Container นั้นได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่นักพัฒนาทั่วโลกไปที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่วงการ High Performace Computing (HPC) เองที่ก็มีเทคโนโลยี Container ของตัวเองภายใต้ชื่อโครงการ Singularity เช่นเดียวกัน

โครงการ Singularity นี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ให้เหล่านักวิจัยทั่วโลกสามารถใช้งานสถาปัตยกรรมระบบ HPC ต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเข้ากันได้ของโค้ดที่พัฒนาขึ้นมา กับทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ภายในระบบ HPC เดิม ด้วยการนำเทคโนโลยี Container มาใช้ ก็ทำให้เหล่านักวิจัยสามารถทำการรันโค้ดที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยบนระบบ HPC ใดๆ ก็ได้ในแบบ Bring Your Own Environment หรือ BYOE แล้ว
จุดเด่นของโครงการ Singularity ที่ทำให้ต่างจากโครงการ Container อื่นๆ นั้น มีด้วยกัน 2 ประการหลักๆ ได้แก่การที่ระบบนี้ถูกออกแบบมาสำหรับ HPC แบบ Multi-tenant โดยเฉพาะ ทำให้ HPC Data Center แห่งหนึ่งๆ สามารถรองรับการรันงานวิจัยจากหลายๆ โครงการได้พร้อมๆ กัน ในขณะที่ยังมีแนวคิดในเรื่อง Security ที่แปลกออกไป โดยไม่รองรับการทำ User Escalation ภายในระบบเลย ทำให้ผู้ใช้งานระบบ Singularity นี้มีสิทธิ์ภายใน Container ของตัวเองเทียบเท่ากับสิทธิ์ที่ตนเองได้รับภายนอก Container เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ทางทีมผู้พัฒนา Singularity เองก็ได้ให้ความเห็นว่า ถึง Singularity นี้จะเหมาะกับการนำไปใช้ในระบบ HPC เป็นหลัก แต่การประยุกต์ระบบเพื่อนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
การมาของ Singularity นี้จะทำให้การ Utilize ทรัพยากรภายในระบบ HPC มีความคุ้มค่าและใช้งานยืนยาวได้มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งในแง่ของการที่ทำให้โค้ดชุดเดิมของงาน HPC ใดๆ ถูกนำไปใช้งานซ้ำได้มากขึ้น, การทำให้ Hardware เดิมที่มีอยู่ของระบบ HPC รองรับงานประมวลผลใหม่ๆ มากขึ้น, การทำให้โค้ดเก่าๆ บนระบบปฏิบัติการเก่าๆ ยังคงใช้งานต่อไปได้นานขึ้น, การรองรับชุด Software ที่ต้องใช้งาน Package เฉพาะทางเป็นไปได้มากขึ้น อีกทั้งยังรองรับงานประมวลผลในระบบที่มีความซับซ้อนทางด้านการจัดการข้อมูลสูงได้ดีขึ้นด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดฉบับเต็ม สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดของโครงการนี้ได้ที่ http://singularity.lbl.gov/ ครับ ส่วนด้านล่างนี้เป็นคลิปแนะนำตัวอย่างการใช้งานครับผม