เมื่อสิ้นปี 2015 นั้น ยังมีประชากรบนโลกกว่า 4,000 ล้านคนที่ไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ในขณะที่ประชากรทั่วโลก 10% นั้นอยู่อาศัยในบริเวณที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ด้วยซ้ำ Facebook จึงได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ในโครงการ OpenCellular ที่ออกแบบและเผยแพร่ Hardware และ Software สำหรับการสร้างโครงข่ายสัญญาณโทรศัพท์ตั้งแต่ 2G จนถึง LTE และ Wi-Fi เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านี้มีราคาถูกลง และช่วยให้ผู้บริการในหลายๆ ประเทศสามารถให้บริการสัญญาณระบบเครือข่ายเหล่านี้ไปได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
โครงการ OpenCellular นี้ไม่เพียงแต่จะออกแบบเพียงแค่ Hardware สำหรับระบบ Cellular Network เท่านั้น แต่ Facebook ยังคิดเผื่อไปถึงการออกแบบเพื่อลดต้นทุนการตั้งเสาจ่ายสัญญาณ, การรักษาความปลอดภัย, การจ่ายพลังงาน และการเชื่อมต่อ Backhaul ลงไปอีกด้วย โดยในการออกแบบแรกนี้ FAcebook ได้ออกแบบเสาสัญญาณที่รองรับทั้งเครือข่าย 2G, LTE และ Wi-Fi ได้ในหนึ่งเดียว และสามารถปรับแต่งรูปแบบการใช้งานได้ตามต้องการ อ้างอิงจากพื้นฐานดังต่อไปนี้
- ออกแบบแบบ Modular ให้สามารถปรับแต่งและรองรับเครือข่ายมาตรฐานใหม่ๆ ในอนาคตได้
- รองรับการเพิ่มขยายให้เหมาะสมกับปริมาณประชากรผู้ใช้งานโดยรอบได้
- มี CAPEX และ OPEX ที่ต่ำ เพื่อให้นำไปใช้จริงได้อย่างกว้างขวาง
- ติดตั้งและแก้ไขปัญหาในภายหลังได้ง่าย
- ติดตั้งในสถานที่และปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่เดิมได้ง่าย ทำให้ไม่ต้องลงทุนใหม่เพิ่มมากนัก
- สามารถผลิตในท้องถิ่นได้ และขนส่งได้ง่าย
ในงานออกแบบชิ้นแรกนี้ได้แบ่งส่วนประกอบทาง Hardware ออกเป็นสองส่วน ได้แก่
- General-basedband Computing (GBC) เป็นส่วนของระบบจ่ายพลังงาน, Microcontroller, Microprocessor, Timing/Sync, Sensor และระบบควบคุมต่างๆ โดยรองรับพลังงานได้ทั้งจาก PoE, Solar, DC, แบตเตอรี่ภายนอกและภายใน รวมถึงยังมี Sensor วัดอุณหภูมิ, โวลต์ และกระแสไฟด้วย
- เสาสัญญาณที่เลือกใช้ได้ทั้งแบบ Software-defined Radio (SDR) และ System on Chip (SoC) ที่ต่างก็รองรับซอฟต์แวร์ Cellular ทั้งแบบ Open Source และ Commercial ได้ ซึ่งระบบนี้สามารถเลือกให้ทำงานเป็นแบบ Network-in-a-Box โดยให้ Daughter Card ผนวกมากับ GBC เลย หรือจะให้ทำงานเป็นแบบ Access Point ที่ Daughter Card ทำงานแยกเป็นอิสระก็ได้
ส่วนการออกแบบภายนอกนั้นก็มีการออกแบบให้ทนทานต่อลม, อุณหภูมิ และสภาพอากาศต่างๆ กันทั่วโลก โดยยังมีขนาดเล็กและเบา สามารถติดตั้งด้วยตัวคนเดียวได้ ทั้งบนเสาที่สูงจากพื้นไม่กี่ฟุตไปจนถึงบนหอคอยขนาดสูงหรือแม้แต่บนต้นไม้ก็ตาม
ทางด้าน Software นั้น OpenCellular ใช้ระบบปฏิบัติการแบบ Open Source ที่ทำงานได้แบบ Real-time และสามารถตรวจสอบสถานะการทำงานได้อย่างง่ายดายจากระยะไกล รวมถึงสามารถทำการปรับแต่งการตั้งค่าของตนและแจ้งเตือนได้โดยอัตโนมัติเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น
โครการนี้จะเริ่มเปิดตัวให้ใช้งานได้จริงภายในปีนี้ โดยปัจจุบัน OpenCellular มีการทดสอบภายในแล็บของ Facebook HQ แล้ว และเริ่มมีการทำงานกับผู้ผลิต OEM และ ODM เพื่อให้ OpenCellular ถูกผลิตและจำหน่ายได้จริงทั่วโลก ซึ่งจากการทดสอบนี้ภายใน Facebook เองเริ่มมีการรับส่ง SMS, การโทรศัพท์ระบบเสียง และการใช้งานพื้นฐานของระบบเครือข่าย 2G ได้เรียบร้อยแล้ว และกำลังพัฒนาต่อไป
ใครที่สนใจโครงการ OpenCellular โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายอยู่แล้ว ก็สามารถติดต่อ Facebook โดยตรงเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ opencellular@fb.com ทันทีเลยครับ