5 การโจมตีที่พบบ่อยบน Wi-Fi พร้อมวิธีรับมือ

Wi-Fi หรือระบบเครือข่ายไร้สาย เป็นการเชื่อมต่อยอดนิยมในปัจจุบัน ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้ Laptop, Smartphone และ Tablet ทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน การโจมตีบนระบบ Wi-Fi จึงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่สามารถตรวจจับและรับมือได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างลอยอยู่บนอากาศ จับต้องไม่ได้ ทีมงาน TechTalkThai จึงรวบรวมการโจมตีที่พบบ่อยบนระบบ Wi-Fi พร้อมวิธีรับมือมาเล่าสู่กันฟังครับ

ttt_wireless_hacking-IdeaGU
Credit: IdeaGU/ShutterStock

1. อุปกรณ์ถูกขโมย หรือสูญหาย

สำหรับบริษัทที่ใช้การเข้ารหัสแบบ WPA2-PSK (Pre-shared Key) ซึ่งเหมือนกับใช้รหัสผ่าน Wi-Fi ร่วมกันทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้ว รหัสผ่านนี้จะถูกเก็บอยู่บนอุปกรณ์ เมื่อมีพนักงานลาออก หรืออุปกรณ์สูญหาย หรือถูกขโมย จึงเป็นไปได้ที่รหัสผ่านจะหลุดรอดออกไปสู่มือคนอื่นได้ ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ทุกครั้งที่มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น

ถ้าคิดว่าวิธีการดังกล่าวมองดูอาจจะเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะต้องบอกให้ทุกคนเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ทุกครั้ง แนะนำให้ใช้วิธีการเข้ารหัสแบบ WPA2-Enterprise ซึ่งใช้การพิสูจน์ตัวตนแบบ 802.1x กับ RADIUS ซึ่งช่วยให้สามารถบริหารจัดการชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านได้เป็นรายคน กรณีที่พนักงานลาออกหรืออุปกรณ์สูญหาย ก็เพียงแค่ยกเลิกหรือตั้งค่ารหัสผ่านสำหรับพนักงานคนนั้นๆใหม่ก็เท่านั้น

Credit: BoBaa22/ShutterStock
Credit: BoBaa22/ShutterStock

2. ดักฟังข้อมูล

จุดอ่อนที่สำคัญที่อย่างหนึ่งของ WPA2-PSK คือ การถูกดักฟังจากคนภายใน ในบางกรณี บริษัทจำเป็นต้องให้รหัสผ่าน Wi-Fi สำหรับ แขก พนักงานชั่วคราว หรือ Contractor เพื่อให้สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งเมื่อพวกเขาเหล่านี้ (รวมถึงพนักงานเอง) อาจใช้รหัสผ่านดังกล่าวในการถอดรหัสข้อมูลที่รับส่งกันภายในบริษัท ส่งผลให้ข้อมูลความลับอาจรั่วไหลสู่ภายนอกได้

คำแนะนำคือ ควรแยกวง Wi-Fi สำหรับผู้มาเยือนเหล่านี้โดยเฉพาะ และกำหนดรหัสผ่านใหม่ที่แตกต่างจาก Wi-Fi สำหรับพนักงาน รวมทั้งจำกัดสิทธิ์การใช้งานเครือข่ายภายในเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมบริษัทที่มีระบบความปลอดภัยสูงจึงแยกวง Wi-Fi ออกเป็นอย่างน้อย 2 วง คือ Guest และ Employee ซึ่ง Guest จะนิยมพิสูจน์ตัวตนแบบ Captive Portal และ Employee นิยมพิสูจน์ตัวตนแบบ 802.1x (WPA2-Enterprise)

ttt_session_hijacking

3. Session Hijacking

ปัจจุบันนี้มีเครื่องมือหลายตัวที่ช่วยให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถทำ Session hijacking ผ่านทางระบบ Wi-Fi ที่มีความปลอดภัยต่ำได้อย่างง่ายดาย (ดูตัวอย่างได้ที่ DroidSheep และ FaceNiff) ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะตรวจจับการล็อคอินที่ไม่ปลอดภัยเพียงพอและขโมยข้อมูล session เพื่อปลอมตัวเป็นผู้ใช้งานคนนั้นๆโดยไม่จำเป็นต้องรู้รหัสผ่านใดๆ

การทำ Session Hijacking นี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนระบบ Wi-Fi ความลปอดภัยต่ำ เช่น WEP, WPA-PSK หรือ WPA2-PSK เช่นเดียวกับข้อ 1 และ 2 การเข้ารหัสแบบ WPA2-Enterprise เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันอันตรายบน Wi-Fi นอกจากนี้ กรณีที่จำเป็นต้องใช้งาน Wi-Fi สาธารณะที่มีความปลอดภัยต่ำ แนะนำให้เชื่อมต่อโดยใช้ VPN เพื่อเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง

Credit: Maksim Kabakou/ShutterStock
Credit: Maksim Kabakou/ShutterStock

4. Rogue AP

Rogue AP หรือ AP แปลกปลอม คือ AP ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของบริษัท อาจจะเป็น AP ที่พนักงานนำเข้ามาใช้กันเองเพื่อความสะดวกสบาย ส่วนใหญ่ AP เหล่านี้มักตั้งค่าความปลอดภัยต่ำ ง่ายต่อการแฮ็ค หรือเป็น AP ที่บุคคลภายนอกนำเข้ามาเสียบกับระบบ LAN เพื่อแอบเข้าถึงระบบเครือข่ายของบริษัท เป็นต้น ซึ่ง Rogue AP นับว่าเป็นช่องทางที่ช่วยให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงระบบเครือข่ายของบริษัทได้อย่างง่ายดาย

วิธีป้องกัน คือ ออกนโยบาย และให้ความรู้แก่พนักงานในบริษัทเกี่ยวกับอันตรายจากการนำ AP ส่วนตัวมาใช้ รวมทั้งควรแปะป้ายบนช่องเสียบสาย LAN, บนสายเคเบิล, Patch Panel และพอร์ทบน Switch เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและระบุที่มา ช่วยให้ยืนยันได้ง่ายว่า พอร์ทที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้นั้น ไม่มีใครมาแอบใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต

สำหรับบริษัทที่มีการใช้ระบบ Wi-Fi แบบ Enterprise-grade เช่น Cisco, Aruba หรือ Ruckus แนะนำให้เปิดใช้งานฟังก์ชัน Rogue Detection ซึ่งจะช่วยตรวจจับ Rogue AP และยิงทิ้งทันทีเมื่อมีการเชื่อมต่อ

ttt_dos_on_button

5. Denial of Service (DoS)

เนื่องจาก Wi-Fi เป็นการรับส่งข้อมูลทางอากาศ จึงมีโอกาสเกิดสัญญาณรบกวนกันสูง ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจใช้เงื่อนไขนี้ในการส่งสัญญาณรบกวนมายังระบบ Wi-Fi ของบริษัท เพื่อให้เกิดปัญหาด้านประสิทธิภาพการใช้งาน หรือทำให้ใช้งาน Wi-Fi ไม่ได้เลย

วิธีป้องกัน DoS สามารถทำได้ 2 แบบ คือ ตกแต่งอาคารโดยใช้วัสดุพิเศษ, สี และหน้าต่างที่สามารถป้องกันคลื่นสัญญาณวิทยุจากภายนอกได้ หรือใช้ระบบ Wireless IPS ในการช่วยตรวจจับและป้องกันภัยอันตรายบนระบบ Wi-Fi ฟังก์ชันนี้สามารถหาได้บนระบบ Wi-Fi ระดับ Enterprise-grade ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม แนะนำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เช่น ธนาคาร, สถาบันการเงิน และหน่วยงานรัฐบาลที่เก็บข้อมูลสำคัญติดตั้งระบบดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของระบบ Wi-Fi ที่ใช้งานอยู่

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Passwordless คืออะไร?

รู้สึกชีวิตยากไหมกับการที่ต้องรหัสผ่านนับสิบในทุกวันนี้ นั่นทำให้เกิดการตั้งรหัสผ่านแบบง่ายๆ หรือวนใช้รหัสผ่านซ้ำ ซึ่งเมื่อข้อมูลรั่วก็โดนแฮ็กได้แบบรวบยอด ด้วยเหตุนี้เองแนวคิดของ Passwordless จึงเริ่มถูกผลักดันมากขึ้น ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักนิยามของ Passwordless และวิธีการใช้งานกัน

นักวิจัยชี้ พบโค้ดแอบเก็บข้อมูลใน Chrome Extensions ที่มีการติดตั้งกว่า 6 ล้านครั้ง

จากแหล่งข่าว Bleeping Computer ได้ชี้ให้เห็นว่า Chrome Extensions ราว 57 ตัวที่มีผู้ใช้งานถึง 6,000,000 คนนั้นอาจจะมีความเสี่ยงสูง ที่อาจจะถูกติดตามพฤติกรรมการเข้าเว็บไซต์ หรือการเข้าถึง Cookies สำหรับโดเมนต่าง …