[สัมภาษณ์] Blendata ลงทุนใน Opsta: วงการ Big Data และ DevOps ไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต?

หลังจากที่ Blendata ผู้นำด้านเทคโนโลยี Big Data Platform สัญชาติไทย ได้จัดงานเพื่อประกาศลงทุนใน Opsta ผู้นำด้านเทคโนโลยี DevOps และ DevSecOps สัญชาติไทยเช่นกัน เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีรองรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมในภาคธุรกิจองค์กรของไทย ทางทีมงาน TechTalkThai ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์ CEO และ Co-Founder แห่ง Blendata ร่วมกับคุณจิรายุส นิ่มแสง CEO และ Founder แห่ง Opsta สองผู้นำเทคโนโลยีในไทยถึงทิศทางในอนาคตหลังจากนี้

สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่รู้จักทั้ง Blendata และ Opsta ทางทีมงาน TechTalkThai เราขอแนะนำทั้งสองบริษัทให้ทุกท่านรู้จักโดยสังเขปก่อน ดังนี้

Blendata เป็นบริษัทสัญชาติไทยที่ทำการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Big Data Platform ซึ่งรองรับกระบวนการด้าน DataOps ไปจนถึง Data Analytics อย่างครบถ้วนในระบบเดียว เพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างระบบ Big Data หรือ Data Lake ของตนเองได้อย่างง่ายดาย ด้วยการรวมข้อมูลสำคัญทางธุรกิจทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร มาอยู่ภายใน Platform ที่ชื่อว่า Blendata Enterprise และอัปเดตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดได้ทั้งในแง่ของการวิเคราะห์ข้อมูล ไปจนถึงการพัฒนา AI โดยมีลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจองค์กรชั้นนำทั่วไทยในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเงิน โทรคมนาคม ขนส่ง ค้าปลีก และอื่นๆ อีกมากมาย https://blendata.co/

คุณณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์ CEO และ Co-Founder แห่ง Blendata และคุณจิรายุส นิ่มแสง CEO และ Founder แห่ง Opsta

ทางด้านของ Opsta นั้น คือบริษัทสัญชาติไทยเช่นกัน แต่ความเชี่ยวชาญของ Opsta นั้นจะอยู่ในมุมของการเป็นผู้นำด้าน DevOps และ DevSecOps จากประสบการณ์ในการเข้าไปวางระบบเหล่านี้ให้กับธุรกิจองค์กรชั้นนำทั่วไทยหลายแห่ง โดยมี Platform ของตนเองที่ชื่อว่า Opstella สำหรับรองรับการวางระบบ DevOps และ DevSecOps ทั้งบน Cloud และ On-Premises ด้วยการชูแนวคิดของระบบที่ครบเครื่องและพร้อมปรับแต่งให้เข้ากับรูปแบบการทำงานของทีม Software Development และ Cybersecurity ในองค์กรแต่ละแห่งได้ https://www.opsta.co.th/

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการลงทุนร่วมกันระหว่างธุรกิจ IT ไทยที่มีการพัฒนา Product และ Solution ของตนเองอย่างในครั้งนี้ ซึ่งคุณณัฐนภัสก็ได้เล่าว่าการตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ Blendata และ Opsta เป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมา Blendata เองก็ได้รับความสนใจจากธุรกิจ IT ชั้นนำทั่วไทยมากมายที่อยากมาลงทุนและร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีกับ Blendata แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ Blendata ตัดสินใจมาลงทุนให้กับ Opsta ในครั้งนี้ ก็คือเรื่องของ DNA ความเป็นผู้นำที่ตรงกัน

คุณณัฐนภัสเผยว่าแรกเริ่มนั้น Blendata มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับ Opsta ในโครงการของลูกค้าธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่รายหนึ่ง และได้เห็นว่าแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของ Opsta นั้นคล้ายคลึงกับ Blendata ไม่น้อย จากการที่ Opsta มุ่งมั่นในการที่จะพัฒนา Platform ของตนเองเพื่อรองรับงานทางด้าน DevOps และ DevSecOps อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การเข้าไปนำเสนอบริการวางระบบอย่างที่ผู้ให้บริการ Services โดยมากจะทำเท่านั้น

การได้พบกันของผู้พัฒนา Big Data Platform และ DevOps/DevSecOps Platform ในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือและการลงทุนที่เกิดขึัน เพราะในการทำงานร่วมกันภายในโครงการดังกล่าว ทำให้ทั้งคู่เกิดวิสัยทัศน์ร่วมกันถึงภาพของ AI Transformation ที่กำลังจะเป็นกระแสใหญ่ในอีก 10 ปีนับถัดจากนี้ และมองเห็นภาพของ Platform ที่จะต้องรองรับการทำ AI Transformation ที่เหมาะสมด้วย

คุณจิรายุสได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองกับการมีส่วนร่วมในหลายโครงการด้าน AI Transformation ที่ผ่านมาว่า ในช่วงแรกเริ่มที่กลุ่มธุรกิจองค์กรไทยให้ความสนใจกับโครงการด้าน AI นั้น โครงการในช่วงนั้นมักจะเป็นการพัฒนาระบบแบบแยกส่วน เช่น การพัฒนาระบบ AI ก็จะนับเป็นโครงการหนึ่ง ในขณะที่การนำ AI Model ที่พัฒนาได้มาใช้งานต่อยอด ก็จะเป็นอีกโครงการหนึ่ง แยกขาดจากกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อธุรกิจองค์กรไทยเริ่มมีความคุ้นเคยต่อการพัฒนา AI แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าโครงการ AI ในระยะหลังๆ มีความชัดเจนและรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยภายในโครงการหนึ่งๆ จะมีทั้งส่วนของการพัฒนา AI Model ควบคู่ไปกับการนำ AI มาใช้งานบน Application เดิมหรือ Application ใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเลย

ด้วยเหตุนี้เอง Opsta จึงเห็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อโครงการด้าน AI และเห็นภาพร่วมกับ Blendata ว่า สุดท้ายแล้ว ทุกๆ โครงการ AI จะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

  1. Centralized Data Store หรือถังเก็บข้อมูลกลาง ซึ่งอาจเป็น Data Warehouse, Data Lake หรือ Data Lakehouse ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ธุรกิจต้องการนำมาใช้งาน
  2. Data & AI Platform หรือระบบสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลหรือนำข้อมูลไปต่อยอด, การทำ AI Training และ AI Inference โดยมี AI Technology Stack ที่ต้องการใช้งานอย่างครบถ้วน
  3. AI-integrated Application หรือ Application ที่มีการผสาน AI อยู่ภายใน ซึ่งอาจต้องมีการพัฒนาส่วนเชื่อมต่อกับ Application ที่มีอยู่เดิม หรือพัฒนา Application ใหม่เลย

ซึ่งระบบทั้งหมดนี้จะต้องรองรับการใช้งานได้แบบ Hybrid Multicloud เพื่อให้ธุรกิจองค์กรสะดวกต่อการบริหารจัดการข้อมูลและทรัพยากรที่ต้องการใช้งาน รวมถึงการให้บริการ Application สู่ผู้ใช้งานนั้นก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งบน Cloud และ On-Premises

เมื่อวิสัยทัศน์ของทั้ง Blendata และ Opsta ตรงกันแล้ว ดีลการลงทุนเพื่อความร่วมมือระยะยาวในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้โดยเฉพาะ ซึ่ง Blendata ก็สามารถเติมเต็ม Data & AI Platform Technologies ให้กับ Opsta ได้ ในขณะที่ Opsta เองก็สามารถเติมเต็มในส่วนของ Application Infrastructure, Cloud Native Technologies ให้กับ Blendata ได้เช่นกัน

ประเด็นหนึ่งที่คุณณัฐนภัสได้เผยถึงก็คือความสำคัญของ Hybrid Multi Cloud ที่นับวันจะยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากในประสบการณ์ของ Blendata ที่ผ่านมา จุดแข็งจุดหนึ่งที่ทำให้โซลูชันของ Blendata ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มธุรกิจองค์กรไทยนั้นก็คือความสามารถในการรองรับ Hybrid Multi Cloud ได้อย่างแท้จริง

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในทุกวันนี้ ธุรกิจองค์กรนั้นมีข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ทั้งบน Cloud และ On-Premises ในขณะที่ทรัพยากรระบบ IT เองก็อยู่ในภาพของ Hybrid Multi Cloud ด้วยแล้วเช่นกัน ซึ่งถือเป็นโชคดีที่โซลูชันของ Blendata นั้นออกแบบให้การรวบรวมบริหารจัดการข้อมูลสามารถเกิดขึ้นได้ในแบบ Hybrid Multi Cloud อยู่แล้ว จึงสามารถช่วยให้ธุรกิจองค์กรทำการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในแต่ละระบบโครงสร้างพื้นฐาน และนำมารวมศูนย์เพื่อรองรับ Data Application และ AI Application ได้ตามต้องการ

ส่วนในภาพของอนาคต คุณณัฐนภัสได้เผยถึงแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้จากการร่วมมือกับ Opsta ว่า ทั้งคู่สามารถพัฒนา Platform กลางที่รวมทั้งความสามารถด้าน Data, AI และ Application เข้าด้วยกัน และทำงานได้ในแบบ Hybrid Multicloud เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจองค์กรมากยิ่งขึ้นในอนาคต ทำให้ธุรกิจสามารถมี Platform เดียวเพื่อรองรับได้แทบทุกโจทย์ในการทำ AI Transformation ได้อย่างง่ายดาย

อีกเป้าหมายหนึ่งที่คุณณัฐนภัสและคุณจิรายุสเล็งเห็นตรงกันนั้นก็คือการขยายฐานสู่ต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา Blendata ได้เริ่มมีการขยายฐานในส่วนนี้อยู่แล้ว และปีทีต่แล้ว Blendata ก็เริ่มมี Authorized Reseller และพันธมิตรแล้วในอินโดนีเซีย มาเลย์เซีย รวมถึงสิงคโปร์ ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่จะพาผลิตภัณฑ์ของ Opsta อย่าง Opstella ออกไปสู่ตลาดต่างประเทศร่วมกันด้วย

สำหรับในประเทศไทย ทั้ง Blendata และ Opsta ต่างก็ยังคงมองหาพันธมิตรที่จะมาร่วมนำโซลูชันไปนำเสนอสู่ธุรกิจองค์กรไทยอยู่ เพราะในมุมของ Blendata และ Opsta นั้นอยากจะอยู่ในบทบาทของ IT Vendor เช่นเดียวกับ Vendor ชั้นนำในต่างประเทศ และอยากขยายตลาดผ่าน Systems Integrator หรือ Software House ในไทยมากกว่า ซึ่งหากธุรกิจใดอยากเจรจาพูดคุยสร้างโอกาสร่วมกัน ทั้งสองบริษัทก็ยังคงเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ในมุมของคุณณัฐนภัสและคุณจิรายุส การมาของ AI นั้นจะส่งผลเป็นอย่างมากต่อตำแหน่งงานด้าน IT และวิธีการทำงานของคน IT เป็นอย่างมาก เพราะหนึ่งในกรณีการใช้งานของ AI ที่เกิดขึ้นรวดเร็วที่สุดนั้นก็อยู่ในวงการ IT ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรม, การวิเคราะห์ข้อมูล หรืออื่นๆ ก็ตาม ซึ่ง AI สามารถทำงานหลายชนิดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่คน IT ควรเร่งปรับตัวนั้นก็คือการปรับหลักคิดในการทำงาน ที่อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองจากการมุ่งเน้นทางด้านเทคนิคเป็นหลัก มาสู่การทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ในการทำงานหรือการพัฒนาเทคโนโลยีใดๆ ให้มากขึ้น มองเห็น Core Value และสาเหตุที่ควรทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น เรียนรู้ในเชิงกว้างให้มากขึ้น และนำทุกสิ่งนั้นมาออกแบบสร้างสรรค์เป็นโซลูชันหรือวางกระบวนการที่ดีให้ได้ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นคุณค่าสำคัญที่ AI จะไม่สามารถทดแทนได้อย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกัน คุณจิรายุสก็ให้ความเห็นไว้ว่าทุกวันนี้ แนวคิดของการทำ DevOps และ DevSecOps เริ่มกลายเป็นที่เข้าใจของคนในวงการ IT เป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ซึ่งสองแนวคิดนี้เองที่จะกลายเป็นรากฐานสำคัญของสถาปัตยกรรม Hybrid Multi Cloud ในอนาคต ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คนในวงการ IT ควรเร่งปรับตัวและเรียนรู้กันให้มากขึ้น

สุดท้าย คุณณัฐนภัสได้ให้ข้อคิดถึงภาคธุรกิจองค์กรไทยปิดท้ายการพูดคุยในครั้งนี้เอาไว้ว่า อยากให้ธุรกิจองค์กรไทยเริ่มต้นใช้งาน AI หรือ Generative AI กันได้เลย เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ถือว่าเริ่มต้นทดลองใช้งานได้ง่าย เห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน สามารถช่วยลดเวลาในการทำงานส่วนต่างๆ ลงได้เป็นอย่างมาก

แต่หลังจากที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว อีกสิ่งที่ธุรกิจองค์กรไทยจะต้องเริ่มพิจารณาอย่างจริงจังก็คือ การนำ Generative AI มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจจริงๆ นั้น ควรจะต้องเริ่มในส่วนใด ซึ่งคุณณัฐนภัสก็ให้คำแนะนำเอาไว้ว่าธุรกิจควรจะลองคิดรูปแบบกรณีการนำ Generative AI มาใช้งานให้หลากหลาย และค่อยๆ จัดลำดับความสำคัญให้ดีก่อนเริ่มโครงการด้านนี้อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ คุณณัฐนภัสยังได้แนะนำว่าธุรกิจองค์กรเองก็ควรพิจารณาเทคโนโลยี AI อื่นๆ นอกเหนือจาก Generative AI ด้วย เพราะอันที่จริงแล้ว AI มีรูปแบบที่หลากหลายมาก และ AI แต่ละแบบก็สามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจหรือทำงานแบบอัตโนมัติที่แตกต่างกันออกไปได้ ดังนั้นการไม่ปิดกั้นตัวเองและทำความรู้จักกับ AI ให้ได้มากที่สุด ก็จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

About chatchai

Tech Writer แห่ง TechTalk Thai ที่สนใจในทุกนวัตกรรมและเทคโนโลยี

Check Also

CoreWeave พร้อมขยายธุรกิจด้วยวงเงินสินเชื่อ 650 ล้านดอลลาร์

CoreWeave ผู้ให้บริการคลาวด์สำหรับการประมวลผล AI ได้รับวงเงินสินเชื่อ 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทการลงทุนชั้นนำเพื่อขยายธุรกิจทั่วโลกและเพิ่มขีดความสามารถในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI

รู้จักกับโซลูชัน AlgoSec ผู้เชี่ยวชาญด้าน Network Security Policy Management โดย GrowPro และ Perion Solution

หากคุณกำลังเผชิญกับความยุ่งยากจาก Firewall Policy นับพันรายการ หรือนโยบายการใช้โซลูชันป้องกันหลายแบรนด์ ซึ่งทำให้เวลาส่วนใหญ่จมกับกับการบริหารจัดการ แถมเกิดความผิดพลาดได้บ่อยครั้ง โซลูชัน Network Security Policy Management อาจเป็นคำตอบสำหรับคุณ