Cloudbleed: พิมพ์โค้ดผิดจุดเดียว กลายเป็นช่องโหว่เผยข้อมูลกว่าล้านเว็บไซต์ที่อยู่หลัง Cloudflare

Tavis Ormandy นักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยจาก Google Project Zero ออกมาเปิดเผยถึงช่องโหว่ Buffer Overflow บน CloudFlare ผู้ให้บริการ CDN และ Web Security ชื่อดัง ซึ่งช่วยให้แฮ็คเกอร์สามารถขโมยข้อมูลสำคัญของเว็บไซต์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น Passwords, Cookies และ Tokens ที่ใช้ในการพิสูจน์ตัวตนออกไปได้ โดยเรียกช่องโหว่นี้ว่า Cloudbleed

CloudFlare ทำหน้าที่เสมือนเป็น Proxy สำหรับทำ Caching ระหว่างผู้ใช้และ Web Server โดยเซิร์ฟเวอร์ของ CloudFlare หรือที่เรียกว่า Edge Server จะกระจายตัวอยู่ทั่วโลกเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระจำนวนคำร้องขอที่ถูกส่งไปยัง Web Server จริง ซึ่งคำร้องขอเหล่านี้จะถูกประมวลผลและตรวจสอบภัยคุกคามบนเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงปลอดภัยให้ถึงขีดสุด ปัจจุบันนี้ CloudFlare ดูแลเว็บไซต์มากกว่า 5.5 ล้านไซต์ทั่วโลก

ช่องโหว่ Buffer Overflow ที่ทำให้ข้อมูลบนหน่วยความจำรั่วไหลสู่ภายนอก

Cloudbleed เป็นช่องโหว่ Buffer Overflow บน Edge Server ที่ Ormandy ค้นพบเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งช่วยให้แฮ็คเกอร์สามารถขโมยข้อมูลสำคัญที่อยู่ในหน่วยความจำของเซิร์ฟเวอร์ ไม่ว่าจะเป็น Private Session Keys, HTTP Cookies, Authentication Tokens และ HTTP Post Bodies ซึ่งข้อมูลเหล่านี้บางส่วนถูกแคชโดย Search Engine เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว

สาเหตุมาจากการพิมพ์โค้ดผิด 1 ตัวอักษร

จากการตรวจสอบของ CloudFlare พบว่า สาเหตุของปัญหา Buffer Overflow นี้มาจากการพิมพ์โค้ดในส่วนของ HTML Parser ซึ่งเป็นโมดูลที่ใช้อ่านซอร์สโค้ดของเว็บไซต์ และส่งต่อไปยังโมดูลอื่นเพื่อให้เขียนข้อมูลทับตามที่ผู้ใช้บริการกำหนด พลาดไป 1 ตัวอักษร คือจาก “==” ไปเป็น “>=” ซึ่งปกติแล้วไม่น่าเป็นประเด็นอะไรเนื่องจากโปรแกรมเมอร์หลายคนพิมพ์แบบหลังเมื่อทำการตรวจสอบเงื่อนไขบางอย่าง อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ CloudFlare การพิมพ์โค้ดเพื่อตรวจสอบเงื่อนไขแบบนั้นกลับทำให้เกิด Buffer Overflow ขึ้น ส่งผลให้ข้อมูลบางส่วนบนหน่วยความจำหลุดรั่วออกไปกับคำร้องของ HTTP จากผู้ใช้

CloudFlare ระบุว่า ปัญหานี้จะเกิดเฉพาะกับผู้ใช้บริการที่มีการตั้งค่า Email Obfuscation และ Automatic HTTPS Rewrites บนบัญชีของตน

ช่องโหว่อายุนานกว่า 5 เดือน

หลังจากตรวจสอบโดยละเอียด CloudFlare เปิดเผยว่า การพิมพ์โค้ดพลาดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2016 ที่ HTML Parser เริ่มเปิดใช้บริการ ซึ่ง CloudFlare จัดการแก้ไขปัญหาเรียบร้อยในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2017 หลังจากที่ได้รับรายงานจาก Ormandy

“ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือตั้งแต่ 13 ถึง 18 กุมภาพันธ์ ซึ่งประมาณ 1 คำร้องจากทุกๆ 3,300,000 คำร้อง HTTP มายัง CloudFlare อาจก่อให้เกิดข้อมูลจากหน่วยความจำรั่วไหลออกไปได้ (คิดเป็นประมาณ 0.00003% ของคำร้องขอทั้งหมด)” — John Graham-Cumming CTO ของ CloudFlare ระบุ

เริ่มแก้ปัญหาหลังทราบเรื่องเพียง 47 นาที

อย่างไรก็ตาม CloudFlare ได้ทำการตรวจสอบและดำเนินการหยุดการทำงานของ Email Obfuscation ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ภายในเวลาเพียง 47 นาที หลังทราบถึงช่องโหว่จาก Ormandy ตามด้วยยกเลิกการทำงานของ Automatic HTTPS Rewrites ไม่นานหลังจากนั้น

ผ่านไป 6 ชั่วโมง CloudFlare ก็ทราบถึงต้นตอสาเหตุหลักของช่องโหว่ Buffer Overflow ที่มาจากการพิมพ์โค้ดพลาด และดำเนินการแก้ไข รวมไปถึงติดต่อกับ Search Engines หลายรายเพื่อให้ช่วยลบข้อมูลที่ถูก Cache บนเซิร์ฟเวอร์ออกไป

เราควรรับมือกับ Cloudbleed อย่างไร

ทั้ง Ormandy, CloudFlare และนักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยท่านอื่นต่างไม่แน่ใจว่ามีใครเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูลจากช่องโหว่ Cloudbleed นี้ออกไปหรือไม่ แต่หลายคนเชื่อว่า Crawlers ต่างๆ ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล และผู้ใช้ก็ได้ทำการ Cache ข้อมูลบางส่วนเอาไว้โดยที่ตัวเองก็อาจไม่รู้ตัว

ดังนั้นแนะนำให้ผู้ใช้บริการออนไลน์ทุกคนเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ทั้งหมด และคอยติดตามบัญชีออนไลน์อย่างใกล้ชิดว่ามีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่ สำหรับผู้ใช้บริการ CloudFlare แนะนำให้ทำการบังคับให้ผู้ใช้ทำการเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต

ที่มาและเครดิตรูปภาพ: https://www.bleepingcomputer.com/news/security/typo-in-cloudflare-server-source-code-leaks-customer-info-cookies-passwords/

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

แฮ็กเกอร์หน้าใหม่ ใจดีแจกฟรี FortiGate VPN Credential ของ 15,000 อุปกรณ์

Belsen Group กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่เพิ่งปรากฏชื่อขึ้นในสื่อต่างๆ กำลังเรียกร้องความสนใจด้วยการแจกฟรีไฟล์ข้อมูลของ FortiGate ราว 15,000 อุปกรณ์ใน Dark Web ที่ภายในประกอบด้วย IP Address, VPN Credential …

Yip In Tsoi พาส่องภาพรวมปัญหาความปลอดภัยจากไซเบอร์ จากข้อมูลสู่ Cyber Physical System และการปรับตัวในการใช้ AI ให้ปลอดภัย [PR]

เมื่อภูมิทัศน์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์มีความซับซ้อน สุ่มเสี่ยงให้เกิดความเสียหายในวงกว้างมากขึ้น จำเป็นที่องค์กรต้องตระหนักถึงความท้าทายดังกล่าว เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และมุมมองด้านความปลอดภัยให้ครบองค์ประกอบ T2P ได้แก่ คน (People) กระบวนการ (Process) และเทคโนโลยี (Technology)