พอดีทางทีมงาน TechTalkThai ได้ถูกเชิญให้มาร่วมงานสัมมนา IBM Power Systems & Storage Technical Roadshow ASEAN นะครับ ซึ่งทางทีมงานก็เห็นว่าเป็นโอกาสดีทีเดียวที่จะได้เข้ามาอัพเดตความรู้กับเทคโนโลยีต่างๆ ของ IBM ให้มากขึ้น ก็เลยได้มาร่วมงานทั้งวันที่ 9 – 10 พฤศจิกายน 2015 นะครับ และก็ขอเล่าบรรยากาศงานคร่าวๆ และนำเนื้อหาส่วนของ Overview มาอัพเดตกันดังนี้ครับ
ภาพรวมของงาน IBM Power Systems & Storage Technical Roadshow ASEAN
งาน IBM Power Systems & Storage Technical Roadshow ASEAN นี้เป็นงาน Technical Event ที่จัดขึ้นโดยทาง IBM เอง โดยจะมีทีมงานวิศวกรจากในแล็บของ IBM สาขาประเทศสหรัฐอเมริการบินมาอัพเดตเทคโนโลยีกันถึงที่ โดยปกติแล้วงานนี้จะวนจัดตามประเทศต่างๆ และปีนี้ก็วนมาจัดที่ไทย ทำให้เรามีโอกาสได้ไปร่วมกันนั่นเอง
งานสัมมนา IBM Power Systems & Storage Technical Roadshow ASEAN เป็นงานสัมมนาที่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม ซึ่งราคาก็ถือว่าสูงเอาเรื่องเลยครับ โดยตัวงานจะจัดด้วยกัน 2 วัน สำหรับครึ่งวันแรกจะเป็นการอัพเดต Trend ต่างๆ ที่ทาง IBM ได้สรุปมา และเวลาที่เหลือจะแบ่งออกเป็น Session ย่อยๆ ห้องละ 1 เทคโนโลยี โดยจะมีหัวข้อย่อยต่างๆ ให้เข้าไปเลือกฟังได้ตามใจชอบ และมีพักเบรคให้ออกมาพักสมองกันเรื่อยๆ ครับ
สำหรับรอบที่จัดในไทยนี้มีด้วยกัน 3 เทคโนโลยีหลักๆ ได้แก่ IBM AIX, IBM i และ IBM Storage Solution ครับ ซึ่งแต่ละหัวข้อนั้นก็จะลงลึกถึงเรื่องราวเชิงเทคนิคของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ IBM เป็นหลัก โดยผู้ที่เข้าร่วมอบรมจะต้องเซ็นต์ Non-Disclosure Agreement หรือ NDA ด้วยว่าห้ามเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ออกมา ดังนั้นทางทีมงาน TechTalkThai ที่ถึงแม้จะได้เข้าร่วมอบรม แต่ก็คงเขียนเจาะลึกในแต่ละผลิตภัณฑ์เองตรงๆ ไม่ได้ครับ ตัวอย่างเช่น การเกริ่นถึง CPU Generation ถัดๆ ไปจาก POWER8 เป็นต้น แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ทางทีมงานได้เข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ IBM ดังนั้นในอนาคตถ้าหากมีอะไรอัพเดตและเปิดเผยได้ ทางทีมงานก็จะเขียนให้อ่านในเชิงลึกขึ้นได้ครับ
คราวนี้ส่วนที่พอจะเขียนถึงได้โดยไม่ติดเรื่อง NDA ก็จะมีส่วนของ Overview Session ที่ทางทีมงานวิศวกรจาก IBM มาอัพเดตแนวโน้มต่างๆ ซึ่งทางทีมงาน TechTalkThai ก็ขอสรุปเนื้อหาตรงส่วนนี้ให้ได้อ่านกัน ดังนี้ครับ
โลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป ด้วย Unstructured Data ปริมาณมหาศาลที่เราแต่ละคนสร้างขึ้นถึงวันละ 6.75TB ต่อวัน
โลกของเรากำลังจะดำเนินไปถึงจุดที่ทุกๆ นาที เราแต่ละคนจะสร้างข้อมูล Unstructured Data ขึ้นมามากถึงคนละราวๆ 5GB ต่อนาที รวมทั้งสิ้นมากถึง 6.75TB ต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ถือว่าเยอะมาก โดยนิยามของคำว่า Unstructured Data ทีทีมงาน IBM กล่าวถึงนั้นหมายถึงข้อมูลที่ไม่ได้มีการจัดแบ่งฟีลด์ต่างๆ และต้องใช้ความสามารถของมนุษย์หรือการทำ Cognitive Computing ในการอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจและนำมาใช้ประโยชน์
เทคโนโลยี Cognitive จะกลายเป็นทางเลือกหลักในการจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาล
Cognitive Computing คือเทคโนโลยีที่ทำให้ Computer มีความสามารถในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับข้อมูลต่างๆ รวมถึงสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้ โดยแนวโน้มการใช้งานของ Cognitive Computing เองก็กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปัจจุบันมีการใช้งาน Cognitive Computing ดังนี้
- 96% ของธุรกิจประกันมีเป้าหมายที่จะลงทุนในเทคโนโลยี Cognitive
- 94% ของธุรกิจค้าปลีกมีเป้าหมายที่จะลงทุนในเทคโนโลยี Cognitive
- 89% ของธุรกิจสื่อสารเชื่อว่าเทคโนโลยี Cognitive จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
เทคโนโลยี Cognitive จะเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดเพื่อค้นหาความผิดปกติหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นย้อนหลัง, ระบบผู้ช่วยเสมือนที่คอยให้คำแนะนำเรา หรือรถยนต์ที่เรียนรู้สภาวะแวดล้อมรอบตัว และตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ เช่น การเปิดที่ปัดฝนหน้ารถเมื่อฝนตก เป็นต้น
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของการนำเทคโนโลยี Cognitive มาใช้แก้ปัญหาในโลกปัจจุบันก็คือ 35% ของการจราจรทุกวันนี้ คือการมองหาที่จอดรถ สิ่งหนึ่งที่ IBM มองว่าจะสามารถมาช่วยในจุดนี้ได้คือเทคโนโลยี Sensor ที่รวบรวมข้อมูลที่จอดรถต่างๆ ร่วมกับระบบ Cognitive เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่ารถควรจะไปจอดที่ไหน ทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไม่ต้องพะวงหาที่จอดรถด้วยตัวเอง
Cognitive จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงบทบาทของฝ่าย IT ให้กลายเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจขององค์กรได้ และจะกลายเป็นความกดดันใหม่ของฝ่าย IT ที่ต้องมีหน้าที่ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น IoT ที่จะเติบโตถึง 30,000 ล้านอุปกรณ์ภายในปี 2020, การตอบโจทย์ของลูกค้าที่มาชอปปิ้งซึ่งมีความต้องการในการนำเสนอโปรโมชั่นรายบุคคลถึง 48% และการทำธุรกรรมทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่จะทำผ่านอุปกรณ์พกพาที่มากถึง 65% ภายในปี 2018 เป็นต้น
การเติบโตอย่างรวดเร็วของข้อมูล และความเสี่ยงที่เกิดขึ้น คืออีกความกดดันของฝ่าย IT
ในขณะเดียวกัน อีกโจทย์หนึ่งที่ถือว่ากดดันฝ่าย IT ในอนาคตมากๆ ก็คือ การพยายามป้องกันการเกิดค่าใช้จ่ายทาง IT และความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ที่อาจเป็นค่าใช้จ่ายก้อนมหาศาลที่คาดไม่ถึงได้เลยทีเดียว ซึ่งทางฝ่าย IT ต้องเตรียมรับมือเอาไว้ มีดังนี้
- ภายในปี 2018 เราแต่ละคนจะสร้างข้อมูลต่อวันมากถึง 6.75TB
- Data Breach แต่ละครั้งจะสร้างความเสียหายเฉลี่ย 150 ล้านเหรียญในปี 2020
- Downtime แต่ละชั่วโมงจะมีความเสียหายเฉลี่ยมากกว่า 1.6 ล้านเหรียญ
- 75% ของโครงการทางด้าน IT มีแนวโน้มว่าจะล้มเหลว ไม่ว่าจะจากความล่าช้า, การเพิ่มขึ้นของงบประมาณ และปัจจัยอื่นๆ
Hybrid Cloud จะเป็นแพลทฟอร์มหลักสำหรับการสร้างนวัตกรรม และการเชื่อม Mobile มาสู่องค์กร
การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กร หลังจากนี้จะต้องการเทคโนโลยี Hybrid Cloud เข้ามาช่วยตอบโจทย์ ซึ่งตัวอย่างของนวัตกรรมเหล่านั้นมีดังนี้
- ในธุรกิจประกัน จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าแต่ละราย และนำเสนอกรมธรรม์ให้เหมาะสมสำหรับแต่ละคนได้
- ในธุรกิจการเงิน จะมีระบบบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลให้ดีที่สุดอยู่เสมอได้ตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ประเด็นทางสุขภาพ, การงาน และอื่นๆ
จะเห็นได้ว่า Hybrid Cloud จะมีบทบาททางด้านการเพิ่มพลังงานในการประมวลผลให้เพียงพอได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อตอบโจทย์ของธุรกิจ และจากประสบการณ์ของทีมงาน IBM เอง 3 ประเด็นหลักๆ ที่องค์กรต่างๆ จะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้จากการใช้ Hybrid Cloud เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ๆ มีดังนี้
- การประมวลผลร่วมกันระหว่าง Processor และ Data ใน Data Center และ Mobile Device
- การวิเคราะห์ข้อมูลได้ในแบบ Real-time เพื่อช่วยตอบคำถามหรือการตัดสินใจต่างๆ
- การทำนายเหตุการณ์หรือปัญหาต่างๆ ล่วงหน้าสำหรับการทำ IT Operation
การ Integrate ระบบเข้ากับ Mobile Service นี้จะเปลี่ยนวิธีการที่องค์กรจะเข้าถึงลูกค้ารายต่างๆ ได้เป็นอย่างมากผ่านทาง API ที่เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์หรือระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, เว็บไซต์, Sensor, Social Network, Smartphone, Tablet, Internet TV, Application และอื่นๆ ซึ่งแนวโน้มนี้จะเรียกว่า API Economy ขนาดของ Application และปริมาณข้อมูลขององค์กรจะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่ประเด็นทางด้านความปลอดภัยก็จะเป็นอีกหัวใจสำคัญของธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะรวมถึงการเข้ารหัส, การบริหารจัดการ API และการแบ่งแยกกลุ่มของ Workload ออกจากกันเพื่อลดความเสี่ยง
Real-time Analytics จะเกิดขึ้นจาก Hybrid Cloud และ Mobile Integrations
ในขณะที่การทำ Real-time Analytics ก็กำลังเติบโตในทุกๆ อุตสาหกรรม แม้แต่ธุรกิจล้างรถเองก็เริ่มมีการนำ Real-time Analytics เข้าไปใช้บ้างแล้ว โดยการนำข้อมูลสภาพอากาศมาช่วยทำนายจำนวนลูกค้าในแต่ละวัน และในมุมมองของลูกค้าเอง ก็จะมีข้อมูลสภาพอากาศสำหรับตัดสินใจในการล้างรถ และทำให้พฤติกรรมการล้างรถเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เป็นต้น
สำหรับทางด้านเทคโนโลยีสำหรับการทำการตลาด การนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ประมวลผลร่วมกันก็จะสร้างประสบการณ์ส่วนตัวให้แก่ลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข้อมูล Social Network ของลูกค้าเพื่อทำการนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ หรือการตรวจสอบที่อยู่ของลูกค้าและนำเสนอข้อมูลต่างๆ ก็ตาม
องค์กรเองต้องเตรียมตัวสำหรับ Real-time Analytics ด้วยการเตรียมรวบรวมข้อมูลภายในและภายนอกองค์กรสำหรับการประมวลผล, การเตรียม Infrastructure สำหรับรวบรวมข้อมูลและประมวลผล รวมถึงการรักษาความปลอดภัย
การดูแลรักษา IT Infrastructure จะเปลี่ยนไปด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล
ส่วนการทำ Operations for Service Predictability จะมีการ Match Application เข้ากับ Platform, การทำให้มั่นใจว่าสามารถมองเห็นการทำงานของ Internet of Things ได้ และการบริหารจัดการงานต่างๆ ทางด้านระบบเครือข่ายได้จากศูนย์กลาง โดยการออกแบบระบบเพื่อให้รองรับความสามารถเหล่านี้ในค่าใช้จ่ายที่จำกัด รวมถึงการตอบรับความปลอดภัยและประสิทธิภาพได้ในระดับที่ต้องการ ถือเป็นประเด็นสำคัญ โดยการพยายามทำให้ฝ่าย IT สามารถติดตามทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อยู่ตลอด เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้ก่อนที่จะเกิด Downtime ก็เป็นโจทย์ที่องค์กรต้องทำให้ได้
ถัดจากนี้ไป องค์กรจะมีปัจจัยในการแข่งขันกัน 3 ประการ
IBM ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ในยุคที่ข้อมูลและการประมวลผลกลายเป็นหัวใจของธุรกิจนั้น 3 ปัจจัยที่จะทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งได้ มีดังนี้
- Data ข้อมูลสำหรับสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
- Hybrid Cloud แพลทฟอร์มที่จะสร้างความคล่องตัวในการทำงาน
- Open Collaboration หนทางใหม่ในการสร้างนวัตกรรมขององค์กร
การตอบโจทย์ของ IBM เพื่อรับมือกับ 3 ปัจจัยในการแข่งขัน
IBM ได้อัพเดตทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเตรียมให้องค์กรต่างๆ สามารถเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ดังต่อไปนี้
- OpenStack เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เป็นตัวอย่างของ Open Collaboration ที่ดี โดย OpenStack เป็นระบบบริหารจัดการ Cloud และการทำ Automation ซึ่งผู้ผลิตทุกๆ รายต่างก็เข้าไปช่วยกันพัฒนา OpenStack ให้รองรับกับเทคโนโลยีของตัวเอง รวมถึง IBM ด้วย โดย IBM PowerVM NovaLink นั้นก็เป็นตัวเชื่อมให้ OpenStack สามารถบริหารจัดการ PowerVM ได้ ในขณะที่ IBM PowerVC Dynamic Resource Optimizer ก็จะช่วยบริหารจัดการ Workload และ Resource ใน OpenStack ให้คุ้มค่าสูงสุด
- IBM AIX 7.2 มีเทคโนโลยี AIX Live Kernel Update ทำให้ไม่ต้องมี Downtime ในระหว่างอัพเดต Kernel, รองรับการทำ Server side Flash Cache และมีประสิทธิภาพในการทำ Oracle RAC ถึง 40GB RoCE
- IBM PowerHA 7.2 สามารถทำ Failover ได้แบบอัตโนมัติทั้งระดับ System และ Software
- IBM i รองรับ Mobile และ Analytics มากขึ้น โดยรองรับการใช้ DB2 สำหรับงาน Analytics ได้ดีขึ้นและสามารถเชื่อมต่อกับ IBM FlashSystem 900 ได้แบบ Native/VIOS ทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก ในขณะที่ยังมีการรองรับ Application อื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น Java 8, Python, Samba และ node.js รวมถึงมี iAccess Mobile Client สำหรับเชื่อมต่อมายัง IBM i ได้ผ่านอุปกรณ์พกพา
- Power Systems Infrastructure Taliored for SAP HANA เป็นอีกหัวข้อใหญ่ที่ IBM เน้น ด้วยความสามารถของ IBM Power Systems ที่รองรับการทำ In-memory Database ได้เป็นอย่างดี โดยมีรุ่นของ Server ให้เลือกใช้งานได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น S824, E850, E870, E880 โดยรองรับสูงสุดถึง 192 Cores CPU และ 16TB Memory พร้อมฟีเจอร์ในการเพิ่มความทนทานอย่าง Reliability, Availability และ Serviceability (RAS) ในตัวด้วย
- ทำ Hybrid Cloud ด้วย IBM PurePower System IBM PurePower System เป็นระบบ Converged Infrastructure จาก IBM ที่มาเป็นตู้ Rack ซึ่งประกอบด้วย Server, Storage, Network และ Software พร้อมสำหรับการทำ Application ขนาดใหญ่หรือ Private Cloud พร้อมระบบ RAS เสริมความทนทาน
- IBM Power Systems S812LC Server ที่ถูกออกแบบมาสำหรับรองรับ Hadoop และ Spark Workload โดยเฉพาะ
- IBM BigInsights และ IBM Open Platform ระบบ Big Data Analytics จาก IBM ที่สามารถทำงานร่วมกับส่วนประกอบต่างๆ ของ Apache Hadoop ได้ทันที เพื่อให้องค์กรสามารถใช้ Software หรือภาษาโปรแกรมมิ่งที่ถูกออกแบบมาสำหรับการประมวลผลข้อมูล Big Data โดยเฉพาะ สามารถเข้าถึงข้อมูล Big Data เหล่านี้เพื่อทำการวิเคราะห์ได้ง่าย และมีระบบบริหารจัดการที่ตอบโจทย์ได้ในระดับองค์กร
IBM POWER8 Roadmap
รุ่นถัดไปคือ POWER8NV ที่รองรับ EDR Infiniband, CAPI over PCIe Gen3, มี NVLink และรองรับ NVIDIA Pascal ส่วนถัดจากนั้นไปจะเป็นรุ่น POWER9 ซึ่งรองรับ Next Generation Infiniband, NVIDIA Volta และ NVLink ที่ถูกปรับปรุงขึ้นไปอีก
แนวโน้มทางด้านเทคโนโลยี Storage ในอนาคตถัดจากนี้
ในมุมของ Storage นี้เราจะแยกออกเป็นสองประเด็นหลักๆ คือเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูลให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ และการปกป้องข้อมูลไม่ให้สูญหายไป
- ข้อมูลจะเติบโตไปอีก 50% จนไปถึง 6 Trillion TB เฉพาะภายในปีนี้เพียงปีเดียว
- 80% ของข้อมูลจะเป็นแบบ Unstructured Data และเติบโตเร็วกว่า Structured Data ถึง 15 เท่า
- 70% ขององค์กรมีแผนที่จะลงทุนหรือลงทุนระบบ Big Data Analytics ไปแล้ว
- มากกว่า 70% ขององค์กรจะเริ่มใช้ Hybrid Cloud ภายในปี 2015
สิ่งที่องค์กรต้องทำในทุกวันนี้ คือการรักษาสมดุลระหว่างการใช้งานระบบเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยการตอบโจทย์ของการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลให้ได้นั้นถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ โดยมีสถิติที่น่าสนใจจากการสำรวจในองค์กรต่างๆ ดังนี้
- 71% ของ CEO มองว่าความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนี้เป็น External Force ที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรมากที่สุด
- 78% ของ CFO รายงานว่ายังคงมีความกดดันในการควบคุมค่าใช้จ่ายและการเพิ่มความคุ้มค่าภายในองค์กร
- มีเพียง 1 ใน 5 ของลูกค้าเท่านั้นที่สามารถใช้งาน IT Infrastructure ที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า และค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนกับระบบ Storage ที่มากเกินจำเป็น
- 69% ขององค์กรที่สร้างนวัตกรรมด้วย Software นั้นสามารถเอาชนะคู่แข่งที่ไม่ได้สร้างนวัตกรรมมาแข่งขันได้
การบริหารจัดการข้อมูลขององค์กรต้องเปลี่ยนไป เพื่อตอบรับการมาของ Big Data
ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นกับองค์กรที่ทำ Big Data Analytics หรือ Cloud ก็คือการแยก Silo ระหว่างแต่ละระบบออกจากกัน ทำให้แต่ละระบบไม่มีการ Utilize อย่างคุ้มค่าเท่าที่ควร เทคโนโลยีที่ IBM พยายามนำมาใช้แก้ปัญหานี้มีดังนี้
- Agility โดยให้ระบบสามารถทำ Self-tuning เพื่อให้ปรับตัวเองให้เหมาะสมต่อการใช้งานแต่ละรูปแบบได้
- Control มีข้อมูลและการทำ Optimization ทั้งสำหรับ Storage แบบ On-premise และ Cloud ให้มีความปลอดภัย, คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูง
- Efficiency มีการเลือกบันทึกข้อมูลลงสื่อที่เหมาะสมที่สุดและมีการบริหารจัดการโดยอัตโนมัติให้เหมาะสมต่อการใช้งาน และลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 90%
ทั้ง 3 แนวทางนี้ถูกพัฒนารวมอยู่ใน Software Defined Storage และ Flash ของ IBM โดยทาง IBM ก็ยังได้ให้ทางเลือกสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเลือกใช้งาน Storage ของ IBM ได้ในรูปแบบของ Software, Appliance และ Cloud ได้อย่างอิสระ
องค์กรต้องพิจารณาทางเลือกในการจัดเก็บข้อมูลให้ดียิ่งขึ้นกว่าเก่า
มุมมองใหม่ที่จะมีต่อ Storage หลังจากนี้ก็คือผู้ใช้งานจะไม่สนใจอีกต่อไปแล้วว่าข้อมูลถูกจัดเก็บอยู่ที่ใด ตราบใดที่ข้อมูลยังคงเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย, มีประสิทธิภาพสูง, มีความทนทาน และมีความปลอดภัย โดยผู้ใช้งานจะไปมุ่งเน้นต่อกระบวนการในการทำงานแทนมากกว่า ซึ่งก็เป็นจุดที่จะทำให้ Hybrid Cloud สามารถเข้ามาเติมเต็มความต้องการตรงนี้ได้
ทั้งนี้ในการจัดเก็บข้อมูลระดับองค์กรนั้น ความต้องการทางด้านความปลอดภัย, ความทนทาน และการบริหารจัดการนั้นแทบจะไม่แตกต่างกัน แต่จะต่างกันที่รูปแบบของการจัดเก็บข้อมูลและการนำไปใช้สำหรับ Application ที่แตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างเพียงเท่านี้ก็ถือว่ามากพอที่จะทำให้ไม่มีระบบ Storage ใดในโลกที่สามารถตอบได้ทุกโจทย์การใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างครอบคลุมแล้ว รวมถึงแต่ละ Application ก็ไม่ได้ต้องการความสามารถทุกอย่างที่แต่ละระบบ Storage มีด้วย แนวทางของ IBM จึงเป็นการออกแบบระบบ Storage สำหรับตอบโจทย์ความต้องการ Application ที่แตกต่างหลากหลายกันไป และ Data Center ก็ต้องรองรับ Storage ที่มีความหลากหลายด้วย
ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นมาในเทคโนโลยี Storage จากการมาของ Software Defined Storage นี้ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ โดย Software Defined Storage จะช่วยให้ทุกๆ Hardware สามารถให้บริการ Storage ได้อย่างสมบูรณ์ และทำให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกและความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งทาง IBM ก็มี IBM Spectrum Storage ที่ตอบโจทย์ครบทุกภาพสำหรับระบบ Storage ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล, การสำรองข้อมูล, การบริหารจัดการข้อมูล และการทำ Self-Service Storage ภายในองค์กร ซึ่งจะเป็น Trend ใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้
สุดท้ายนี้ ทาง IBM ก็ได้จบ Session Overview ด้วยการเล่าถึง IBM DS8880 ซึ่งเป็นรุ่นที่ 7 ของ DS8000 ที่กำลังจะเปิดตัวในประเทศไทยในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ โดยจะใช้ IBM POWER เป็น Hardware ทำให้มีความทนทานในระดับเดียวกับ IBM Power Systems สำหรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญต่อองค์กรเป็นหลักนั่นเอง
ทั้งนี้ทางทีมงาน TechTalkThai ก็ต้องขอขอบคุณทาง IBM Thailand อีกครั้งสำหรับโอกาสในการเข้าไปอัพเดตเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้อีกครั้งนะครับ