Kaspersky Lab ผู้ให้บริการโซลูชัน Endpoint Protection ชื่อดังประกาศเปิดตัวระบบปฏิบัติการที่สามารถป้องกันการแฮ็คได้ (Hack-proof Operating System) ชื่อว่า Kaspersky OS ซึ่งใช้เวลาพัฒนานานกว่า 14 ปี
Kaspersky OS ไม่ได้ดัดแปลงมาจากระบบปฏิบัติการ Linux แต่เป็นการพัฒนาเริ่มต้นจากศูนย์โดยใช้สถาปัตยกรรมแบบ Microkernel โดย Kaspersky Lab ติดตั้งระบบปฏิบัติการนี้ครั้งแรกลงบน Kraftway Layer 3 Switch ซึ่งเป็น Switch ที่ถูกออกแบบมาสำหรับระบบที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลสูง เช่น ใช้งานในระบบ Critical Infrastructure หรือใช้งานกับอุปกรณ์ Internet of Things
“ทุกระบบปฏิบัติการยอดนิยมไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยตั้งเป้าเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไว้ในใจ จึงเป็นเรื่องง่ายกว่าและปลอดภัยกว่าที่จะเริ่มต้นจากฐานล่างสุด และทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เหมือนกับสิ่งที่พวกเราทำ” — Kaspersky Lab ระบุ
ความแตกต่างระหว่าง Kaspersky OS กับระบบปฏิบัติการอื่นๆ คือ การมีระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอยู่ภายใน ซึ่งสามารถควบคุมพฤติกรรมของแอพพลิเคชันและโมดูลของระบบปฏิบัติการได้ Kaspersky Lab อ้างว่า Kaspersky OS เป็นระบบปฏิบัติการที่ไม่สามารถแฮ็คได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากแฮ็คเกอร์จำเป็นต้องแคร็ก Digital Signature ของเจ้าของบัญชีให้ได้ก่อนจึงจะสามารถทำ Unauthorized Access ได้ ซึ่งการแคร็กดังกล่าวอาจต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ควอนตัมเพียงวิธีเดียว
Kaspersky Lab ระบุว่า เหตุการณ์การโจมตีแบบ DDoS ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่มีสาเหตุมาจาก Mirai IoT Botnet ไม่ว่าจะเป็นกรณี KrebsOnSecurity.com, OVH หรือ Dyn DNS ทาง Kaspersky Lab การันตีได้ว่า Kaspersky OS สามารถปกป้องอุปกรณ์ IoT เหล่านั้น รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมระบบ Critical Infrastructure เช่น SCADA หรือ ICS จากภัยคุกคามไซเบอร์ได้ทั้งหมด
“การสร้างอุปกรณ์ IoT หรือ Infrastructure จากจุดเร่ิมต้นด้วยวิธีที่การแฮ็คอุปกรณ์เหล่านั้นไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัตินั้นดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ตาม อันที่จริง นั่นเป็นเป้าหมายพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของ Kaspersky OS” — Kaspersky ระบุ
ที่มาและเครดิตรูปภาพ: http://thehackernews.com/2016/11/kaspersky-operating-system.html