จบไปแล้วกับงานสัมมนาใหญ่ ประจำปี IBM Solutions Summit 2024: AI and Hybrid Cloud in Action เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม InterContinental Bangkok เป็นอีกงานสัมมนาที่เนื้อหาด้าน AI สำหรับภาคธุรกิจองค์กรถูกนำเสนออย่างจุใจ พร้อมประเด็นด้าน Hybrid Cloud, Cybersecurity, Quantum Computing และ ESG
ในครั้งนี้ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้รับชมเนื้อหาที่น่าสนใจในงานมากมาย จึงขอหยิบยกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรพลาดมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ
Keynote: Scaling Your Business with AI and Hybrid Cloud อนาคตของการเติบโตทางธุรกิจคือ AI และ Hybrid Cloud
คุณอโณทัย เวทยากร Managing Director แห่ง IBM Thailand ได้ขึ้นมากล่าวเปิดงานด้วยประเด็นของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมการทำธุรกิจหลังจากนี้ นั่นก็คือเรื่องของ AI และ Hybrid Cloud โดยหากย้อนมองกลับไปในอดีต ทุกๆ ช่วงหลายสิบปี จะเกิดเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกซึ่งเรียกว่า Foundation Tech อย่างในอดีตก็จะมีตั้งแต่เครื่องจักรไอน้ำ, ไฟฟ้า และอื่นๆ ซึ่งแต่ละรอบที่เกิดเทคโนโลยีใหม่ GDP ทั่วโลกก็จะเติบโตถึง 10 เท่า และ AI เองก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่ง Gartner ได้คาดว่าในปี 2030 AI จะมีส่วนสร้างมูลค่ามากถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญเลยทีเดียว
ปัจจุบัน AI อยู่ในช่วง Hyper Experiment ที่ทั่วโลกต่างเร่งทดลองใช้งาน AI โดยหากมองในฝั่ง Consumer นั้นก็มี AI ใหม่ๆ ออกมาให้ใช้ในทุกๆ วัน และในอนาคต AI ก็จะเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ภาคส่วนของการทำธุรกิจองค์กร ซึ่งที่ผ่านมา IBM ก็ได้เปิดตัว IBM watsonx เพื่อเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้งาน AI ในระดับธุรกิจ เปลี่ยนจากการทดลอง AI มาสู่การใช้งานจริง โดยมีสถาปัตยกรรมการบริหารจัดการและการใช้งานที่ดี มีการปกป้องข้อมูลขององค์กร และสามารถทำงานได้ในรูปแบบ Hybrid Cloud อย่างครบถ้วน
ที่ IBM นั้นให้ความสำคัญกับ Small AI Model มากกว่า Large AI Model ทั้งด้วยประเด็นของทรัพยากรในการใช้งานที่น้อยกว่า และความยืดหยุ่นในการนำไปประยุกต์ใช้งาน ซึ่งในระยะยาว Small AI Model จะกลายเป็นแนวทางหลักที่ถูกใช้งานใน AI เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายในการทำ AI Inference ที่ต่ำ และสามารถนำมาใช้งานได้อย่างคุ้มค่า
ที่ผ่านมา IBM พบว่าลูกค้าของ IBM ให้ความสนใจในการใช้งาน AI เพื่อ 3 วัตถุประสงค์หลัก ซึ่งทาง IBM เองก็มีการใช้งานด้วยในบางส่วน ได้แก่
- การสร้าง Customer Experience ที่ดี ธุรกิจโทรคมนาคมแห่งหนึ่งได้มีการใช้งาน AI เพื่อช่วยให้ข้อมูลในขณะที่พนักงานรับสายการโทรศัพท์จากลูกค้ากว่า 800,000 สายต่อเดือน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็ช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้เร็วขึ้นถึง 30% และเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้ 40%
- การใช้ช่วยเขียนโปรแกรมในแบบ Code Assistant โดยที่ภายใน IBM เองก็มีการใช้งานด้วยเช่นกัน และช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้นถึง 60% ในขณะที่ลูกค้าธนาคารรายหนึ่งของ IBM เองก็ใช้เครื่องมือดังกล่าวช่วยเขียนโปรแกรม FinTech ออกมาสู่ตลาดได้สำเร็จแล้ว
- การนำ AI ไปใช้ในฐานะของ Digital Labor โดยให้ AI ทำงานทดแทนมนุษย์สำหรับงานเชิงการสื่อสารข้อมูลและจัดการกระบวนการพื้นฐานที่ไม่ได้มีความซับซ้อนมากนัก โดยภายใน IBM เองก็มีการพัฒนา Digital Labor ขึ้นมาทดแทนบุคลากรที่ทำงานในลักษณะนี้ไปได้กว่า 95% และสามารถ Reskill พนักงานที่เคยทำงานเหล่านี้ไปทำงานอื่นที่มีคุณค่ามากขึ้นได้ ซึ่งงานเหล่านี้สามารถทำได้รวดเร็วกว่าเดิม 80% และลดค่าใช้จ่ายของ IBM เมื่อปี 2023 ลงไปได้กว่า 2,000 ล้านเหรียญเลยทีเดียว
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญนั้นก็คือเรื่องของ IBM Granite ที่เป็น Open Source Foundation Model ภายใต้สัญญา Apache 2.0 ซึ่งครอบคลุมทั้ง Language Model, Code, Time Series, Geospatial, Climate Change, Cybersecurity โดยมีตั้งแต่โมเดลที่ใช้ Parameter ตั้งแต่ 3,000 ล้านถึง 34,000 ล้าน Parameter พร้อมให้ธุรกิจองค์กรนำไปใช้เพื่อเทรนเพิ่มเติมและสร้างเป็น AI ในแบบที่ตนเองต้องการได้ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีการเปิดตัว Granite 3.0 ที่ถูกนำไปใช้งานจนกลายเป็นอันดับ 1 ใน AI Leaderboard สำหรับฝั่ง Enterprise ไปแล้ว
แน่นอนว่าการมาของ AI จะทำให้เกิด Application ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมหาศาล และทำให้สถาปัตยกรรมระบบ IT เบื้องหลังมีความซับซ้อนสูงยิ่งขึ้น ซึ่ง IBM ก็ได้เตรียมรับมือกับแนวโน้มดังกล่าวด้วยการเปิดตัว IBM Concert ที่รวมเอา AI สำหรับการดูแลรักษาระบบ IT เบื้องหลังและจัดการงานด้าน IT Operations เอาไว้ พร้อมให้นำไปใช้ได้แล้ว
ส่วนในแง่ของ Partnership ทาง IBM ก็ยังได้มีการจับมือกับทั้ง Adobe, AWS, Meta, Microsoft, Mistral AI, Salesforce และ SAP เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันและนำโซลูชันด้าน AI ของ IBM เข้าไปผสานรวมในโซลูชันของพันธมิตรแต่ละราย
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในการใช้งาน AI นั้นได้แก่
- Trusted หรือความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี AI ที่มีมาตรฐาน ซึ่งทาง IBM ก็ได้จับมือกับ Meta ก่อตั้ง Open AI Alliance สำหรับวางมาตรฐานด้าน AI, ธรรมาภิบาลของ AI ไปจนถึงการทำ Compliance
- Flexible ความยืดหยุ่นในการเลือกใช้ AI ในโมเดลที่ต้องการ บนสถาปัตยกรรมที่ต้องการ เพื่อรองรับต่อ Workload ที่หลากหลายได้
- Safety โดยการใช้ Open Source ที่มีความโปร่งใสเพื่อให้มั่นใจในการใช้งาน และรองรับการพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต โดย IBM ก็มี Red Hat สำหรับตอบโจทย์นี้
นอกจากนี้ IBM ยังได้ร่วมมือกับ Red Hat เปิดตัว InstructLab สำหรับให้นักพัฒนาและองค์กรต่างๆ สามารถสร้าง Foundation Model ของตนเองได้ด้วยเครื่องมือหลากหลายที่มีให้พร้อมใช้งาน และรองรับการป้อนข้อมูลธุรกิจเข้าไป Train สร้าง Model ขึ้นมาได้ง่ายขึ้น
สำหรับเทคโนโลยีที่องค์กรกำลังให้ความสนใจในภาพรวมนั้นก็ได้แก่ Hybrid Cloud, AI & Data และ Automation ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบ IT แห่งอนาคต โดยผลสำรวจของ IBM พบว่า 82% ขององค์กรพบว่าความซับซ้อนของระบบ IT เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ, 55% ของผู้นำธุรกิจยังไม่มีข้อมูลว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นนั้นมีผลลัพธ์อย่างไรต่อธุรกิจ และในปี 2028 จะมีการเกิดขึ้นของ Cloud-Native Application ใหม่มากถึง 1,000 ล้าน
Application เลยทีเดียว ทั้งหมดนี้ได้นำมาซึ่งความท้าทายในการบริหารจัดการ IT Infrastructure ในอนาคต ซึ่ง IBM ก็มีโซลูชันสำหรับตอบโจทย์เหล่านี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Observability, AIOps, Insights, Resource Management, Technology Business Management, FinOps และ Network
สุดท้าย Quantum Computing ก็ยังเป็นอีกหัวข้อสำคัญที่ IBM ยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน IBM มีการส่งมอบระบบ Quantum Systems ไปแล้วกว่า 70 ระบบ โดยมีองค์กรเข้าร่วมในเครือข่ายด้าน Quantum ของ IBM ถึง 250 ราย และมีการทดลองด้าน Quantum ทั่วโลกไปแล้วกว่า 3 ล้านล้าน Transaction เลยทีเดียว
Orbix Custodian กับการพัฒนาบริการ Digital Asset Custodian ร่วมกับ IBM
ภายในการพูดคุยครั้งนี้ ยังได้มีการเชิญลูกค้าของ IBM ขึ้นมาแบ่งปันประสบการณ์ด้วย คือ คุณ Ken Svensson ผู้ดำรงตำแหน่ง Managing Director แห่ง Orbix Custodian บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย ที่ให้บริการ Digital Asset Custodian สำหรับการรับฝาก จัดเก็บ ปกป้อง และตรวจสอบ Digital Asset ซึ่งมีประเด็นเรื่องการทำ Fraud Protection, Wallet Protection และการปกป้อง Private Key ซึ่ง IBM ก็ได้นำเสนอโซลูชันสำหรับตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน
โจทย์สำคัญของการพัฒนาบริการ Digital Asset Custodian นั้นอยู่ที่การบริหารจัดการและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับ Digital Asset ที่ถูกนำมาฝากเอาไว้ในระบบ ป้องกันการทุจริตจากทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงยังต้องมีการทำ Regulatory Compliance และ Risk Management อย่างเข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินดิจิทัลในระบบจะไม่สูญหายไป และกลายเป็นบริการที่น่าเชื่อถือสำหรับเหล่าลูกค้าและกลุ่มธุรกิจองค์กร ดังนั้นระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการดังกล่าวจึงต้องให้ความสำคัญด้าน Cybersecurity Infrastructure มากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังต้องมีความยืดหยุ่นสูงเพื่อปรับระบบให้สอดคล้องกับความต้องการทางกฎหมายที่ยังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องไปได้
กลยุทธ์ของ Orbix Custodian นั้นคือการทำงานร่วมกับ Digital Transformation Partner อย่าง IBM ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งระบบ IT Infrastructure และ Cybersecurity Infrastructure ในระดับองค์กรและการเงิน ในขณะที่ยังมีความชำนาญด้านเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptography เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดเก็บและปกป้อง Digital Asset ได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งยังมีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมการเงินทั้งแง่ของเทคโนโลยีและข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นอย่างดี
ภายในโครงการนี้ เทคโนโลยีที่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์หลักๆ ในการสร้างบริการ Digital Asset Custodian นั้นได้แก่
1. Multi-Party Contract ที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมาจาก Blockchain เพื่อให้การจัดการกับ Digital Asset มีความโปร่งใสมากขึ้น โดยมี Digital Contract ทำหน้าที่ในการควบคุมการกระทำต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับ Digital Asset และต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ที่มีสิทธิ์มากกว่าเพียงแค่ 2 ฝ่าย ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้สามารถช่วยลดกรณีของการทุจริตฉ้อโกงหรือ Fraud ที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
2. Hot Wallet ซึ่งเป็นกระเป๋าสำหรับจัดเก็บ Digital Asset ที่มีความมั่นคงปลอดภัย โดยภายในโครงการนี้ได้ทำการพัฒนาระบบด้วยแนวคิด Air-Gapped System แยกระบบดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอื่นภายนอก ช่วยให้ระบบไม่สามารถถูกเข้าถึงจากภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ ซึ่งแนวทางนี้ก็มักเป็นแนวทางที่ถูกใช้สำหรับการจัดการกับระบบที่มีความสำคัญสูง เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝันหรือภัยคุกคามจากภายนอกได้เป็นอย่างดี
3. IBM Cloud Hyper Protect Crypto Services สำหรับการให้บริการด้าน Private Key Security ด้วย Hardware Security Module (HSM) โดยการใช้ฮาร์ดแวร์ที่ผ่านการรองรับตามมาตรฐาน FIPS140-2 Level 4 ติดตั้งบน IBM LinuxONE ทำให้มั่นได้ได้ในแง่ของระบบริหารจัดการและจัดเก็บกุญแจเข้ารหัสข้อมูลที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง โดย IBM ได้ให้บริการดังกล่าวในแบบ Dedicated Hardware สำหรับ Orbix Custodian เพียงรายเดียวในโครงการนี้ ทำให้มั่นใจว่าข้อมูลและกุญแจเข้ารหัสเหล่านี้จะไม่ถูกเข้าถึงได้จากบุคคลที่ไม่เกี่ยงข้อง ซึ่งแม้แต่ทีมงานของ IBM เองก็ไม่สามารถเข้าถึงกุญแจเข้ารหัสข้อมูลเหล่านี้ได้ อีกทั้งยังมีการพัฒนาทั้งในส่วนของ CLI, API และการ Integrate ระบบเข้ากับ IT Infrastructure อื่นๆ ที่มีการใช้งานภายในโครงการได้ ไม่ว่าจะเป็น IBM Cloud, VMware vSphere และ VMware vSAN เพื่อปกป้องข้อมูลในทุกระบบให้มีความมั่นคงปลอดภัยในระดับสูง
ความร่วมมือของ IBM ในโครงการของ Orbix Custodian นี้ได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของ IBM ในการเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมพัฒนาบริการใหม่ๆ สำหรับอุตสาหกรรมการเงิน ด้วยความพร้อมทั้งในแง่ของเทคโนโลยี, Cybersecurity และความเข้าใจในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี
บทเรียนจากประสบการณ์การใช้ AI จริงในธุรกิจ ของ KBTG, ธนาคารกรุงเทพ และ The Mall
ในงานครั้งนี้ทาง IBM ยังได้เชิญดร.โกเมษ จันทวิมล Principal AI Evangelist แห่ง KBTG, คุณสรกฤช พฤทธานนทชัย Senior Vice President แห่งธนาคารกรุงเทพ และคุณจิรยุทธ์ กาญจนมยูร Chief Information Officer แห่ง The Mall Group มาแบ่งปันประสบการณ์การใช้ AI ที่เกิดขึ้นจริงในองค์กรของตน พร้อมถ่ายทอดบทเรียนที่น่าสนใจเอาไว้ดังนี้
KBTG เนื่องจากโครงสร้างองค์กรของ KBTG เป็นคนสายเทคโนโลยีกว่า 2,000 คน ดังนั้นการเรียนรู้และทดลองเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI จึงเกิดขึ้นเร็วมาก มีการใช้งาน AI แล้วกว่า 90% ในองค์กร ซึ่งแนวทางที่ได้ผลคือการไม่บังคับใช้ให้ AI แต่ต้องมีการวางกลยุทธ์กำหนดทิศทางให้เหมาะสม
ที่ KBTG ได้มีการกำหนดกลยุทธ์คือ Human-First AI-First Transformation โดยสำหรับพนักงานภายในจะมุ่งเน้นให้เรียนรู้ถึงแนวทางการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้การเรียนรู้และลองผิดลองถูกเป็นไปโดยไม่เกิดความเสี่ยง มีพื้นที่ให้ทดลองได้อย่างปลอดภัย เปิดโอกาสให้มีการใช้งาน AI ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงสร้างความสบายใจว่า AI จะไม่มาทดแทนตำแหน่งงานของตน
ถัดมาในแง่ของลูกค้า ก็มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้โดยคำนึงถึงความเสี่ยงเสมอ และสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้อย่างชัดเจน เช่น การนำ AI มาใช้ปรับแต่งรูปภาพของอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดมาได้และต้องจำหน่ายสู่ตลาด ในขณะที่สำหรับ AI ที่ใช้ในการโต้ตอบกับลูกค้า ก็ยังคงต้องมีพนักงานมาคอยช่วยตรวจสอบคัดกรองเพื่อให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
ธนาคารกรุงเทพ มองว่ามนุษย์และ AI ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน โดยมองว่า AI ต้องเป็นสมาชิกคนหนึ่งทีม เรื่องบางอย่างที่ AI เก่งกว่ามนุษย์ก็สามารถใช้ AI เป็นได้ทั้งเครื่องมือและวิธีการในการเรียนรู้ให้กับทีมงานได้ ในทางกลับกัน หลายเรื่องที่มนุษย์ที่ความเข้าใจในอุตสาหกรรมหรือการทำงานมากกว่า ก็จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้สอน AI ในรูปแบบ Collective Intelligence
มุมมองในระยะยาวนั้น ธนาคารกรุงเทพมองว่า Machine และ AI จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในขณะที่ประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI นี้ก็จะสามารถช่วยกันทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้
The Mall Group มีการนำ AI มาใช้สร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าของตนเอง โดยเริ่มต้นกับ Emsphere ที่เป็นห้างซึ่งลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ นำข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า และนำ AI มาใช้ในการค้นหา Insight ของลูกค้า เพื่อให้ฝ่ายขายสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการให้เหมาะสมกับแต่ละห้างได้ ในขณะที่ลูกค้าก็สามารถทำการค้นหาสินค้าด้วยวิธีการใหม่ๆ อย่างเช่นการใช้ภาพถ่ายได้ โดยในอนาคตก็มีเป้าหมายว่าจะนำ IBM watsonx มาใช้ให้มากขึ้น
ความยั่งยืน ต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าให้ธุรกิจ
ในประเด็นถัดมา คุณ Sachin Gupta ผู้ดำรงตำแหน่ง Sales Leader ของ ENVIZI Sustainability Software แห่ง IBM APAC ได้เริ่มนำเสนอถึงแนวโน้มอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการปลดปล่อย CO2 ที่สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
สำหรับประเทศไทยเอง การปลดปล่อย CO2 ก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาจากการผลิตพลังงานด้วยแหล่งพลังงานต่างๆ ทั้งถ่านหิน, ก๊าซ และน้ำมัน จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องให้ความสำคัญร่วมกัน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ ทั่วโลกจึงมีการออกกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อลดการปลดปล่อย CO2 และมอบสิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนด แต่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังถือว่าล้าหลังในประเด็นนี้
อย่างไรก็ดี จากการทำนายแนวโน้มนั้นก็พบว่ามูลค่าของ Green Economy ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะสูงถึง 300,000 ล้านเหรียญภายในปี 2030 เลยทีเดียว ซึ่งนับเป็น 5% ของ GDP ทั้งภูมิภาค ส่วนนี้จึงเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ ทำให้เหล่าผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากนำ ESG เข้าไปเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ทางธุรกิจ ในฐานะของโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติม ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจต้องสูญเสียไป
ถึงแม้ว่าปัจจุบันธุรกิจจำนวนมากจะยังไม่สามารถดำเนินแผนกลยุทธ์ด้าน ESG ไปให้ถึงเป้าหมายที่คาดหวังได้ แต่ธุรกิจจำนวนมากก็ยังคงมีความพยายามในด้านนี้อยู่ โดย IBM เผยว่าสิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจนั้นได้แก่ การมีข้อมูลด้าน ESG ที่ไม่เพียงพอ, การมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย, แรงต่อต้านจากลูกค้าหรือประชาชน และการที่มาตรฐานหรือข้อบังคับยังคงไม่มีความชัดเจน
สิ่งที่ IBM สามารถช่วยภาคธุรกิจในการตอบโจทย์ ESG ได้นั้น ก็คือการมีระบบ IBM Envizi สำหรับช่วยจัดเก็บรวบรวมข้อมูลด้าน ESG เพื่อนำมาจัดทำรายงาน, การมีเทคโนโลยี Intelligent Asset เพื่อจัดการการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด การจัดการขยะ และการลดการก่อคาร์บอน, การนำเสนอระบบ IT ที่ใช้พลังงานคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงระบบสำหรับการบริหารจัดการ Supply Chain
แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้ ที่ IBM ก็เริ่มมีการนำ AI มาใช้ในเชิง ESG แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนำ AI มาช่วยทำ Predictive Maintenance ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการธุรกิจและลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงได้, การนำ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องจักรเพื่อลดการใช้ต้นทุนและแหล่งพลังงานในการผลิต ไปจนถึงการใช้ Generative AI เพื่อจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานในรูปแบบที่ต้องการ
อัปเดตการใช้ Quantum Computing ในภาคธุรกิจ และผลกระทบจาก Quantum Computing ที่จะเกิดขึ้นต่อวงการ IT ทั่วโลก
คุณ Julian Tan ผู้ดำรงตำแหน่ง Distinguished Quantum Ambassador and Business Development Executive แห่ง IBM ได้เผยว่าวิสัยทัศน์ของ IBM ที่มีต่อ Quantum Computing นั้นคือการได้มาซึ่งพลังประมวลผลประสิทธิภาพสูงสำหรับการแก้ปัญหาด้านการประมวลผลที่โลกนี้ยังไม่เคยทำได้ในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยทั่วโลกยังคงมีการลงทุนใน Quantum Computing อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา
สำหรับ Road Map ของ IBM นั้นก็คือการพัฒนาระบบ Quantum Computer ที่มีประสิทธิภาพการประมวลผลสูงขึ้นและมีความซับซ้อนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในอีก 10 ปีถัดจากนี้ พร้อมทั้งมีการพัฒนา Software และนำเสนอบริการใหม่ๆ เกี่ยวกับ Quantum Computing ออกสู่ตลาด โดย IBM เชื่อว่าภายในปี 2023 จะเริ่มต้นมีการใช้งานสิ่งที่เรียกว่า Quantum-Centric Supercomputing ได้จริง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่า Supercomputer ในยุคนั้นเป็นอย่างมาก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ Quantum Computer กำลังจะทำให้เทคโนโลยีการเข้ารหัสจำนวนมากไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ซึ่ง IBM ก็ตระหนักถึงประเด็นนี้และมีการวิจัยด้าน Post-Quantum Cryptography อย่างต่อเนื่องสำหรับเป็นมาตรฐานใหม่ในการเข้ารหัสข้อมูลที่ทนทานต่อพลังประมวลผลของ Quantum Computer
ในอีกมุมหนึ่ง สหรัฐอเมริกาเองนั้นก็เริ่มมีการกำหนดมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยในแง่มุมต่างๆ ให้ต้องเริ่มมีการเข้ารหัสที่ทนทานต่อ Quantum แล้ว ซึ่งประเด็นนี้จะกลายเป็นส่วนสำคัญต่อการเป็นคู่ค้ากับธุรกิจหรือหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาในอนาคตด้วย จึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจองค์กรทั่วโลกต้องจับตามอง
The Future of AI is Open การสร้าง AI สำหรับการใช้งานในธุรกิจองค์กร จะง่ายดายยิ่งขึ้นด้วยแนวทางใหม่จาก IBM
ปิดท้ายกับการบรรยายในช่วง Keynote โดยคุณ Kitman Cheung ผู้ดำรงตำแหน่ง Director – Pre-Sales Engineering แห่ง IBM ASEAN ที่มาถ่ายทอดถึงแนวทางใหม่ในการสร้าง AI ขององค์กรที่ง่ายดายยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วย IBM InstructLab ร่วมกับ IBM Granite
เดิมทีนั้นการสร้าง AI ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจองค์กรที่ต้องการผสานองค์ความรู้เฉพาะภายในองค์กรเพื่อสร้าง AI เฉพาะทางสำหรับการทำงานที่เหมาะสมกับกระบวนการทางธุรกิจขึ้นมา เพราะองค์กรจะต้องเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่มา Train สร้าง AI Model และทำการทดกสอบซ้ำๆ จนกว่าจะใช้งานได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้นใช้เวลาและทรัพยากรค่อนข้างมาก
สิ่งที่ IBM ทำเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการสร้างแนวทางใหม่ในการพัฒนา AI ได้แบบ Open Source ซึ่งเปิดให้มีการ Train AI Model ได้ในแบบ Incremental ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่า ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่า และยังใช้ทรัพยากรน้อยลงอีกด้วย
เทคโนโลยีแรกที่ถูกใช้ในแนวทางดังกล่าวก็คือ IBM Granite ซึ่งเป็น Open Source Foundation AI Model ภายใต้สนธิสัญญา Apache 2 ซึ่งเป็น Model ที่เกิดจากการนำข้อมูลที่ถูกต้องตามเงื่อนไขทางลิขสิทธิ์ทุกประการมาใช้ในการ Train โดยมี 18 Model ที่พร้อมใช้งานได้ทั้งในกลุ่มของ Code Model, Time Series Model, Language Model และ Geospatial Model
เทคโนโลยีถัดมาก็คือ IBM InstructLab ซึ่งเป็นเครื่องมือการทำ Incremental AI Model Training บนแนวคิด Taxonomy ที่ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มข้อมูลที่ต้องการให้ AI เรียนรู้ลงไปยัง Taxonomy Graph ที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง จากนั้น InstructLab จะทำการสร้าง Teacher Model ขึ้นมาเพื่อสอน Granite Model ให้กลายเป็น Model ใหม่ที่อัปเดตองค์ความรู้ใหม่ พร้อมนำไปใช้งานได้ทันที
แนวทางดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยกรณีศึกษาจากภายใน IBM เองที่ได้มีการพัฒนา AI เพื่อแปลงโค้ดจากภาษา COBOL ไปเป็นภาษา JAVA นั้น ในอดีตที่เคยใช้วิธีการแบบดั้งเดิมก็เสียเวลานานถึง 9 เดือนโดยมีการ Train สร้าง AI Model ขึ้นมาถึง 14 รอบกว่าจะใช้งานจริงได้ ในขณะที่การใช้ InstructLab ร่วมกับ Granite นั้นใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์โดยมีการ Train เพียงแค่ 1 รอบ ก็สามารถใช้งานจริงได้แล้ว อีกทั้งการแปลงโค้ดยังมีคุณภาพดีขึ้นถึง 20% อีกด้วย
สำหรับการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำ AI ไปใช้งานจริงในองค์กร ทาง IBM ก็มีทั้ง Red Hat Enterprise Linux AI, Red Hat OpenShift AI และ IBM watsonx ที่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อรองรับทั้งการใช้ InstructLab, การรันโมเดล Granite และการเสริมเครื่องมือ AI ต่างๆ ให้กับผู้ใช้งานได้ตามต้องการ
เยี่ยมชมบูธต่างๆ ภายในงาน IBM Solutions Summit 2024
นอกจากเนื้อหาการบรรยายที่น่าสนใจแล้ว ภายในงานครั้งนี้ยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีของ IBM จากเหล่าพันธมิตรของ IBM ทั่วไทยอีกด้วย ซึ่งเราก็มีคลิปสัมภาษณ์พูดคุยตามบูธต่างๆ มาให้ทุกท่านได้รับชมกันดังนี้
รับชมเนื้อหาการบรรยายทั้งหมดย้อนหลังของงาน IBM Solutions Summit 2024
สำหรับท่านที่สนใจรับชมเนื้อหาการบรรยายทั้งหมดภายในงานครั้งนี้ สามารถรับชมได้ที่ https://go.techtalkthai.com/2024/11/ibm-solutions-summit-2024-replays/