สัมภาษณ์พิเศษ : เทคโนโลยีจาก HPE เบื้องหลังชัยชนะของ Mercedes-AMG Petronas ในการแข่งเจ้าความเร็วที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก Formula One

หากใครเป็นแฟนกีฬารถแข่งเชื่อแน่ว่าคงรู้จักชื่อของการแข่งขัน Formula One หรือประชันเจ้าความเร็วที่ถือว่าเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่มีมนต์ขลังผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน หรือกฏเกณฑ์เข้มงวดที่ทำให้การแข่งนี้มีมาตรฐานสูง อย่างไรก็ตามหากมองเพียงผิวเผินคนทั่วไปแทบไม่รู้เลยว่าการแข่งรถจะไปลงตัวกับเทคโนโลยีชั้นนำได้อย่างไร

ในงาน HPE Discover more 2024 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา ทีมงาน TechTalkThai ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงความร่วมมือระหว่าง HPE และ Mercedes-AMG Petronas ที่เคยเป็นแชมป์ถึง 7 สมัย ซึ่งพวกเขาได้มีการประยุกต์ใช้โซลูชันจาก HPE แบบ End to End เพื่อแปรผลข้อมูลสู่การวางแผนเชิงกลยุทธ์ มาติดตามกันครับว่า เทคโนโลยีของ HPE จะช่วยให้การแข่งรถนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมได้อย่างไร

ชัยชนะในการแข่งขันแต่ละครั้งไม่ได้เป็นเพียงการบันทึกชื่อของนักแข่งและทีมงานสนับสนุนในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ในมุมของทีมงานพัฒนารถอย่าง Mercedes-AMG จะเป็นที่รู้จักในฐานะของแบรนด์รถยนต์ด้วยว่าพวกเรามีคุณภาพขนาดไหน จากเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมคุณ Michael Taylor, IT Director จากทีม Mercedes-AMG Petronas กล่าวเมื่อถูกถามถึงว่าพวกเขาได้อะไรจากการแข่งนอกจากความภาคภูมิชันในกีฬานี้

Formula One หรือ F1 เป็นรายการแข่งขันรถที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ถ้าเปรียบเทียบกับเกมการแข่งขันฟุตบอลก็คงเทียบได้กับพรีเมียร์ลีกส์ที่มีฐานคนดูจำนวนมาก โดยการแข่งขันมีพัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกเสียอีก โดยในแต่ละปีรายการแข่งจะถูกแบ่งออกเป็นรอบย่อยเรียกว่า กรังปรีซ์ (Grand Prix) ที่จะจัดขึ้นในหลายประเทศและวัดผลรวมของคะแนน นั่นหมายความว่าเกมการแข่งไม่ได้จบลงสนามเดียว แต่เป็นเรื่องของการรักษาความต่อเนื่องของคุณภาพ ที่ทีมงานต้องปรับปรุงนวัตกรรมให้ดีขึ้นระหว่างการแข่ง

F1 ยังถือเป็นการแข่งขันที่มีมาตรฐานสูงในทุกองค์ประกอบตั้งแต่สนามแข่ง ตัวนักแข่งเอง และกฏกติกาที่ถูกกำหนดโดย Fédération Internationale de l’Automobile (FIA) ทั้งนี้คำว่า Formula หมายถึงระเบียบที่ทุกคนต้องยอมรับร่วมกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี FIA ได้อัปเดตข้อบังคับเพิ่มเรื่อยๆ เพื่อทำให้การแข่งขันมีความปลอดภัย จำกัดงบลงทุนของทุกทีมที่เข้าร่วม ซึ่งในอนาคตอันใกล้ประเด็นความยั่งยืนกำลังจะถูกนำมาเป็นหัวข้อสำคัญ

ทีมที่เข้าร่วมรายการจะต้องมีนักแข่ง 2 คนและนับผลรวมเป็นทีมเดียวกัน โดยมีการวัดผลแบบ 1 บุคคล(Driver) และการนับคะแนนรวมสูงสุดของทีม(Constructor) นั่นคือหนึ่งไฮไลต์ที่ผู้แข่งและทีมงานเบื้องหลังต้องขบคิดกลยุทธ์ในส่วนนี้ โดยทั่วไปทีมแข่งมักมีผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนกลยุทธ์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาในด้านวิศวกรรมและการจัดการเรื่องต่างๆ

ด้วยมาตรฐาน ระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด และกติกาที่ซับซ้อนนี้ ทำให้ F1 เป็นมากกว่าแค่การวัดผลด้านพลังของเครื่องยนต์ แต่ต้องมีการวางแผนการแข่งขันตั้งแต่ตัวของผู้แข่ง ไปจนถึงพลังของทีมงานเบื้องหลังด้วย และตั้งแต่ปี 2014 – 2021 รางวัลประเภททีมอยู่กับทีมแข่งของ Mercedes-AMG Petronas มาโดยตลอด โดยปี 2021 Lewis Hamilton นักแข่งของทีมยังทำลายสถิติของรายการจากการเก็บชัยชนะจำนวนสูงสุดได้ และเคล็ดลับสำคัญของคือพลังแห่งการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลบนรากฐานความแข็งแกร่งจากโซลูชันไอทีของ HPE

การใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางกลยุทธ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการวางแผนทางธุรกิจเท่านั้นแต่ยังใช้ในเกมกีฬาได้ ซึ่งคุณ Taylor เผยว่าในรถแข่งหนึ่งคันนั้นมีการติดตั้งเซนเซอร์กว่า 300 ตัวที่สร้างข้อมูลออกมาได้ถึง 500 GB ต่อคัน ที่สำคัญคือการแข่งขันในแต่ละรอบนั้นยังมีเรื่องของการแบ่งเป็นรอบซ้อมย่อยหลายรอบก่อนเข้าสู่การแข่งขันจริง และหากนับเป็นข้อมูลทั้งหมดพบว่าทีม Mercedes-AMG Petronas ได้รับข้อมูลต่อสัปดาห์มากกว่า 5 TB ที่ต้องถูกเร่งรีบประมวลผล

โครงสร้างของทีม Mercedes-AMG Petronas ไม่ได้มีแค่ทีมงานในสนามแต่ในเกมการแข่งขันด้านความเร็วแม้เพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถส่งผลต่อชัยชนะได้ ซึ่งพวกเขาได้มีทีมงานหน้างานในสนามที่ต้องส่งข้อมูลกลับไปเชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูลใหญ่ใน Berkley ประเทศอังกฤษ โดยคุณ Taylor เผยว่าข้อมูลส่วนสำคัญจะต้องถูกประมวลผลที่ไซต์ เพื่อทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจสำคัญเฉพาะหน้าได้ทันที แต่ด้วยปริมาณข้อมูลที่เข้ามาทำให้เก็บข้อมูลอีกส่วนส่งไปประมวลผลต่อที่ศูนย์ใหญ่ภายหลัง

การใช้ข้อมูลนี้สร้างความแตกต่างอย่างมหาศาลให้แก่ทีมวิศวกรและผู้วางกลยุทธ์ของ Mercedes-AMG Petronas แน่นอนว่ากฏเกณฑ์ของ FIA ได้ควบคุมทั้งเครื่องยนต์ ขนาด หรือการออกแบบหลายอย่าง แต่หากสามารถรับรู้ข้อมูลในเชิงลึก ทีมงานจะสามารถตัดสินใจต่างๆได้ เช่น ความร้อนของยางเมื่อเจอกับสภาพถนนในอุณหภูมิปกติหรือร้อนจัด ซึ่งช่วยให้พวกเขาแจ้งนักแข่งให้เข้าเปลี่ยนยางได้ในเวลาที่เหมาะสม เพราะจำนวนของชุดยางที่ใช้ได้ก็ถูก FIA กำหนดไว้เช่นกัน นอกจากนี้การเข้าพักเพื่อเปลี่ยนยางอาจควบคู่ไปกับการซ่อมรุงอื่นๆ ที่ถูกนับเป็นเวลาในการแข่งด้วย นั่นคือความต่างของแผนกลยุทธ์เมื่ออาศัยการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยส่วนนี้มาจากพลังของเทคโนโลยีจาก HPE

ในปี 2021 FIA ได้เสนอให้จำกัดงบลงทุนของแต่ละทีมเพื่อไม่ให้ทีมที่ทุนใหญ่กว่าได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งคุณ Taylor อธิบายว่างบประมาณครอบคลุมตั้งแค่ค่าแรงของคน เทคโนโลยี การขนส่ง และการจัดการ ทำให้ทีมงานของ Mercedes-AMG Petronas ต้องออกแบบในการลงทุนอย่างจำกัด คล่องตัวสูง ใช้เวลาน้อย แต่ยังต้องรองรับการประมวลผลข้อมูลที่มีความซับซ้อนสูงข้างต้นให้ได้ นั่นคือโจทย์ความต้องการของทีมที่ HPE ได้เข้ามาช่วยเหลือพวกเขา

การแข่งขัน F1 จะดำเนินขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในฝั่งนวัตกรรมของรถเองต้องมีการปรับปรุงการออกแบบใหม่อยู่เสมอ เช่นกันเมื่อมีการนำระบบไอทีมาเป็นหัวใจสำคัญ บริการที่จะเกิดขึ้นก็ต้องปรับตัวได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพราะทุกเสี้ยววินาทีมีความหมาย โดยทีมงาน Mercedes-AMG Petronas ได้มีการประยุกต์ใช้โซลูชันจาก HPE ตั้งแต่ Edge, Networking และ Private Cloud ผ่านโซลูชันเหล่านี้

Apollo 6500 gen 10 – เป็นโซลูชัน Private Cloud ที่ตั้งอยู่ศูนย์ทำการหลักของทีม โดย Apollo ได้ช่วยให้ทีมงานสามารถวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มาจากสนามแข่งปริมาณมาก โดยทีม Aerodynamics มีโปรแกรมออกแบบเชิงวิศวกรรมของตัวเอง ที่ต้องการความละเอียดสูง โดย Apollo ได้ช่วยลดเวลาจำลองโมเดลเหลือเพียง 1 ใน 3 จากเดิม ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญเพราะ FIA กำหนดเวลาของช่วงเวลาจำลองด้วย ดังนั้นการใช้เวลาได้น้อยกว่าคู่แข่งก็คือข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง

HPE Proliant และ Edgeline EL4000 – อข้อมูลส่วนหนึ่งจะต้องทำการแปรผลที่หน้างาน และต้องเป็นโซลูชันที่ออกแบบมาสำหรับการใช้ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก โดย Edgeline EL4000 คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูล Telemetry และแอปพลิเคชันวีดีโอสำหรับการสื่อสาร นอกจากนี้ที่สำคัญคืออุปกรณ์ต้องมีความคล่องตัวมากพอ โดยชุดโซลูชันนี้มีขนาดไม่เกิน 2 Rack ทำให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายทั้งการติดตั้งก่อนและการนำออกหลังแข่งขัน

HPE Aruba Networking – เทคโนโลยี SD-WAN ช่วยเชื่อมต่อระหว่างข้อมูลจากสนามกลับไปยังศูนย์ปฏิบัติการในสหราชอาณาจักรฯ ซึ่งประเด็นสำคัญคือต้องรวดเร็วและปลอดภัยเพียงพอผ่านบนระบบอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ HPE Aruba Networking ยังมีอุปกรณ์การเชื่อมต่อระดับดาต้าเซนเตอร์และแคมปัสอีกหลายตัวทั้ง Wire และ Wireless

HPE Synergy – ความรวดเร็วเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขันในรายการ F1 โดยระบบไอทีของ Mercedes-AMG Petronas จะไม่ใช่แค่งานอัปเดตระบบใหม่ แต่ต้องพร้อมเปลี่ยน infrastructure ใหม่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เองทำให้การจัดการทรัพยากรต่างๆ ต้องมีความอัตโนมัติ ที่โซลูชัน Software-defined infrastructure หรือ HPE Synergy จึงเป็นระบบบริหารจัดการ Hybrid Cloud ที่ทีมผู้ดูแลจะขาดไม่ได้

HPE Point Next Service – Mercedes-AMG Petronas อาจเป็นทีมงานที่ในด้านเครื่องยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญระดับต้นๆของโลก แต่หากเทียบกับความเชี่ยวชาญด้าน IT แล้วต้องยกให้ HPE ซึ่งทีมงานได้อาศัยบริการคำปรึกษาระดับมืออาชีพที่เรียกว่า HPE Point Next Service สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลเทคนิคเชิงลึก ตลอดจนทีม Data Scientist ที่มีความสำคัญต่อการวางกลยุทธ์ในการแข่งขัน

ด้วยความเข้มแข็งของกติกา มาตรฐาน และ ตัวแปรต่างๆ ทำให้ Formula One (F1) เป็นลีกส์ในกีฬาท้าทายความเร็วที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในโลก โดยทีมผู้เข้าแข่งขันจะต้องประเมินปัจจัยเหล่านั้นเพื่อแก้ปัญหาหน้างานและวางแผนภาพรวมของทุกฝ่ายในทีมเพื่อรักษาความมีประสิทธิภาพในตลอดฤดูแข่งให้ได้ และเคล็ดลับสำคัญของทีม Mercedes-AMG Petronas ในผลงานอันยอดเยี่ยมก็คือกลยุทธ์การตัดสินใจด้วยข้อมูลที่เกิดขึ้น และเมื่อประสานความเชี่ยวชาญทั้งจากมุมมองทางวิศวกรรมหลายสาขา ผู้วางกลยุทธ์ นักแข่ง ทีมงานสนับสนุน เข้าด้วยกันจึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะสามารถรักษาแชมป์ได้หลายสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือเทคโนโลยีจาก HPE ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้น และนั่นคือเรื่องราวจากคุณ Michael Taylor ผู้อำนวยการของทีม Mercedes-AMG Petronas

About nattakon

จบการศึกษา ปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ KMITL เคยทำงานด้าน Engineer/Presale ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Network Security และ Public Cloud ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

Meta เตรียมลงทุนกว่า 10 พันล้านดอลลาร์ในสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเลความยาวรอบโลก

มีรายงานว่า Meta Platforms บริษัทแม่ของ Facebook เตรียมลงทุนกว่า 10 พันล้านดอลลาร์ในโครงการสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเลที่มีความยาวรอบโลก

[Video Webinar] พลิกโฉมการพัฒนา AI ด้วย GPU Compute for AI & ML บน Akamai Cloud

สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าฟังการบรรยาย “พลิกโฉมการพัฒนา AI ด้วย GPU Compute for AI & ML บน Akamai Cloud” พร้อมเทคนิคการพัฒนา AI …