
เป็นบทความแรกในส่วนของ TechTalkThai Experience ที่จะเน้นสัมภาษณ์เรื่องราวการเรียนต่อและการทำงานในสาย IT ทั้งในและต่างประเทศนะครับ โดยจะนำเสนอทั้งเรื่องราวส่วนที่ดีและไม่ดีทั้งหมด เพื่อให้ผู้อ่านที่กำลังมองหาหนทางในอนาคตของชีวิตได้มองเป็นแนวทางตัดสินใจ หรือหาผู้มีประสบการณ์สำหรับให้คำปรึกษาในเรื่องราวเฉพาะทางต่างๆ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
สำหรับเรื่องราวครั้งแรกนี้ก็เป็นเรื่องของคุณชัชพล วิทวัสการเวช ผู้ที่ได้ไปเรียนต่อทางด้าน IT ที่ทวีปยุโรปด้วยทุน Erasmus Mundus และทำงานต่อทางสาย IT ในยุโรปเลย ก็น่าจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับสาย IT ในยุโรป ที่หลายๆ คนอาจมองข้ามหรือคาดไม่ถึงไปครับ ก็มาเริ่มอ่านบทสัมภาษณ์กันได้เลยครับ

TTT (TechTalkThai): รบกวนคุณชัชพลแนะนำตัวเองคร่าวๆ หน่อยครับ
คุณชัชพล: ชัชพล วิทวัสการเวช (เจมมี่) จบป.ตรี วิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ และได้ไปศึกษาต่อป.โทด้วยทุน Erasmus Mundus ในหลักสูตร International Master in Management of IT (IMMIT) ปัจจุบันนี้ทำงานอยู่ที่บริษัท ING ที่เนเธอร์แลนด์ และกำลังจะย้ายไปที่ Amazon ในเดือนเมษายนนี้ครับ ( เสริมโดยทีมงาน TTT http://www.ing.com/ เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ และใหญ่เป็นอันดับ 28 ของโลก มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลาย ไม่ได้มีแต่ขายประกันนะครับ ในไทยจะคุ้นเคยกับการขายประกันมากกว่า )

TTT: มีเป้าหมายอะไรถึงอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ?
คุณชัชพล: มีเหตุผลส่วนตัวด้วย แต่หลักๆคืออยากออกจาก Comfort-zone ไปลองใช้ชีวิตในประเทศอื่นดูบ้าง

TTT: เลือกมหาวิทยาลัยและหลักสูตรอย่างไร?
คุณชัชพล: ช่วงที่ทำงานอยู่ที่ไทย ผมสังเกตว่าคนส่วนใหญ่จะเน้นรู้ลึกแค่ด้านเดียว แต่ไม่สนใจด้านอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารระหว่างแผนก ผมเลยอยากเรียนอะไรที่อยู่ระหว่าง IT, Business, Management
ผมมองว่าด้าน IT knowledge ที่ได้ใช้จริงๆ ก็แค่ส่วนของพื้นฐาน (Data structure, Algorithms, OS, Networking, etc.) ซึ่งเรียนตอนป.ตรีไปหมดแล้ว หากต่อป.โทเฉพาะสาขา โอกาสที่จะได้เอาความรู้ที่เรียนไปใช้ใน Industry ค่อนข้างน้อย เพราะ ตลาดงานในไทยส่วนใหญ่เป็น Software House
ส่วนมหาวิทยาลัย เนื่องจากไม่อยากใช้เงินของที่บ้าน ผมเลยเลือกเฉพาะที่ที่สามารถให้ทุนเต็มจำนวนพร้อมมีค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยให้ ไม่ได้ดู Ranking เลย
TTT: เตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
คุณชัชพล: สำหรับโปรแกรมที่ผมเรียนได้รับทุนจากสหภาพยุโรป (EU) อยู่ในโครงการ Erasmus Mundus ใครสนใจ ลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://eacea.ec.europa.eu/erasmus_mundus/results_compendia/selected_projects_action_1_master_courses_en.php โดยหลักๆ แล้วการพิจารณาคัดเลือกเข้ารับทุนนี้ดูจาก
- Profile (GPA/University/Experience)
- Motivation letter & recommendation letters
- TOEFL
- GRE
ข้อ 1-2 ผมอาศัยให้เพื่อนหลายๆ คนช่วย Review ให้ ทั้งเพื่อนที่มีประสบการณ์สมัครเรียนตปท. และที่ไม่มี แก้อยู่ประมาณ 3-4 เดือนจนได้ฉบับจริง
ข้อ 3 ไม่ยากมาก เนื่องจากผมใช้ภาษาอังกฤษในที่ทำงานทุกวันอยู่แล้ว หลักสูตรที่ผมสอบต้องการแค่ให้ผ่านขั้นต่ำก็พอ (90 จาก 120) จำได้ว่าซื้อหนังสือมาเล่มนึงที่เป็น IBT (Internet Based Test) มานั่งลองทำแบบฝึกหัดดู เพื่อให้คุ้นกับรูปแบบของข้อสอบ
ข้อ 4 ผมเตรียมตัวส่วน Quantitative แค่ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนสอบ สำหรับคนที่จบสาย Engineering มา ส่วนนี้ไม่น่าจะยาก เพราะเป็นแค่เลขม.ต้น แค่ทวนนิดหน่อยก็พอแล้ว
ส่วนของ Writing ผมไม่ได้เตรียมตัวมาก แค่เอาแบบฝึกหัดมาลองทำดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ส่วนที่ยากที่สุดคือ Verbal ที่ต้องท่องจำคำศัพท์เยอะมาก ผมใช้โปรแกรม Flash Card บนมือถือ (AnkiDroid) โดยอาศัยเวลาทำธุระห้องน้ำ (ธุระนั่นแหละครับ) เฉลี่ยวันละประมาณ 10-15 นาที นั่งท่องอยู่ประมาณ 6-7 เดือน ช่วงสองเดือนสุดท้ายก่อนสอบก็จะใช้เวลาระหว่างเดินทางด้วย เฉลี่ยวันละ 1 ช.ม.
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมจะไม่ใช้เวลากับ part นี้มากขนาดนั้น เพราะหลังจากสอบเสร็จแล้ว ศัพท์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้อีกเลย
TTT: ได้ไปเรียนที่ไหน? หลักสูตรอะไร?
คุณชัชพล: หลักสูตรชื่อ International Master in Management of IT (IMMIT) ผมได้ไปเรียนสามประเทศ (ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์) และฝึกงานอีกหนึ่งประเทศ (เยอรมัน) กับบริษัท SAP

การได้ใช้ชีวิตในหลายๆประเทศเป็นไฮไลท์ของหลักสูตรเลย เนื่องจากเป็นหนึ่งในโปรแกรมของทุน Erasmus Mundus เค้าจะเน้นให้หลายมหาวิทยาลัยสร้างหลักสูตรร่วมกัน และนักเรียนได้มีโอกาสไปมากกว่าหนึ่งประเทศ อย่างผมจบก็ได้ปริญญาสามใบจากสามมหาวิทยาลัย ดังนี้
- Tilburg University: Master of Science in Information Management
- IAE Aix-Marseille Graduate School of Management, Aix-Marseille Université: Master of Sciences in Management & Information Technology
- Turku School of Economics, Turku University: Master of Science in Economics and Business Administration
TTT: ตอนเรียนได้ความรู้อะไรเชิงวิชาการบ้าง?
คุณชัชพล: เรียนเป็นเป็ดมากครับ มีเรียนพื้นฐานด้าน Accounting, Finance, International Marketing, International Business Management, Macro Economic, Business strategy, Leadership แล้วก็ลงไปด้าน IT Strategy, Synergy between IT & Business, IT partnership & Outsourcing, Information System management , Project management นอกจากนี้ก็จะมีเรียนพวกระบบเฉพาะทาง อย่าง Business Intelligence, Advanced resource planning (ERP), Logistics system
จริงๆแล้วสิ่งที่ได้จากการเรียนจริงๆ ไม่ใช่ตัวเนื้อหาครับ เพราะพวกนั้นหาอ่านเองได้หมดอยู่แล้ว นี่ผมจบไปสามปีก็ลืมไปเกินครึ่งแล้ว ที่ได้จริงๆ เป็นทัศนคติที่แตกต่างจากเดิมมากกว่า ก่อนหน้านี้ผมทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ก็ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเขียนโปรแกรมเสร็จแล้วเอาไปทำอะไร เขียนตามเสป็คอย่างเดียว จบ แต่พอเรียนแล้วทำให้เห็นภาพกว้างมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าที่บริษัทบอกให้ผมทำให้โปรแกรมขึ้นมาสักโปรแกรม ผมจะเริ่มคิดตามนี้
- เป็น B2C หรือ B2B, ต้องดู Channel ทาง Marketing ด้วยว่าจะขายอย่างไร กลุ่มลูกค้าเป็นใคร ตอบโจทย์ไหม ( Marketing)
- เรามีคู่แข่งทางตรงทางอ้อมเป็นไงบ้าง รายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ง่ายแค่ไหน วิเคราะ 5 forces แล้วเป็นอย่างไร มี Legal Barrier รึเปล่า (Business Strategy)
- จะผลิตเอง หรือซื้อโปรแกรมสำเร็จแล้วมา Customize เอา หรือเลือก Outsourcing ไปยังประเทศที่ถูกกว่า ถ้าเลือก outsource มันจะยั่งยืนไหม? (IT partnership)
- ถ้า Outsource หรือเปิดสาขาพัฒนาของเราในประเทศที่ราคาถูกกว่า เราควรเลือกไปประเทศไหนดี เราควรจะพิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง เช่น ถ้าเราต้องการให้ฝั่งนู้น Support โปรแกรมในระยะยาว อาจจะต้องดูความเสี่ยงทางการเมืองด้วย (Outsourcing)
- ถ้าเลือกเปิดสาขาใหม่ เราจะบริหารยังไง จะ Attract Talent ในประเทศนั้นๆ ยังไง (International Business Management)
- จะวางแผน Release เก็บ Requirement ยังไง จะทำแบบ Waterfall หรือเอาแนว Lean startup (Project Management)

TTT: ตอนเรียนได้ประสบการณ์อะไรนอกเหนือจากวิชาการหรือนอกเหนือจากในห้องเรียนบ้าง?
คุณชัชพล: ผมว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เจ๋งมาก ผมเรียนอยู่สองปี ได้ใช้ชีวิตอยู่ใน 4 ประเทศที่วัฒนธรรมแตกต่างกันมาก เรียนภาษาใหม่ทุกๆ 6 เดือน รู้จักคนรวมกันน่าจะเกือบๆ 30 เชื้อชาติ
ข้อดีของยุโรปคือมีที่เที่ยวเยอะ จำได้ว่าปีแรกไปเที่ยวสวิส สเปน อิตาลี ออสเตรีย ฮังการี เนื่องด้วยทุนให้ค่าใช้จ่ายพอสมควร ผมเลยไม่ต้องออกเองเลย หลังเรียนจบนี่ไม่อยากเที่ยวอีกเลย หกเดือนสุดท้ายได้ไปฝึกงานที่ SAP Headquarter ก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ไปอีกแบบ ได้เจอทั้งคนที่เก่งแล้วก็ฉลาดมากๆ หลายคน
อีกมุมหนึ่งคือ ผมอยู่กับพ่อแม่ตั้งแต่เด็กอยู่ 24 ปี ออกแนวลูกแหง่ พ่อแม่ดูแลทุกอย่างตั้งแต่ซักผ้า ทำอาหาร ไปรับไปส่งจนถึงมหาวิทยาลัย จบมาก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก เงินเดือนก็พอมีใช้ไม่ต้องถึงขั้นหมุนเดือนชนเดือน พอมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเองในยุโรปด้วยงบที่จำกัด ชีวิตมันเปลี่ยนไปมาก ตัวอย่างเช่น
- ห้องที่อยู่ใหญ่แค่ 12 ตารางเมตร รวมห้องน้ำด้วย ทั้งชีวิตที่นอน Queen size มาตลอด ต้องมานอนเตียง4 เมตร พลิกตัวทีแทบตกเตียง
- ครัวต้องแชร์กับคนอื่น สกปรกมาก อาหารก็ทำกินเองไม่เป็น แต่ไปซื้อก็โคตรแพง
- เสาร์อาทิตย์ต้องไปจ่ายตลาดเองคนเดียว ตอนนั้นแยกเนื้อหมูกับเนื้อวัวไม่ออกด้วยซ้ำ อ่านไม่ออกด้วยว่าเค้าเขียนอะไร
- ต้องแบกน้ำเปล่าสองแกลลอนกลับบ้าน ไม่อยากขึ้นรถบัสเพราะค่าตั๋วแพงมาก
- ห้างปิดตั้งแต่ห้าโมงเย็น วันอาทิตย์ปิด วันหยุดนักขัตฤกษ์ก็หยุด มีครั้งนึงไม่รู้ว่ามันเป็นวันหยุดยาวบ้านเค้า เลยไม่ได้ซื้อของกินตุนไว้ ไม่มีอะไรกินไปสามวัน ต้องไปเคาะประตูเพื่อนห้องข้างๆ เพื่อขออาหาร
แต่พอผ่านมาได้แล้ว ผมรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ตลกดี เป็นสองปีที่ดูแลตัวเองเป็นขึ้นเยอะมาก

TTT: ค่าใช้จ่ายในการไปเรียนมีอะไรเท่าไหร่บ้าง?
คุณชัชพล: ผมได้ทุนเดือนละ 1,400 euros ต่อเดือนครับ ไม่ต้องจ่ายค่าเรียน ผมพักหอนักเรียน ราคาไม่แพงมาก พออยู่ได้สบายๆ เรื่องค่าใช้จ่าย ผมไม่ขอลงรายละเอียด เพราะมันขึ้นอยู่กับเมืองและประเทศที่ไป ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ใครที่อยากได้รายละเอียดของค่าใช้จ่ายในยุโรป ผมแนะนำให้ไปถามใน FB group “Erasmus Mundus Network in Thailand” ครับ ที่นั่นมีศิษย์เก่าซึ่งรวมแล้วน่าจะครอบคลุมทุกประเทศในยุโรปเลย
TTT: คุ้มมั้ยที่ได้ไปเรียนที่นี่?
คุณชัชพล: ถ้ามองในด้านเงินกับประสบการณ์ ก็คุ้มนะครับ เรียนฟรี เที่ยวฟรี ได้ปริญญาสามใบ มีเงินเก็บอีก
ถ้ามองในเชิง Opportunity Cost (คือ เราสามารถเอาชีวิตสองปีไปทำอย่างอื่น ซึ่งอาจมีประโยชน์ได้มากกว่า) เวลาที่หายไปสองปี เราเสีย Industry Experience ไปพอควร ซึ่งทำให้เงินเดือนเราโตช้ากว่าคนที่ทำงานตลอด แต่ผมมองว่าในระยะยาว การที่เรามี Mind Set ที่กว้างกว่าแค่การเป็นโปรแกรมเมอร์จะทำให้เราโตในหน้าที่การงานได้ดีกว่า ส่วนใครที่อยากทำสาย Technical ล้วนๆ อันนี้อาจจะไม่คุ้มเท่าไร
อีกมุมหนึ่งก็คือเรื่องของชีวิตส่วนตัว ต้องจากเพื่อน จากครอบครัวมาที่อื่นสองปี ใครที่ติดบ้าน ใครที่มีแฟนก็ต้องมา Long Distance Relationship ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ตรงนี้ใครจะไปเรียนตปท.ยาวๆ ก็ต้องคิดให้ดีด้วย ไปอังกฤษอาจจะดีกว่าเพราะแค่ปีเดียว
หากเลือกไปเรียนต่อที่ Top Ranking Universities ใน U.S. เงินเดือนน่าจะดีกว่านี้เกือบเท่าตัว ถ้าเงินเป็นปัจจัยสำคัญในระยะยาว เลือกเรียนใน U.S. แล้วทำงานสาย Software Engineer จะได้เยอะมากกว่าครับ หรือไม่ก็ไป MBA แล้วทำงานสาย Consultant ไปเลย แต่อันนี้เตือนไว้ก่อนเลยว่างานหนักมาก

TTT: เรียนจบแล้วทำอะไรต่อ? ได้นำสิ่งที่ได้จากการเรียนไปใช้อะไรบ้าง?
คุณชัชพล: ผมเข้าทำงานในโปรแกรม Management Traineeship ของ ING ครับ
ING เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ และเริ่มให้ความสำคัญในด้าน IT ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ บริษัทมีแนวคิดที่เปลี่ยนตัวเองเป็นธนาคารไอทีมากกว่าแค่ธนาคารธรรมดา ผมเลือกมาทำงานต่อที่นี่เพราะ ตัวโปรแกรมค่อนข้างดีมาก ได้เทรนตั้งแต่เรื่อง Finance พื้นฐานไปจนถึงพวก ITIL, CMMI, Scrum, PRINCE2
สองปีแรก ได้ Rotate ไปทำหลายๆ Function ใน IT แล้วมีโอกาสได้ไป Expat ต่างประเทศด้วย ผมได้ไปอยู่ Manhattan ใน New York อยู่หกเดือน ถ้าต้องจ่ายค่าที่พักที่นั่นเอง ชาตินี้คงไม่กล้าไปอยู่
ตอนนี้ทำอยู่ตำแหน่ง Software Engineer ในฝั่ง Commercial Banking งานหลักก็เขียน JavaScript (AngularJS) กับ Java (Spring), ออกแบบ Architectural/Technical Design, ช่วย Mentor กับรีวิวโค้ดให้ Junior Engineer, นั่งเซ็ต Continuous Delivery ให้กับทีม
บางคนอาจสงสัยว่าทำไม Management Trainee ต้องมาทำ Software Engineer อันนี้เป็นความเชื่อของบริษัท (และตัวผมเองด้วย) ว่า Software Development Manager ที่ดี จะต้องเข้าใจและเขียนโปรแกรมได้ดี เข้าใจ Technical Decision ต่างๆและ Trade-off ระหว่าง Technical Debt กับ Time-to-Market
ตอนนี้ใกล้จะจบโปรแกรมแล้ว อยากเปลี่ยนบรรยากาศ กำลังจะย้ายงานไปที่ Amazon ในเดือนเมษายนนี้ครับ
เรื่องความรู้ ไม่ได้ใช้ตรงๆเลยครับ อย่างที่เขียนไว้ข้างต้น ได้แต่ทัศนคติอย่างเดียว แต่ละงานที่ไปทำมาก็เรียนรู้ใหม่หมด
TTT: มีอะไรอยากฝากถึงคนไทยคนอื่นที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศบ้าง?
คุณชัชพล: อยากได้อะไร อยากเป็นอะไร ทุกอย่างอยู่ที่ตัวของเราเองครับ
ผมจำได้ว่าตอนผมอยู่ปี 3 ผมตกสัมภาษณ์งานที่บริษัทข้ามชาติแห่งเพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แนะนำตัวบอกว่าเรียนอะไรอยู่ยังไม่ได้เลย แค้นเคืองมาก โทรไปปรับทุกข์กับเพื่อน (Admin เว็บนี้แหละ) ว่าทำไงดี ถึงจะพูดภาษาอังกฤษได้
พอจบปี 4 ผมก็ได้งานที่นี่ สัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษ หัวหน้าเป็นคนอเมริกัน คนในทีมที่ต้องทำงานด้วยไม่มีใครเป็นคนไทยเลย
สามเดือนแรก ฟังไม่รู้เรื่องเยอะมาก (มีสำเนียงคนสิงคโปร์ คนจีน คนเท็กซัส คนอินเดีย) รู้สึกแย่มาก มีอะไรสำคัญ ต้องขอให้เขาเขียนมาเป็นอีเมล์
หกเดือนผ่านไป ถึงเริ่มคุยรู้เรื่อง
ไม่มีใครทำเป็นทุกอย่างมาตั้งแต่เกิด จริงอยู่ ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากหาเหตุผลว่า ชั้นทำไม่ได้เพราะอย่างนั้น อย่างนี้ เราก็ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ลองล้มเหลว และไม่ได้พัฒนาตัวเอง
อีกอย่าง ชีวิตมีอะไรมากกว่างาน การเรียนต่อต่างประเทศไม่ใช่ความสำเร็จของชีวิต ดูแลด้านอื่นๆของชีวิตด้วย มองด้านอื่นด้วย เรื่องครอบครัว เรื่องแฟน เรื่องสุขภาพของตัวเอง ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมอยากให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตมากกว่านี้
TTT: ยินดีให้คำปรึกษาคนอื่นเป็นการส่วนตัวหรือไม่? ถ้ายินดีจะติดต่อได้อย่างไรบ้าง?
คุณชัชพล: ถ้าเกี่ยวกับทุนและการเรียนต่อในยุโรป ผมแนะนำให้ไปถามที่ FB group “Erasmus Mundus Network in Thailand” ผมเองก็เป็นแอดมินของเพจก็พยายามตอบอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่าให้คำแนะนำอีกเยอะมาก ที่สำคัญคนอื่นๆ ที่อยากได้ข้อมูลก็น่าจะมีคำถามคล้ายๆ ถามที่นั่นแล้วมีประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ด้วยครับ
ก็จบเพียงเท่านี้สำหรับบทสัมภาษณ์ของคุณชัชพลนะครับ หวังว่าผู้อ่านคงได้แง่คิดหรือมุมมองอะไรใหม่ๆ กลับไปบ้าง ใครที่สนใจอยากร่วมแชร์ประสบการณ์ชีวิตสาย IT ของตัวเองเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่น รบกวนส่ง Email ติดต่อมาได้ที่ info@techtalkthai.com พร้อมแนะนำตัวคร่าวๆ ซัก 1 ย่อหน้าพร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อหน่อยนะครับ ทางทีมงานจะได้ Research พวกคำถามและติดต่อกลับไปสัมภาษณ์ครับผม