ท่ามกลางกระแสเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเว็บที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที ในปัจจุบันจึงมีแนวคิดสร้างเว็บไซต์แบบใหม่ที่ชื่อ Decentralised Web (DWeb) โดยคาดหวังเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานจากบริษัทยักษ์อย่าง Google, Facebook หรือหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งมีการจัดประชุมที่ชื่อ Decentrlised Web Summit ในวันที่ 31 กรกฏาคมถึง 2 สิงหาคมที่ผ่านมา
ปัจจุบันการใช้งานเว็บไซต์มีโครงสร้างแบบ Centralised ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่สามารถทำตัวเป็น Censorship เพื่อใช้งานข้อมูลการใช้งานของเราเพื่อประโยชน์ด้านโฆษณาหรืออื่นๆ ได้ จึงมีผู้ให้กำเนิดแนวคิดที่เรียกว่า DWeb ที่มีจุดประสงค์ 2 อย่างหลัก คือ ปกป้องความเป็นส่วนตัวและเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลที่จะส่งออกได้ นอกจากนี้หากส่วนหนึ่งของระบบมีปัญหาข้อมูลก็ไม่ได้หายไปทั้งหมดเหมือนระบบ Centralised แบบปัจจุบันอีกด้วย
ความแตกต่างของ DWeb กับ World Wide Web แบบเดิม มี 2 ส่วนหลักคือ การเชื่อมต่อแบบ Peer-to-Peer (ทราบกันดีอยู่แล้วเหมือนโหลดบิตคือคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ขอบริการและให้บริการ) และวิธีการเก็บและได้รับข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น WWW ใช้ลิงก์เพื่อชี้ไปยังข้อมูลบนเว็บไซต์ว่าจะสามารถได้รับข้อมูลจากที่ไหนผ่านทาง Http แต่โปรโตคอลของ DWeb จะใช้ลิงก์เพื่อระบุข้อมูลตามเนื้อหาภายในว่าคืออะไรซึ่งตรงนี้เองจะช่วยให้การเก็บและส่งเนื้อหาของเว็บไซต์หรือไฟล์ระหว่างคอมพิวเตอร์เป็นไปได้หลายทางไม่ใช่แค่จากคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว
เทคโนโลยี Blockchain ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังของ DWeb ในส่วนของการย้ายข้อมูล ลงทะเบียนชื่อผู้ใช้งานที่ไม่ซ้ำกัน และการเก็บข้อมูล เช่น Protocol Labs ได้ปล่อย Filecoin ที่ทำให้เกิด Decentralised Data Storage คือถ้าใครมีพื้นที่ว่างเหลือก็สามารถนำมาปล่อยเก็บข้อมูลอย่างอื่นและจะได้รับ Filecoin ไปและเราสามารถไปซื้อพื้นที่ของคนอื่นด้วย Filecoin ได้ด้วยโดยทั้งหมดนี้จะมีการบันทึกข้อมูลบนระบบ Blockchain นั่นเอง
อย่างไรก็ตามจากคำบอกเล่าของผู้ที่เกี่ยวข้องคือการใช้งานไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักเพียงแต่ผู้ใช้จะสามารถตอบสนองสิ่งต่างๆ ได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเช่นอยากฟังเพลงบน DWeb ก็จ่าย Coin เพื่อแลกเปลี่ยนก่อนฟังเท่านั้นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะป้องกันธุรกิจการโฆษณาที่เอาข้อมูลของเรามาใช้ในปัจจุบัน อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือจะลดการใช้งานรหัสผ่านจำนวนมากเพราะว่าบน DWeb เราต้องมีตัวตนที่ไม่ซ้ำกันและมั่นคงปลอดภัยพอเพื่อเชื่อมต่อกับแอปพิลเคชัน DWeb แต่หากสูญเสียตัวตนนั้นเราก็จะเข้าถึงอะไรไม่ได้เลย (เหมือนจำบัญชี Bitcoin ไม่ได้ก็กู้คืนไม่ได้)
ความท้าทายและปัญหาที่ตามมา
-
เทคนิคในการสร้าง DWeb นั้นค่อนข้างยากและซับซ้อนเพราะข้อมูลไม่ได้อยู่บนที่เดียวอีกต่อไป
-
แอปพลิเคชันปัจจุบันที่ใช้งาน DWeb ที่เกิดขึ้นตอนนี้ยังไม่เข้าถึงผู้ใช้งานเพราะใช้ได้ยากจึงต้องพัฒนาต่ออีกเยอะ
-
เมื่อไม่มีผู้รับผิดชอบควบคุมหลักอาจจะทำให้เกิดกรณี การข่มขู่ทางออนไลน์หรือถ้อยคำรุนแรงหรือเนื้อหาไม่เหมาะสมตามมา เช่น เดียวกับที่ Bitcoin กลายเป็นเครื่องมือของผู้ร้ายเรียกค่าไถ่ หรือ คนไม่ดีที่จะใช้ช่องทางนี้ในการเคลื่อนไหวเผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสม
-
ต้องมีวิธีหรือมาตรการป้องกันเพื่อให้แน่ใจว่าระบบจะไม่หวนกับสู่การเป็น Centralised อีกครั้งหากมีบริษัทหรือใครก็ตามที่หวังหาช่องทางทำเงินอีก
แม้ว่า DWeb ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่เพื่อพิสูจน์ตัวเองและผู้ร่วมพัฒนาทั้งหลายต้องหาวิธีการแก้ปัญหากันอีกมาก แต่ใครที่สนใจใช้งานแอปพลิเคชันที่สร้างจากแนวคิดนี้ก็มีแอปหลายตัวให้ไปลองได้เช่น OpenBazaar (Decentralised Marketplace), Graphite Docs (ทางเลือกหนึ่งของ Google Document), Textile Photos (เหมือน IG บน DWeb), Matrix (เหมือน Slack และ Whatsapp), DTube (YouTube), Akasha และ Diaspora (เป็นกลุ่ม Social Network), และ Beaker Browser เป็นต้น