Oracle ประกาศเปิดตัว Java 9 และ Java EE 8 แล้วอย่างเป็นทางการ กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ดังนี้

Java 9 ประกาศปรับโครงสร้างของสถาปัตยกรรมให้เป็นแบบ Modularity มากขึ้น เพื่อให้นักพัฒนาสามารถตัดให้แต่ละโครงการมีขนาดเล็กลง ดูแลง่ายขึ้น ประสิทธิภาพดีขึ้น มั่นคงปลอดภัยขึ้น และใช้งานกับอุปกรณ์ขนาดเล็กได้ดีขึ้น รวมถึงมีการปรับระบบ Complier ให้ทำการ Compile แบบ Ahead-of-Time (AoT) แปลง Java Class เป็น Native Code เพื่อเพิ่มความเร็วในการทำงานได้ รวมถึงยังมีเครื่องมือ Read-Eval-Print Loop (REPL) ให้ใช้แล้วภายใต้ชื่อ jShell เอาไว้ทดสอบการทำงานของโค้ดบางส่วนได้โดยไม่ต้อง Compile ก่อนเสมอไป
นอกจากนั้นใน Java 9 เองก็ยังรองรับให้มีการแบ่ง Code Cache ออกเป็น Segment เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทำ Fine-grained Locking ได้, ปรับ JavaScript Runtime ใน Java ให้ดีขึ้น, มี HTTP/2 Client API ให้ใช้แบบ Beta, ปรับปรุง HTML5 และการรองรับ Unicode, เพิ่ม DTLS Security API โดยสิ่งที่ถูกตัดออกไปนั้นคือ Applet API, appletviewer, Concurrent Mark Sweep, การเลือก JRE ผ่านทาง mJRE, JVM TI hprof
ทั้งนี้ Java 9 ไม่ใช่รุ่น Long-Term Support (LTS) โดยจะมี Java 18.3 ออกมาในเดือนมีนาคม 2018 เป็นรุ่นใหม่ ในขณะที่ Java 18.9 ในเดือนกันยายน 2018 เป็นรุ่น LTS ถัดไปแทน
ทางด้าน Java EE8 นั้นถูกชูประเด็นเรื่องการรองรับ HTML5 และ HTTP/2 เป็นหลัก รวมถึงยังรองรับการทำงานบน Cloud ได้ดีขึ้น, รองรับ JSON-B สำหรับแปลง Java Object เป็น JSON ได้, ปรับปรุง JSON-P, อัปเดต JAX-RS เป็นรุ่น 2.1, รองรับ HTTP/2 ใน Servlet, เพิ่ม Java EE Security API ให้รองรับ Cloud และ PaaS, อัปเดต Bean Validation เป็นรุ่น 2.0, อัปเดต Java Server Faces เป็นรุ่น 2.3 และอัปเดต CDI เป็นรุ่น 2.0 รองรับการทำ Asynchronous Event ได้
ปีหน้า Oracle จะออก Java EE 9 มาให้ใช้งานกันด้วย
ที่มา: https://www.infoworld.com/article/3227244/java/java-9-is-here-everything-you-need-to-know.html, https://www.infoworld.com/article/3226777/java/java-ee-8-is-here-what-you-need-to-know.html