่ะ ?

เช่นเดียวกับ False Negative อีกหนึ่งตัวชี้วัดประสิทธิผลที่สำคัญของ WAF คือ อัตราการเกิด False Positive ซึ่งระบุจำนวน Request ปกติของผู้ใช้ที่ WAF ประมวลผลผิดว่าเป็นภัยคุกคาม ย่ิง False Positive มีค่ามากเท่าไหร่ WAF ยิ่งตรวจจับทราฟฟิคปกติผิดพลาดมากเท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความพึงพอใจในการใช้งานเว็บแอพพลิเคชันของลูกค้าได้

WAF ที่มีอัตรา False Negative ต่ำ มักจะมี False Positive สูง หรือในทางกลับกัน WAF ที่มีอัตรา False Negative สูง ก็มักจะมี False Positive ต่ำ ซึ่งโซลูชัน WAF โดยส่วนใหญ่มักให้ผู้ใช้เป็นคนเลือกระหว่าง 2 ทางเลือกนี้ ผู้ใช้อาจต้องตัดสินใจว่าจะยอมทนบล็อกลูกค้าหรือจะปล่อยให้การโจมตีผ่านไปได้

7. Web Application Firewall ที่เลือกมีการทำ Rate Control, Brute Force Protection และ DDoS Mitigation หรือไม่ ?

WAF แบบ Cloud-based ในปัจจุบันส่วนใหญ่มาพร้อมกับฟีเจอร์ DDoS Mitigation, Rate Control และ Brute Force Protection เนื่องจากแฮ็คเกอร์ในปัจจุบันมักผสานหลายเทคนิคในการโจมตีเว็บแอพพลิเคชัน เช่น เบี่ยงเบนความสนใจเหยื่อด้วยการโจมตีแบบ DDoS ไปก่อน จากนั้นก็สอดแทรกการโจมตีที่ใช้ขโมยข้อมูลแฝงเข้ามาด้วยโดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว ในกรณีที่ WAF ที่เลือกไม่มีฟีเจอร์สำหรับรับมือกับการโจมตีแบบ DDoS แนะนำให้ผู้ใช้หาโซลูชันเสริม เพื่อเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยแก่เว็บแอพพลิเคชันให้ถึงขีดสุด

Akamai ร่วมกับ WIT พร้อมให้บริการ Web Security ในประเทศไทย

Akamai ได้จับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับ บริษัท เวิลด์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (WIT) ผู้มีประสบการณ์ในการติดตั้งและวางระบบ IT Infrastructure มานานกว่า 27 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สามารถส่งมอบบริการ CDN และโซลูชัน Web Security ให้แก่ผู้ใช้ในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคืนผลกำไรได้อย่างรวดเร็ว

จนถึงวันนี้ Akamai ได้ให้บริการ CDN แบบ Next-generation แก่องค์กรที่มีชื่อเสียงทั่วโลกมากกว่า 1,000 ราย เช่น Standard Chartered, Cathay Pacific, KKBOX, Adobe และ IBM ซึ่งในไทยเอง ด้วยความสนับสนุนจาก WIT ก็ได้ให้บริการแก่บริษัทชั้นนำทั่วประเทศมากกว่า 10 แห่ง ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อีเมล sales@wit.co.th หรือโทร 02-237-3555

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ 

Cisco ปิดดีลเข้าซื้อ Splunk มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนได้รับอนุมัติเรียบร้อย ล่าสุดทาง Cisco ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ Splunk ที่มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 1 ล้านล้านบาทอย่างเป็นทางการแล้ว