[Guest Post] หัวเว่ย เปิดตัว 4 โครงการซอฟต์แวร์พื้นฐาน มุ่งกระจายความหลากหลายสู่อุตสาหกรรมการประมวลผล

หัวเว่ย จัดการประชุม Computing Industry Basic Software Summit ที่นครเซี่ยงไฮ้ เพื่อนำเสนอความสำเร็จที่เกิดขึ้นหลังการเปิดตัวโครงการซอฟต์แวร์พื้นฐานแบบโอเพ่นซอร์ส ได้แก่ openEuler, openGauss, openLooKeng และ MindSpore ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศพื้นฐาน

Jiang Dayong รองประธานธุรกิจ Huawei Kunpeng Computing Business ขึ้นกล่าวบนเวที

 

Jiang Dayong รองประธาน Huawei Kunpeng Computing Business ได้เปิดตัวกลยุทธ์ซอฟต์แวร์พื้นฐานของหัวเว่ย ซึ่งครอบคลุมนวัตกรรมแบบฟูลสแต็ก (full-stack) ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ตลอดจนอธิบายว่า แนวทางแบบโอเพ่นซอร์สจะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานไปข้างหน้าได้อย่างไร

เปิดตัว 4 โครงการซอฟต์แวร์พื้นฐาน มุ่งขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของชุมชนโอเพ่นซอร์ส

โดยในขณะที่ฮาร์ดแวร์เป็นพื้นฐานสำหรับพลังการประมวลผล ซอฟต์แวร์พื้นฐานก็จะทำหน้าที่ปลดปล่อยศักยภาพ และซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันจะช่วยสร้างคุณค่าที่จับต้องได้สำหรับผู้ใช้งาน การสร้างสรรค์นวัตกรรมจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วเมื่อระบบมีความสอดคล้องกันทั้งวงจร ไม่ว่าจะเป็นผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์ ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์พื้นฐาน ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน ผู้พัฒนาระบบ  ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และผู้ใช้งาน

ซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส ถือเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ระบบนิเวศการประมวลผลของหัวเว่ย บริษัทให้คุณค่ากับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส รวมถึงการสนับสนุนจากหุ้นส่วน หัวเว่ยเป็นผู้นำแผนริเริ่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับโอเพ่นซอร์ส ตลอดจนสนับสนุนหุ้นส่วนธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมระบบนิเวศซอฟต์แวร์เชิงเทคนิคด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ต่อเนื่อง

ในแง่ของการมีส่วนร่วมของชุมชน หัวเว่ยเป็นอันดับที่ 2 ของโลกในการเปิดตัว Linux Kernel 5.8 โดยหัวเว่ยเป็นผู้นำในโครงการโอเพ่นซอร์ส 4 โครงการ ได้แก่ openEuler, openGauss, openLooKeng และ MindSpore และประสบความสำเร็จในการผนวกรวมอย่างต่อเนื่องเข้ากับชุมชนกระแสหลักมากกว่า 40 แห่ง การมีส่วนสนับสนุนชุมชนเหล่านี้เพื่อสร้างสถานการณ์การใช้งานกระแสหลัก ทำให้หัวเว่ยสามารถขับเคลื่อนชุมชนหลักถึง 80% เพื่อมอบการสนับสนุนให้แก่ Kunpeng ด้วยเหตุนี้ นักพัฒนา ARM จึงสามารถใช้ส่วนประกอบโอเพ่นซอร์สเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งการดำเนินการทั้งหลายเหล่านี้ยังช่วยสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบฟูลสแต็กด้วย

ฮาร์ดแวร์คือพื้นฐานของระบบนิเวศทั้งระบบ ขณะที่ระบบปฏิบัติการคือพื้นฐานของซอฟต์แวร์ โดย openEuler ได้เปิดตัวในรูปแบบโอเพ่นซอร์สอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2562 และได้มีการปล่อยระบบสนับสนุนระยะยาว Long-Term Support (LTS) เวอร์ชั่น 20.03 ไปเมื่อเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งหลังจากที่เปิดใช้งานมา 9 เดือน ชุมชน openEuler สามารถดึงดูดผู้ร่วมสนับสนุนมากกว่า 2,000 ราย ก่อตั้งเป็นกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ (SIGs) 70 กลุ่ม และสร้างการมีส่วนร่วมกับบริษัทมากกว่า 60 แห่งในจีน อีกทั้งบริษัทระบบปฏิบัติการรายใหญ่ที่สุดของจีน 6 รายยังได้เข้าร่วมชุมชนและเปิดตัวเวอร์ชั่นเชิงพาณิชย์ด้วย

สำหรับเวอร์ชั่นนวัตกรรม openEuler 20.09 ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ก.ย. 2563 ประกอบด้วยฟีเจอร์ 1+8 ได้แก่ 1 แกนหลัก และ 8 โครงการนวัตกรรม ประกอบด้วย multi-core acceleration, iSula2.0 lightweight VM, StratoVirt cloud native container, BiSheng JDK, Compass CI, A-Tune intelligent turning tool, UKUI desktop, โครงข่ายประมวลผลแม่นยำ secGear และสถาปัตยกรรมการวัด IMA ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานแบบ 1+8 นี้ทำให้ openEuler กลายเป็นชุมชนโอเพ่นซอร์สที่มีความคึกคักมากที่สุด

ฐานข้อมูลคือหัวใจสำคัญของซอฟต์แวร์พื้นฐาน และเป็นแกนหลักของระบบธุรกิจของลูกค้า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังคงมีช่องว่างระหว่างฐานข้อมูลโอเพ่นซอร์สแบบดั้งเดิม กับความคาดหวังด้านการใช้งานขององค์กรในด้านประสิทธิภาพ การเข้าถึงได้ และความปลอดภัย

openGauss ของหัวเว่ยมีความพร้อมในการเป็นฐานข้อมูลโอเพ่นซอร์สระดับองค์กร หัวเว่ยทำงานร่วมกับหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดเพื่อปล่อยเวอร์ชั่นเชิงพาณิชย์ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้าอุตสาหกรรมในด้านประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และการบวนการทางธุรกิจแบบหลอมรวม openGauss เปิดตัวเป็นโอเพ่นซอร์สอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยเน้นการยกระดับประสิทธิภาพสำหรับ Kunpeng การใช้งานเซิร์ฟเวอร์ 2-socket ของ Kunpeng ทำให้ openGauss สามารถส่งมอบข้อมูลได้สูงถึง 1.5 ล้าน tpmC ซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์กระแสหลักที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมถึง 50% และในเวลาเพียง 3 เดือน มีหุ้นส่วนจำนวน 6 รายเปิดตัว openGauss เชิงพาณิชย์แล้ว อีกทั้งยังช่วยผลักดันการใช้งาน openGauss ในเชิงพาณิชย์ด้วย

openLooKeng มีเป้าหมายที่การขับเคลื่อนการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยความเรียบง่าย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าผ่านการใช้ฐานข้อมูลได้อย่างสะดวก โดยหัวเว่ยจะยังคงสานต่อการสร้างเอ็นจินที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว ระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง และความน่าเชื่อถือในระดับสูง

openLooKeng 1.0 ถูกปล่อยให้ชุมชนใช้งานเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563 โดยมีการใช้ชุดคำสั่งข้ามซอร์สและข้ามโดเมนแบบอินเทอร์แอททีฟ, Virtual Data Marts (VDM) และชุดคำสั่งข้อมูลที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ openLooKeng 1.0 ยังรองรับการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนหลายแสนล้านชุดได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที และทำการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนหลายแสนล้านชุดร่วมกันผ่านศูนย์ข้อมูลหลายแห่งได้

 

สร้างระบบนิเวศซอฟต์แวร์พื้นฐานที่สมบูรณ์ พร้อมบ่มเพาะยอดฝีมือ

เพื่อเร่งการสร้างระบบนิเวศให้เร็วขึ้น หัวเว่ยจะให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ได้แก่ การเรียนรู้ การสร้าง และการออกสู่ตลาด เพื่อช่วยหุ้นส่วนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งหลังจากที่ดำเนินการมา 1 ปี หัวเว่ยมีหุ้นส่วน ISV มากกว่า 1,000 ราย และโซลูชันกว่า 3,000 โซลูชันในด้านการประมวลผล

หุ้นส่วนและนักพัฒนาถือเป็นเสาหลักของระบบนิเวศ ขณะที่บุคลากรที่มีความสามารถถือเป็นอนาคตของระบบนิเวศ หัวเว่ยจึงได้จับมือกับมหาวิทยาลัยชิงหวาเพื่อเปิดตัวหนังสือเทคนิค openEuler และ openGauss เพื่อสร้างความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการและฐานข้อมูลในคอร์สระดับมหาวิทยาลัย โดยในอนาคต มหาวิทยาลัยฟู่ตั่น มหาวิทยาลัยถงจี้ มหาวิทยาลัยวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีหัวจง และมหาวิทยาอื่นๆ อีก 10 แห่ง จะเปิดสอนวิชาที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังได้มีการออกรายงานเชิงเทคนิคของ openEuler เวอร์ชั่น 20.09 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเปิดเผยถึงซึ่งฟีเจอร์และโครงการใหม่ๆ ของเวอร์ชั่น 20.09 และจะมีการเปิดตัวโครงการรับรอง openEuler อย่างเป็นทางการในเดือนต.ค.นี้ พร้อมใบรับรอง HCIA ชุดแรกจำนวน 30 ใบ

ที่งานนี้ Du Kunping ผู้จัดการทั่วไปธุรกิจ Cloud & AI Open Source Business ของหัวเว่ย ร่วมด้วยเหล่าผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากวงการวิชาการ สื่อ และพาณิชย์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระบบแบบโอเพ่นซอร์สกับธุรกิจ

Wu Qingbo หนึ่งในแขกรับเชิญพิเศษ เชื่อว่า โอเพ่นซอร์สและธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน โดยในแง่ของการศึกษานั้น แนวคิดเรื่องโอเพ่นซอร์สคือแนวทางที่ดีที่สุด เพราะให้ทั้งอิสรภาพและความเท่าเทียม

Jiang Tao ผู้ก่อตั้ง CSDN กล่าวว่า ธุรกิจจะไม่ขัดขวางการพัฒนาโอเพ่นซอร์ส แต่กลับจะช่วยสนับสนุน โดยธุรกิจที่สนับสนุนโอเพ่นซอร์สจึงจะเป็นโอเพ่นซอร์สที่แท้จริง

Han Qing แขกรับเชิญอีกท่านหนึ่งมองว่า การที่โครงการโอเพ่นซอร์สจะประสบความสำเร็จได้ ขั้นแรกต้องสร้างคุณค่า สร้างผลเชิงบวกต่อสังคม หามูลค่าเพิ่มในโครงการโอเพ่นซอร์ส และจากนั้นจึงสร้างผลรวมผ่านการมีส่วนร่วมด้านธุรกิจ เพื่อความสำเร็จของธุรกิจ

Du Junping กล่าวสรุปว่า โอเพ่นซอร์สเปิดทางให้องค์กรและบุคคลสามารถสร้างนวัตกรรมและคุณค่าในอุตสาหกรรม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง เท่าเทียม โปร่งใส และปลอดภัย

ด้วยแรงบันดาลใจจากแนวคิดในการสร้างระบบนิเวศซอฟต์แวร์พื้นฐานแบบโอเพ่นซอร์สที่ยั่งยืนของทุกคน โดยทุกคน เพื่อทุกคน หัวเว่ยจึงยินดีต้อนรับหุ้นส่วน นักพัฒนา และผู้ที่สนใจให้เข้าร่วมในอุตสาหกรรมการประมวลผล และจับมือกันเพื่อนำพลังแห่งการประมวลผลที่หลากหลายมาสู่ระบบนิเวศระดับโลก เพื่อความสำเร็จร่วมกัน

 

About Maylada

Check Also

Microsoft เผยนักพัฒนาระบบ 18,000 คนที่ Infosys เขียนโค้ด 7 ล้านบรรทัดด้วย GitHub Copilot

จากงาน Building AI Companions for India ทาง President แห่ง Microsoft อินเดียและเอเชียใต้ คุณ Puneet Chandok เผยว่า …

Python โค่น JavaScript ชิงบัลลังก์ภาษายอดนิยมบน GitHub

รายงาน State of the Octoverse ล่าสุดโดย GitHub ระบุว่า Python ได้แซงหน้า JavaScript กลายเป็นภาษาโปรแกรมที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดบนแพลตฟอร์มแล้ว และความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกขับเคลื่อนด้วยการเจริญเติบโตของโครงการ Gen AI