ถือเป็นงานวิจัยที่พิศดารไม่น้อยเมื่อนักวิจัยจาก 4 มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกันคิดค้นวิธีการอ่านเนื้อหาในหน้าจอได้ด้วยการรับสัญญาณเสียงจากหน้าจอผ่านทาง Microphone ได้แบบ Real-time ซึ่งอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการสอดแนมหรือขโมยข้อมูลจากระยะไกลได้
แนวคิดของงานวิจัยนี้คือโดยทั่วไปแล้วจอ LCD นั้นจะมีการส่งเสียงออกมา และเสียงนั้นๆ ก็จะแตกต่างกันออกไปตามภาพที่แสดง ซึ่งเสียงเหล่านี้เป็นเสียงที่หูของมนุษย์ไม่ได้ยิน ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นหาความสัมพันธ์ระหว่างเสียงที่เกิดขึ้นจากหน้าจอและภาพที่แสดง โดยใช้ Microphone ซึ่งได้ยินเสียงที่เกิดขึ้นจากหน้าจอ
อย่างไรก็ดี หากวิธีนี้จะถูกนำไปใช้โจมตีจริงๆ ผู้โจมตีก็ต้องทำการศึกษารูปแบบของเสียงที่เกิดขึ้นจากภาพที่แสดงขึ้นมาเสียก่อน เพื่อให้สามารถทราบได้จากเสียงว่าหน้าจอของผู้ใช้งานกำลังแสดงอะไรอยู่ และต้องควบคุมสภาพแวดล้อมของเป้าหมายให้ดีไม่ให้มีเสียงรบกวนด้วย
ทีมวิจัยได้นำเว็บไซต์ 97 แห่งมาทำการเรียนรู้เสียงที่เกิดขึ้นจากหน้าจอ และสร้างเป็น Fingerprint เพื่อใช้ในการทดสอบ และพบว่ามีความแม่นยำถึง 84% – 97% แล้วแต่ระยะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการโจมตี รวมถึงยังสามารถทดสอบการวิเคราะห์ข้อความที่แสดงบนหน้าจอได้สำเร็จด้วยสำหรับกรณีที่ตัวอักษรมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งความแม่นยำของการตรวจจับตัวอักษรที่แสดงบนหน้าจอนี้ก็สูงถึง 88% – 98% เลยทีเดียว และระยะไกลสุดที่สามารถโจมตีได้คือการใช้ Parabolic Microphone ดักฟังเสียงหน้าจอจากระยะ 10 เมตร
ทีมวิจัยยังระบุด้วยว่าการโจมตีนี้ถือว่าอันตรายมากเพราะสามารถพลิกแพลงได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องเจาะช่องโหว่ของเหยื่อ และการเข้ารหัสข้อมูลก็ไม่สามารถป้องกันการโจมตีด้วยเทคนิคนี้ได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการโจมตีช่องโหว่หรือหาโอกาสในการดักฟังเสียงของเหยื่อผ่านทาง Application ต่างๆ ได้
ก็ถือเป็นการโจมตี Side Channel Attack ที่น่าสนใจทีเดียว สำหรับเอกสารงานวิจัย สามารถอ่านได้ที่ https://www.cs.tau.ac.il/~tromer/synesthesia/synesthesia.pdf ครับ