จากข่าวเรื่อง “ปีหน้า เตรียมรับมือกับ DDoS Attack จากเวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย” ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจตรงที่ วัยรุ่นจากประเทศเหล่านี้เริ่มเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตกันมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยของการใช้เทคโนโลยีบนระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งอาจส่งผลให้แฮ็คเกอร์ใช้ความไม่รู้ ความประมาทเลินเล่อของวัยรุ่นเหล่านั้น ในการแฮ็คอุปกรณ์ให้กลายเป็นเครื่องมือ (Botnet) เพื่อใช้โจมตีคนอื่นต่อได้
ซึ่งเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับนิสัยการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนของคนไทยหลายคนเช่นเดียวกัน ที่ไม่ตระหนักถึงความเสี่ยง และอันตรายของการเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น การใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนที่ดาวน์โหลดมาจากต้นทางที่ไหนก็ไม่รู้ (แต่ฟรี), การ Jailbreak เพื่อติดตั้งแอพพลิเคชันฟรี รวมทั้งการกดลิงค์โฆษณาหรือรับรางวัลต่างๆ เป็นต้น บทความนี้ ทีมงาน TechTalkThai จึงขอแนะนำวิธีการทำให้อุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และโน๊ตบุ๊คของทุกคนปลอดภัยจากภัยคุกคามบนอินเตอร์เน็ตกันนะครับ
1. ดูแล Wi-Fi ของตน เริ่มต้นด้วยการทำให้อุปกรณ์ที่กระจายสัญญาณเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตปลอดภัย เช่น Router หรือสมาร์ทโฟนที่เปิดฟังก์ชันแชร์อินเตอร์เน็ต
- ใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่งเพียงพอ หลีกเลี่ยงการตั้งรหัสผ่านง่ายๆ เช่น “password” หรือ “123456” และเพิ่มความแข็งแกร่งให้รหัสผ่านโดยการใส่อักษรพิมพ์ใหญ่, อักขระพิเศษ และตัวเลขลงไปด้วย เช่น “H3||0W0r|d!” หรือสร้างข้อความสั้นๆที่สามารถจำได้ง่ายๆ เช่น “orange eagle key shoe” (ดูคำแนะนำการตั้งรหัสผ่านได้ที่ https://www.techtalkthai.com/stanford-university-password-policy/)
- ใช้วิธีการเข้ารหัสแบบ WPA2-AES เสมอ
2. ติดตั้งซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น เปิดใช้งานไฟร์วอลล์, ติดตั้งโปรแกรมแอนตี้ไวรัส รวมทั้งสแกนมัลแวร์บนเครื่องเป็นระยะๆ
3. เชื่อมต่อกับ Wi-Fi ที่ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อ Public Wi-Fi หรือ Wi-Fi ที่ไม่รู้จัก ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเชื่อมต่อจริงๆ จำไว้เสมอว่า Public Wi-Fi ที่ดี จะต้องไม่ถามข้อมูลรหัสผ่านใดๆของคุณ
4. หลีกเลี่ยงการใช้งานโปรแกรมเถื่อน หรือดาวน์โหลดมาโดยไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัด โปรแกรมเหล่านี้อาจแฝงมัลแวร์ที่แฮ็คเกอร์ใช้เพื่อควบคุมอุปกรณ์ของคุณมาด้วยก็ได้ แนะนำให้ดาวน์โหลดผ่านช่องทางที่ถูกต้อง เช่น App Store, Google Play หรือซื้อแผ่นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ เป็นต้น
5. ระวังเว็บไซต์ปลอม เว็บไซต์เหล่านี้มักมีชื่อเว็บไซต์หรือ URL ใกล้เคียงกับเว็บไซต์ของจริง แต่อาจมีการสะกดผิดไปจากเดิมเล็กน้อย ซึ่งถ้าเจอเว็บไซต์ที่มีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวเมื่อไหร่ ให้ลองกลับไปดูที่ URL อีกทีเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าถูกต้องเว็บไซต์
6. คิดก่อนกด อย่ากดลิงค์ใดๆที่ส่งมาจากคนที่คุณไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นบน Email, Facebook หรือช่องทาง Chat ต่างๆ ลิงค์เหล่านี้อาจนำไปสู้เว็บไซต์ที่หลอกล่อให้คุณเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือดาวน์โหลดมัลแวร์ไปติดตั้งไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณได้ โดยเฉพาะอีเมลล์ ควรสังเกตอีเมลล์ผู้ส่งให้ดีว่าเป็นคนที่คุณรู้จักจริงหรือไม่ เนื่องจากแฮ็คเกอร์อาจปลอมอีเมลล์ให้คล้ายคลึงกับคนที่คุณรู้จักก็ได้
เพียงแค่ 6 วิธีการง่ายๆ ก็ช่วยให้คุณรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของแฮ็คเกอร์ และทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของคุณปลอดภัยขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก