Kubernetes เป็นหนึ่งในปัจจัยที่องค์กรต่างแสวงหาเพื่อเปลี่ยนโฉม Infrastructure ของตน ให้สอดรับกับนโนบายการทำ Modernize Application ขององค์กร ด้วยเหตุนี้วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ทาง VMware จึงได้งานสัมมนาออนไลน์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเริ่มต้นใช้งาน Kubernetes Cluster ด้วยโซลูชันของ VMware องค์กรสามารถเบาใจได้ว่าการเริ่มต้นนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด
องค์กรของเรากำลังถูกคู่แข่งทิ้งห่างหรือเปล่า?
ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคสมัยของการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบเดิมกำลังหายไป ด้วยคอนเซปต์ของ Continuous Delivery หรือ Microservices ซึ่งจุดประสงค์ก็คือการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ตอบโจทย์ในเรื่องของ Agility, Scalability และ Availability อย่างไรก็ดีด้วยเทคโนโลยี Container จะทำให้องค์กรสามารถอัปเดตโค้ดใหม่ได้ตลอดเวลา รวดเร็ว และสามารถแบ่งแยกส่วนการทำงานให้ไม่กระทบซึ่งกันและกัน
อีกแง่หนึ่งในฝั่งของโปรแกรมเมอร์เองมักจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้รวดเร็วกว่าฝั่ง Infrastructure ด้วยแรงขับเคลื่อนจากโปรเจ็คโอเพ่นซอร์สต่างๆ ซึ่ง Kubernestes เองก็เป็น Container Orchestrator ยอดนิยมหนึ่งในนั้น ปัจจุบันทั่วโลกเข้าใจดีแล้วว่าสิ่งนี้สามารถช่วยเปลี่ยนโฉมของ Infrastructure ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นหากองค์กรใดที่ยังไม่สามารถก้าวผ่านการ Modernize เหล่านี้ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตามหลังโลก รวมถึงคู่แข่งในทางธุรกิจด้วย ด้วยเหตุนี้จึงถึงเวลาแล้วที่องค์กรควรจะตื่นตัวและประเมินว่าท่านอยู่จุดไหน ณ ขณะนี้
รู้จักกับ VMware Cloud Foundation โซลูชันชุดใหญ่จาก VMware
VMware Cloud Foundation เป็นโซลูชัน Software Stack ชุดใหญ่จาก VMware ที่ได้รวบรวมผลิตภัณฑ์ระดับแนวหน้าของตน เพื่อให้องค์กรสามารถตอบโจทย์การ Modernize ได้อย่างแท้จริง โดยประกอบด้วยโซลูชันต่างๆ ดังนี้
- vSphere : เครื่องมือของ Admin สำหรับใช้บริหารจัดการทรัพยากรทั้งหมดบน VMware ไม่ว่าจะเป็น CPU, Storage และ Network ซึ่งล่าสุดในเวอร์ชัน 7 ก็มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ มากมาย เช่น บริหารจัดการ Workload ได้ทั้ง Container และ VM, เพิ่ม VMware Hardware เวอร์ชันใหม่ๆ และ รองรับ NVMe over Fabric เข้ามา
- vSAN : โซลูชัน Software Defined Storage ช่วยผนึกรวม Storage ในแต่ละ Local Server ให้เป็นก้อนเดียวกันได้เพื่อให้บริการสำหรับ VM, ใช้เป็นบริการ File Share หรือทำเป็น Persistent Storage ให้แก่ Cloud Native Application นอกจากนี้ยังสามารถทำ Storage Policy Based Management เพื่อควบคุมทรัพยากรแบบ Infrastructure as a Code ได้ด้วย พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเปลี่ยนภาพการบริหารจัดการ Storage แบบเก่าขององค์กรอย่างสิ้นเชิง
- NSX : โซลูชัน Software Defined Network ทำหน้าที่ให้บริการฟังก์ชันด้าน Network และ Security ภายใน VMware โดยผู้ใช้งานบริหารจัดการ Policy ได้อย่างอัตโนมัติ ให้เปลี่ยนแปลงได้ทันกับความต้องการของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีความสามารถด้าน Unified Management, Zone Firewalling และ Micro-segmentation
- vRealize Suite : ให้บริการในเรื่องของด้านการบริหารจัดการทรัพยากรและสร้างการทำงานให้เป็นไปได้อย่างอัตโนมัติ รวมถึงช่วยให้ผู้ดูแลมองในด้าน Visibility และวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในเครือข่าย โดยมีให้บริการทั้งในรูปแบบของ On-premise และ SaaS
อย่างไรก็ดีโซลูชันทั้งหมดถูกออกแบบมาให้อยู่บนพื้นฐานของ intrinsic security ครอบคลุมไปถึงการตอบโจทย์พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์การทำ Encryption การกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ นอกจากนี้ VMware ยังมุ่งเน้นให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวกสบายใช้ง่าย ซึ่งด้วยความสามารถของ Software Defined Data Center (SDDC) จะทำให้การปฏิบัติงานขององค์กรเกิดขึ้นได้อย่างอัตโนมัติ ลดงาน ลดเวลา และลดค่าใช้งานเปลี่ยนโฉมการทำงานขององค์กรสู่ยุคใหม่อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ VMware Cloud Foundation สามารถรองรับการนำไปใช้กับทุกสภาพแวดล้อมไม่ว่าองค์กรจะมี Private Cloud ของตนเอง หรือ Local Cloud ภายในประเทศ หรือแม้กระทั้ง Public Cloud ต่างๆ ก็สามารถทำได้
จัดการทั้ง VM และ Container ด้วย VMware Cloud Foundation with Tanzu
เหตุผลที่แม้ว่าปัจจุบันแอปพลิเคชันจะถูกออกแบบมาในรูปแบบของ Microservices แล้ว แต่ระบบเบื้องหลังอย่างฐานข้อมูลยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ด้วยเหตุนี้องค์กรจึงยังมีความจำเป็นต้องสามารถให้บริการทรัพยากรได้ทั้งแบบเก่าและใหม่ผสานกัน
โดยใน VMware Cloud Foundation 4.0 ได้ยกระดับเพื่อตอบโจทย์แอปพลิเคชันอย่างทันสมัย ด้วยการผนวก VMware Tanzu Kubernetes Grid (TKG) ให้เข้ามาทำงานได้ในระดับ Hypervisor ทำให้องค์กรสามารถใช้ vSphere 7.0 เข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรประเภท VM และ Container เพื่อตอบโจทย์ที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น
หากเจาะลึกถึงการทำงานเบื้องหลังลงไปแล้ว เมื่อ vSphere with Kubernetes ถูกเปิดขึ้นใน vSphere Cluster จะมีการสร้าง Control Plane ที่เรียกว่า Supervisor Cluster ซึ่งทำให้ผู้ดูแล vSphere สามารถสร้าง namespace สำหรับ Supervisor (Supervisor Namespace) เพื่อจำกัดทรัพยากรสำหรับรัน Container Workload และใช้สร้าง Tanzu Kubernetes Cluster ขึ้น รวมถึงยังสามารถกำหนดสิทธิ์ในการใช้งานและทำ Storage Policy เพื่อคุมการใช้งานได้ด้วย
ดังนั้นเพียงแค่ผู้ดูแลสร้าง namespace เอาไว้ นักพัฒนาจะสามารถเข้ามาใช้งานได้แบบ Self-service ผ่านวิธีการปกติของการใช้งานโอเพ่นซอร์ส Kubernetes หรือคำสั่ง Kubectl และ YAML ด้วยเหตุนี้ทั้ง Dev และ Ops จะสามารถทำงานสอดประสานกันโดยไม่กระทบกับวิธีการทำงานของตน ฝั่งผู้ดูแลระบบเองก็ยังใช้ vSphere หน้าตาเดิมๆ ฝั่งนักพัฒนาก็ใช้ Syntax ที่คุ้นเคย ด้วยเหตุนี้การ Modernize Application ของตนจึงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติงาน
อันที่จริงแล้ว Tanzu Kubernetes Grid เป็นเพียงเครื่องมือส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกับ VMware Cloud Foundation ในส่วนของการรัน Application เท่านั้น ซึ่งลูกค้าอาจจะต่อยอดกับ Tanzu Mission Control ที่สามารถบริการจัดการ Deploy Kubernetes Cluster ได้ในทุกสภาพแวดล้อม ส่วนการสร้างแอปพลิเคชันทาง VMware ยังมี Application Service นำเสนอด้วยเช่นกัน ดังนั้นองค์กรจึงสามารถทำการ Build-Run-Manage Application ด้วยโซลูชันจาก VMware ได้แบบครบวงจร