[NCSA THNCW 2023] NIST Cybersecurity Framework in Practice โดย Huawei

หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั่วโลกได้ส่งผลให้องค์กรล้วนดำเนินการ Digital Transformation กันอย่างเร่งรีบ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) อาจจะเป็นสิ่งที่หลายองค์กรให้คำสำคัญกับเรื่องนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งนี้อาจส่งผลให้องค์กรธุรกิจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยคุกคามได้ในหลากหลายรูปแบบจนอาจเกิดความเสียหายให้กับองค์กรได้อย่างมหาศาล

เหตุนี้เอง สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Standards and Technology) หรือที่รู้จักกันในนาม NIST จึงได้กำหนดเฟรมเวิร์ก (Framework) ในด้านความมั่นคงปลอดภัยออกมาเป็น “NIST Cybersecurity Framework” เพื่อให้เป็นมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติสำหรับทุกองค์กรธุรกิจในการลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งภายใน NIST Cybersecurity Framework นั้นมีกรอบแนวคิดอะไรบ้าง และ Huawei Cloud ผู้ให้บริการ Cloud ชั้นนำระดับโลกนั้นช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

ความท้าทายของ Cybersecurity ในโลกดิจิทัล

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านได้มีวิวัฒนาการมากมายในหลาย ๆ ด้านทั่วโลก จนทำให้การใช้ชีวิตในปัจจุบันและในโลกดิจิทัลนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น

  • ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยเทรนด์ Digital Transformation ได้ส่งผลให้สถาปัตยกรรมของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย เช่น การใช้งาน Cloud หรือ SaaS 
  • Work From Anywhere การทำงานในหลังยุค COVID-19 ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่ออฟฟิศอีกต่อไป โดยอาจทำงานจากที่บ้านหรือร้านกาแฟผ่านการรีโมท (Remote) เข้าไปที่เครือข่ายองค์กรมากขึ้น
  • Bring Your Own Device (BYOD) การใช้เครื่องอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงานในการทำงานมากขึ้น สืบเนื่องมาจากเทรนด์ Hybrid Work หรือ Work From Home 
  • Phishing และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงเพื่อเอาข้อมูลส่วนบุคคลด้วยจิตวิทยาเพื่อนำไปใช้โจมตีในขั้นตอนถัด ๆ ไป ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ 

การขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ คนทำงานด้าน Cybersecurity ที่มีจำนวนน้อย เนื่องจากต้องมีความรู้ทั้งเรื่อง Security และ Application อย่างครอบคลุม

สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ทั้งโลกมีความท้าทายในการรักษา Cybersecurity มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยช่องโหว่รูปแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเรื่อง Cybersecurity เพื่อปกป้องระบบ บริการ และข้อมูลอันเป็นสินทรัพย์ขององค์กรไม่ให้ถูกโจมตีหรือรั่วไหลออกไป พร้อมทั้งเสริมความรู้ให้กับบุคคลากรให้รู้เท่าทันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก นั่นคือ NIST Cybersecurity Framework

NIST Cybersecurity Framework แนวทางปฏิบัติยอดนิยมระดับโลก

NIST Cybersecurity Framework” คือเฟรมเวิร์กที่กำหนดแนวทางปฏิบัติ (Pratices) เป็นมาตรฐานด้าน Cybersecurity ที่แนะนำให้กับทุกองค์กร ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์กที่ออกโดยสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Standards and Technology) หรือ NIST โดยเฟรมเวิร์กนี้ได้เริ่มต้นใช้งานในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2014 ในเวอร์ชัน 1.0 ก่อนที่จะเริ่มกลายเป็นที่นิยมระดับโลกในเวลาต่อมา ซึ่งปัจจุบัน NIST Cybersecurity Framework เวอร์ชันล่าสุดคือเวอร์ชัน 1.1 ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 16 เมษายน 2018

เป้าหมายของ NIST Cybersecurity Framework คือต้องการให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความยืดหยุ่น (Resilience) ให้กับองค์กรได้ดีขึ้น ไม่ว่าองค์กรจะมีขนาดเล็กกลางหรือว่าใหญ่ก็ล้วนสามารถดำเนินการตาม NIST Cybersecurity Framework ได้ทั้งสิ้น และที่สำคัญคือ “ต้องทำอย่างต่อเนื่อง” ไม่ใช่การทำครั้งเดียวแล้วจบ เพราะเรื่องของ Cybersecurity เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตามวิวัฒนาการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

5 ฟังก์ชันแกนหลักใน NIST Cybersecurity Framework

แม้ว่า NIST Cybersecurity Framework จะเปลี่ยนเป็นเวอร์ชัน 1.1 แล้ว แต่ฟังก์ชันแกนหลักก็ยังคงเป็น 5 ด้านนี้ ได้แก่

  • Identify การสร้างความเข้าใจในองค์กรว่ามีสินทรัพย์ (Asset) หรือกระบวนการ (Process) อะไรอยู่บ้าง พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญตามลำดับความเสี่ยง เพื่อให้มีรายละเอียดครบถ้วนว่าองค์กรจะต้องปกป้องอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน และอะไรสำคัญที่สุด เช่น การสร้างระบบ Asset Management การทำ Governance และ Risk Management
  • Protect การสร้างระบบที่ช่วยปกป้อง Asset หรือ Process เหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอและเหมาะสม ซึ่งองค์กรต้องเตรียมระบบให้พร้อมใช้งานเพื่อปกป้องระบบองค์กรอยู่เสมอ เช่น การปรับใช้ระบบ Access Control, Identity Management 
  • Detect การสร้างแนวทางการตรวจจับเหตุการณ์ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีระบบใช้งานแล้วแต่ความสามารถในการระบุ (Identify) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นภัยคุกคามจริง ๆ ได้อย่างฉับไวคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
  • Respond การสร้างแนวทางแผนการตอบสนองต่อแต่ละการโจมตีได้อย่างฉับไว นอกจากองค์กรจะต้องสามารถกระชับพื้นที่ (Contain) ความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ยังต้องเตรียมการสื่อสารต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไว้แล้วล่วงหน้า และแนวทางในการบรรเทาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและแก้ไขได้ทันที
  • Recover การสร้างแนวทางหรือแผนการกู้คืนสิ่งต่าง ๆ หลังจากถูกภัยคุกคามโจมตี เพื่อทำให้ทุกอย่างกลับมาสู่สถานการณ์ปกติให้ได้เร็วที่สุด พร้อมทั้งการสื่อสารหลังจากแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เสร็จสิ้น

นอกจากนี้ ในแต่ละด้านของ NIST Cybersecurity Framework นั้นจะมีรายละเอียดแยกย่อยเป็น Category และ Subcategory โดยมีทั้งหมดรวม 108 ข้อที่ NIST กำหนดไว้เป็นมาตรฐานแนวทางปฏิบัติ ซึ่งคุณสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ Country Cyber Security & Privacy Officer แห่ง Huawei Technologies (Thailand) เน้นย้ำชัดเจนว่าเฟรมเวิร์กนี้เป็นการ “ช่วยจัดการความเสี่ยงเท่านั้น และองค์กรไม่จำเป็นต้องทำทุกข้อครบทั้งหมด” โดยจะขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่องค์กรประเมินไว้ และเลือกปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมซึ่งถ้าองค์กรเสี่ยงมากก็อาจทำมากข้อหน่อย เป็นต้น

Huawei Cloud ครอบคลุมทั้ง 5 ด้านใน NIST

สำหรับองค์กรที่ต้องการดำเนินตาม NIST Cybersecurity Framework ได้อย่างรวดเร็ว ภายใน Huawei Cloud ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Cloud ระดับโลกนั้นได้ดำเนินการ (Comply) ตามทั้ง 5 ด้านของเฟรมเวิร์กเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในแต่ละด้าน Huawei Cloud จะมีระบบสนับสนุน เช่น ระบบ Web Application Firewall (WAF) ที่เหนือกว่า Firewall ทั่วไปช่วยป้องกันการโจมตีใน Layer 7 ได้ ระบบ Situation Awareness (SA) ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เข้ามาให้อัตโนมัติ หรือระบบ Data Encryption Workshop (DEW) ที่จัดการเข้ารหัสข้อมูลในฐานข้อมูล เป็นต้น ซึ่งระบบต่าง ๆ ได้สนับสนุนให้องค์กรมี Security ที่มั่นใจมากกว่าเดิม อีกทั้ง Huawei Cloud ยังได้รับใบรับรอง (Certification) จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกมากมาย ดังนั้น ผู้ที่ใช้งานมั่นใจในเรื่อง Cybersecurity ของ Huawei Cloud ได้เลย

บทส่งท้าย

“ผมเชื่อว่าบริษัททั่วโลกมีอยู่ 2 แบบ คือบริษัทที่โดนแฮ็กกับบริษัทที่ยังไม่โดนแฮ็ก” คุณสุรชัยกล่าว “ยังไงก็โดนแฮ็กแน่นอน แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้องค์กรเกิดสภาวะ Cyber Resilience เสมือนตุ๊กตาล้มลุก ที่จะสามารถกลับมาสู่สภาวะปกติให้ได้เร็วที่สุด” ดังนั้น ทุกองค์กรจึงควรพิจารณาปรับใช้แนวทางปฏิบัติ NIST Cybersecurity Framework เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและทำให้มั่นใจในเรื่อง Cybersecurty ขององค์กรได้มากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อม รับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา

สำหรับผู้ที่สนใจเซสชัน “NIST Cybersecurity Framework in Practice” บรรยายโดยคุณสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ Country Cyber Security & Privacy Officer แห่ง Huawei Technologies (Thailand) จากงาน Thailand National Cyber Week 2023 สามารถฟังย้อนหลังได้ที่นี่


About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

เอเซอร์เปิดตัว Swift Edge 16 รุ่นใหม่ มาพร้อมโปรเซสเซอร์ AMD RyzenTM 7040 และ Wi-Fi 7 [Guest Post]

ไทเป (26 พฤษภาคม 2566) – บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด เปิดตัวโน้ตบุ๊ก Acer Swift Edge 16 (SFE16-43) …

เอเซอร์เปิดตัว Eco-Friendly Wi-Fi 6E Mesh Router ตัวแรกที่ผลิตจากวัสดุพลาสติก PCR [Guest Post]

Acer Connect Vero W6M ความเร็วสูงสุด 7.8 Gbps ส่งสัญญาณtri-band ความเร็ว AXE7800 ผลิตจากพลาสติก PCR30% พร้อม ECO mode …