ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมะฑัต วิภาตะวนิช รองคณะบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ได้ออกมาเผยถึงวิสัยทัศน์ของคณะวิศวฯ ในการพัฒนาระบบ Private Cloud เพื่อใช้ภายในองค์กร และรองรับการต่อยอดเพื่อผสานองค์ความรู้ระหว่างภาควิชาและคณะต่างๆ ได้มากขึ้น มุ่งสร้างบุคลากรตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ให้ได้ในบทบาทของมหาวิทยาลัย ทางทีมงาน TechTalkThai จึงขอนำมาสรุปให้ได้อ่านกันดังนี้ครับ
เทคโนโลยีกลายเป็นหัวใจของทุกธุรกิจ การเปิดให้อาจารย์และนักศึกษาเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้จึงกลายเป็นประเด็นที่สำคัญขึ้นมาเป็นอย่างมาก
ด้วยการที่เทคโนโลยีนั้นจะกลายเป็นศูนย์กลางของทุกๆ ธุรกิจแห่งอนาคตในแทบทุกสาย ทุกคณะในมหาวิทยาลัยจึงต้องเริ่มปรับตัวเพื่อเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้มากขึ้น และสามารถสร้างหรือพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมาให้ได้ การทำให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้มากที่สุดจึงกลายเป็นหนทางในการเตรียมความพร้อมสู่ประเทศไทย 4.0 ได้เป็นอย่างดี
ด้วยแนวคิดนี้ ทำให้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เตรียมวางแผนมาเป็นระยะเวลานานในการวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน IT เพื่อให้เหล่าอาจารย์และนักศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว ตั้งแต่การวางระบบเครือข่ายเชื่อมต่อระหว่างอาคารด้วยความเร็วระดับ 10-20Gbps, การให้บริการระบบเครือข่ายไร้สาย จนในที่สุดก็ก้าวมาสู่การพัฒนาระบบ Private Cloud เพื่อให้บริการเครื่องแม่ข่ายสำหรับใช้ในการเรียนการสอน, การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกันได้อย่างอิสระ ทั้งสำหรับภายในคณะวิศวฯ เองและคณะอื่นๆ ด้วยก็ตาม
อีกประเด็นสำคัญที่ทางคณะวิศวฯ ม.เกษตรให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ก็คือประเด็นของลิขสิทธิ์การใช้งาน Software ที่ถูกผลักดันให้กลายเป็นการซื้อลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องมาเพื่อให้บริการ และมีระบบในการส่งลิขสิทธิ์ให้ผู้ที่ต้องการใช้งานสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องด้วยนั่นเอง
เปลี่ยนมุมมอง จาก IT ที่เป็นเทคโนโลยี ให้กลายเป็นบริการแทน Cloud จึงกลายเป็นหนทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เพื่อตอบสนองต่อบทบาทของระบบ IT ที่จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต รูปแบบการจัดซื้อและดูแลรักษาระบบ IT ของทางคณะก็ได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องมีการดูแลรักษาด้วยตัวเองทั้งหมด ก็มีการทำ Maintenance กับผู้ผลิตและผู้ให้บริการรายต่างๆ เพื่อ Outsource ภาระหน้าที่ตรงนี้ออกไป ทำให้ทางคณะสามารถมุ่งเน้นไปที่การวางนโยบายเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้เสริมในด้านการศึกษาให้ดีขึ้นได้ เพื่อให้การสนับสนุนอาจารย์และนักศึกษาสู่ยุคประเทศไทย 4.0 และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาให้ได้ แทนที่จะต้องเสียเวลามาคอยดูแลรักษาเอง
ในมุมของการจัดซื้อและจัดหาระบบ IT ให้กับอาจารย์และนักศึกษารายต่างๆ เองก็ถูกเปลี่ยนรูปแบบให้กลายเป็นบริการด้วยเช่นกัน การจัดทำระบบ Private Cloud ขึ้นมาครั้งนี้จึงถือเป็นหัวใจสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะทำให้งานวิจัยหรือการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ ที่ต้องการระบบแม่ข่ายเพื่อใช้งาน Software ต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยืดหยุ่น โดยเฉพาะเมื่องบสนับสนุนงานวิจัยได้ตัดส่วนของการลงทุนทางด้าน IT ออกไปหมดแล้ว
ปัจจุบันทางคณะได้เริ่มสร้างบริการ Cloud ในลักษณะของ IaaS และ PaaS ขึ้นมาแล้วด้วย Nutanix จำนวน 7 Node พร้อม Nutanix AHV ระบบ Hypervisor และ Nutanix Prism ระบบบริหารจัดการที่พร้อมสำหรับการทำ Software-defined Data Center (SDDC) ได้เลยในตัว อีกทั้งยังสามารถแยกระบบเพื่อแบ่งทรัพยากรสำหรับทำ Production และ Testing ได้ โดยในอนาคตก็มีแผนที่จะทำ SaaS ด้วยการนำเทคโนโลยี VDI มาใช้ต่อยอดบนระบบ Cloud เหล่านี้ เพื่อให้บริการ Virtual Desktop พร้อมๆ กับ Software ให้ผู้ใช้งานได้เลย แนวทางนี้จะช่วยให้การทำ Consolidation ภายในองค์กรเป็นจริงขึ้นมาได้ และช่วยให้การบริหารจัดการระบบต่างๆ เป็นไปได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้นในระยะยาว พร้อมกับช่วยลดความซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในการลงทุน
แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนกลยุทธ์มาในลักษณะนี้ ก็ทำให้การต่อ MA ของเทคโนโลยีต่างๆ ที่เคยลงทุนมาถือเป็นสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้อีกเลยในการลงทุนแต่ละปี ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมงบประมาณในส่วนนี้เอาไว้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ ก็ต้องมองถึงการดูแลรักษาในระยะยาวให้ได้มากขึ้น ดังนั้นการเลือกใช้งานเทคโนโลยีที่ดูแลรักษายาก และต้องใช้ทักษะสูงอย่างระบบ Open Source จึงต้องถูกพิจารณามากขึ้นในอนาคต
Private Cloud ภายในมหาวิทยาลัย จะกลายเป็นศูนย์กลางของการสร้างนวัตกรรมด้วยการนำศาสตร์หลายด้านมาผสานกัน
ทางคณะวิศวฯ มองว่าการสร้างนวัตกรรมสำหรับยุคประเทศไทย 4.0 นี้ ต้องอาศัยการผสานองค์ความรู้จากหลายๆ สายมารวมกัน แต่ส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้แน่ๆ ในแทบทุกโครงการก็คือการพัฒนาระบบ Application ดังนั้นระบบ Private Cloud ภายในมหาวิทยาลัยในลักษณะนี้จึงจะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่จะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีการลงทุนซ้ำซ้อนเรื่อยๆ และด้วยการที่ทางคณะวิศวฯ เองมีระบบ Private Cloud ให้ใช้งานนี้ก็ทำให้สามารถเกิดการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ 4 รูปแบบ
- ทำให้นักศึกษาภายในคณะวิศวฯ ไม่ว่าจะภาคใดก็ตาม สามารถใช้หัดพัฒนา Application เองได้
- ทำให้นักศึกษาและอาจารย์ภายในคณะ สามารถใช้ทรัพยากรเพื่องานวิจัยได้ ซึ่งงานวิจัยในฝั่ง Simulation, AI และ Big Data จะเติบโตเป็นอย่างมากในอนาคต
- ทำให้นักศึกษาและอาจารย์ระหว่างภาควิชาภายในคณะวิศวฯ สามารถร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้
- ทำให้นักศึกษาและอาจารย์ระหว่างคณะวิศวฯ และคณะอื่นๆ สามารถร่วมมือกันเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทั้งเหล่าคณาจารย์และนักศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สามารถติดต่อเพื่อขอใช้ทรัพยากรบนระบบ Private Cloud นี้ได้ทันที
เผยอนาคต อยากให้นักศึกษาเลือกเรียนในวิชาที่ตนเองอยากเรียนได้เลย ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยความเป็นภาควิชาอีกต่อไป
แนวคิดหนึ่งที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังพูดคุยกันอยู่ถึงความเป็นไปได้ในอนาคต คือการเปิดให้นักศึกษาสามารถเข้ามาเรียนได้โดยไม่ต้องเลือกภาควิชา แล้วใช้วิธีการว่าให้เลือกเรียนในวิชาที่ต้องการเอาเอง จนตอนเรียนจบค่อยนำหน่วยกิตต่างๆ มาดูว่าจะได้วุฒิของภาควิชาใดบ้าง แทนที่จะต้องเลือกภาควิชามาแต่แรกเลย
แนวคิดนี้ถูกนำมาพูดคุยเนื่องจากแนวโน้มในอนาคตนั้น ทางคณะมองว่าบุคลากรในอนาคตนั้นจะต้องมีความรู้ในศาสตร์ต่างๆ มากกว่า 1 ด้าน ไม่เช่นนั้นอาจไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นลักษณะนี้แทนก็ทำให้นักศึกษา 1 คนสามารถเลือกเรียนเนื้อหาจากหลากหลายภาควิชาได้ในระหว่างการศึกษา รวมถึงยังจะทำให้นักศึกษารู้กันระหว่างภาควิชากันมากขึ้น เกิดโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้นไปด้วยในตัว
ก็ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อยครับ กับการขยับตัวของภาคการศึกษาไทยในการรับมือกับยุคสมัยของประเทศไทย 4.0