CDIC 2023

Cisco CIS กับเทคโนโลยี Data Virtualization ที่จะเปลี่ยนแปลงการวิเคราะห์ข้อมูลในทุกภาคอุตสาหกรรม ให้ทำได้ง่าย รวดเร็ว และยืดหยุ่นสูงสุด

cisco_logo_2

เมื่อไม่นานมานี้ ทางทีมงาน TechTalkThai ได้รับเกียรติให้ไปสัมภาษณ์พิเศษคุณ Jim Green ผู้ดำรงตำแหน่ง CTO for Cisco’s Data Analytics Business แห่งบริษัท Cisco ที่มาเยือนประเทศไทยเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งทางคุณ Jim Green ก็ได้ใช้เวลากับทีมงานในการอธิบายแนวคิดและเทคโนโลยีพอสมควรเหมือนกัน เพราะในมุมคนสาย Enterprise IT อย่างเราๆ การที่ Cisco เข้ามาในตลาด Data Analytics นี้ก็ถือว่าน่าประหลาดใจและน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ที่สำคัญคือ Cisco เองก็ตั้งใจว่าจะเริ่มพัฒนาตลาดนี้ในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ทางทีมงาน TechTalkThai ก็ขอสรุปรายละเอียดต่างๆ จากข้อมูลที่ได้สัมภาษณ์มา ร่วมกับข้อมูลที่ไป Research เพิ่มเติมมาดังนี้ครับ

techtalkthai_data_sectors

ทำไม Cisco ถึงเริ่มขยายธุรกิจทางด้าน Data Analytics?

cisco_data_virtualization_platform_architecture

ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2013 Cisco ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท Composite Software ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี Data Virtualization เนื่องจาก Cisco เล็งเห็นแล้วว่าตลาดของ Data Warehousing กำลังต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบรับการมาของ Big Data, Data Analytics และ Mobile Computing ที่กำลังเติบโตนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ Cisco มีอยู่แล้วก็คือเทคโนโลยีทางด้าน Networking ที่ทุกท่านคงจะรู้จักกันดี, เทคโนโลยีทางด้าน Security ที่มีอยู่เดิม และได้ซื้อกิจการของ Sourcefire เป็นลำดับถัดมาในวันที่ 7 ตุลาคม 2013, เทคโนโลยีทางด้าน Server อย่าง Cisco UCS ซึงเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคมปี 2009 และระบบ All Flash Array อย่าง Cisco UCS Invicta จากการเข้าซื้อกิจการของ Whiptail เมื่อเดือนกันยายนปี 2013 ก็เรียกได้ว่า Cisco มีพร้อมทั้ง Network และ Systems แล้ว เหลือเพียงระดับของ Software เท่านั้นที่ยังขาดอยู่ ทำให้การเข้าซื้อกิจการของ Software เพื่อเสริมทัพระบบ Analytics ดูสมเหตุสมผลขึ้นมาทีเดียว

นอกจากนี้ ทาง Cisco เองก็ยังมองข้ามไปถึงอนาคตของการทำ Big Data ที่ Cisco เชื่อว่าข้อมูลทั้งหมดจะสามารถนำมาวิเคราะห์ให้เกิดคุณค่าอย่างแท้จริงได้นั้น ก็ต่อเมื่อข้อมูลทีนำมาวิเคราะห์ประกอบด้วยข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ใน Database หรือรูปแบบอื่นๆ ผสมกับข้อมูล Stream ที่มาแบบ Real-Time ตามแนวคิดของ Data Lake ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะนี้ได้ก็จะตอบโจทย์ยาวไปถึงโลกของ Internet of Things (IoT) อีกด้วย

สิ่งที่ Cisco มองว่ามีคุณค่ามากๆ ในบริษัท Composite Software ก็คือเทคโนโลยีในการทำ Data Virtualization ที่จะช่วยให้ภาพของระบบ Data Analytics ในอนาคตของ Cisco เป็นจริงขึ้นมาได้ ด้วยความสามารถในการนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว และสามารถลดปริมาณข้อมูลที่ต้องประมวลผลได้ เพื่อให้องค์กรสามารถนำ Resource ที่เหลือไปมุ่งเน้นกับการประมวลผลข้อมูลเท่าที่จำเป็น และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

Data Virtualization คืออะไร?

cisco_cis_data_federation

คำว่า Data Virtualization นี้ก็ถือว่าเป็นศัพท์เฉพาะที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เพราะบริษัท Composite Software ที่ถูกซื้อมาและถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Cisco Information Server หรือ CIS เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาและพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี

ถ้าอธิบายสั้นๆ ในเชิงธุรกิจ Data Virtualization คือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้องค์กรสามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาใช้งานแบบศูนย์กลางได้ หรือเรียกว่าการทำ Data Integration โดยไม่ต้องทำ Data Warehouse หรือ Big Data ในขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานของระบบนี้ก็จะต้องมีความรวดเร็วสูง สามารถตอบโจทย์การวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูล หรือแหล่งข้อมูลที่หลากหลายได้จากศูนย์กลาง ทำให้องค์กรสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดาย และยืดหยุ่น โดยประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการทำ Data Warehouse หรือ Big Data นั่นเอง

cisco_cis_data_services

ในมุมมองเชิงเทคนิค สิ่งที่ Data Virtualization ทำ ก็คือระบบ Query Engine ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากทุกฐานข้อมูลและทุกแหล่งข้อมูลได้ และแปลงให้ข้อมูลที่กระจัดกระจายเหล่านั้นสามารถถูก Query ขึ้นมาใช้งานพร้อมๆ กันได้เสมือนถูกจัดเก็บอยู่ในฐานข้อมูลเดียว ทั้งในรูปแบบของ SQL, Web Services, Messaging หรือ Hadoop รวมถึงระบบฐานข้อมูลสำหรับระบบ ERP ชั้นนำอย่าง SAP เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถพัฒนา Analytic Software หรือ Front-end Application สำหรับตอบโจทย์การวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างอิสระ และยังมีความรวดเร็วในระดับเดียวกับการ Query SQL Database ด้วย Query Optmization Algorithm หลากหลาย ผสมกับเทคนิคต่างๆ เช่น การทำ Caching เพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นมีความเร็วสูงสุด และส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบ Production ทั้งหมดน้อยทีสุดไปพร้อมๆ กันด้วย

Data Virtualization ต่างจาก Big Data อย่างไร?

cisco_cis_high_performance_query_engine

ในมุมมองของการวิเคราะห์ข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่แตกต่างกันมากนักสำหรับระบบ Data Virtualization และ Big Data แต่ในมุมมองของการ Deploy ระบบวิเคราะห์ข้อมูลนั้น การทำ Big Data จะต้องมีการ Migrate ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาจัดเก็บรวมกันแบบศูนย์กลางภายในระบบ Big Data ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมดเหล่านั้นมาวิเคราะห์ ในขณะที่การทำ Data Virtualization จะทำให้องค์กรสามารถข้ามขั้นตอนเหล่านี้ไปได้ทั้งหมดเลย ด้วยการใช้ Resource เดิมที่มีอยู่ ร่วมกับระบบ Data Virtualization เพื่อ Query ข้อมูลจากฐานข้อมูลและแหล่งข้อมูลเดิมทั้งหมดแทน

cisco_data_virtualization_caches

สิ่งที่ทำให้ Cisco มั่นใจว่า Data Virtualization จะสามารถช่วยองค์กรได้ นอกจากความรวดเร็วที่จะทำให้แต่ละองค์กรสามารถไปถึงเป้าหมายในการทำ Enterprise Data Analytics ได้ทันเวลาของตลาดแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังช่วยองค์กรลดการลงทุนทางด้าน Infrastructure ลงอย่างมหาศาล เพราะองค์กรที่ต้องการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากในระดับของ Big Data Analtyics ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนกับระบบ Storage ขนาดใหญ่มากอีกต่อไป และลดค่าใช้จ่ายในการ Migrate หรือ Transform ข้อมูลทั้งหมดออกไปได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับบางกรณีที่จำเป็นจะต้องใช้ Big Data การทำ Data Virtualization ควบคู่ไปด้วย ก็จะช่วยเพิ่มความเร็วทั้งภาพรวมของโครงการ และความเร็วในการ Query ข้อมูลให้สูงขึ้น ด้วยการทำให้องค์กรเลือกนำเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นไปเก็บในระบบ Big Data เท่านั้น และการใช้งานระบบฐานข้อมูลที่มีอยู่ ร่วมกับ Big Data ผ่านการ Query จากศูนย์กลางก็จะทำได้อย่างง่ายดาย

Data Virtualization เหมาะกับใคร?

สำหรับองค์กรที่ยังมีข้อมูลจำนวนไม่มากนัก Data Virtualization อาจจะยังไม่จำเป็น แต่สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีแผนจะทำระบบ Enterprise Data Analytics นั้น Data Virtualization ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ควรศึกษาและพิจารณาควบคู่ไปกับการทำ Big Data เพื่อดูว่าระบบที่ต้องการนั้น เหมาะกับการใช้ Data Virtualization เป็นหลัก หรือเหมาะกับการใช้ Big Data เป็นหลัก หรือเหมาะกับการใช้ทั้งสองเทคโนโลยีควบคู่กันไป โดยสรุปแล้ว Data Virtualization จะมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • สามารถรวมฐานข้อมูลและแหล่งข้อมูลหลากหลาย ให้ Query จากศูนย์กลางด้วยวิธีการที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย
  • สามารถใช้งานข้อมูลจากหลายแหล่งได้แบบ Real-time โดยไม่ต้องเสียเวลาทำการ Migrate หรือ Transform ข้อมูล
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากได้ด้วยความเร็วสูง
  • รองรับการนำไปใช้งานได้หลากหลาย
  • สามารถกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายระดับสำหรับผู้ใช้งานแต่ละคนได้
  • มีระบบ Self Service ทำให้ผู้ที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว
  • รองรับการเพิ่มขยายระบบให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ตามต้องการ

ทั้งนี้ในมุมมองของ Cisco เองนั้น ไม่ว่าปลายทางแล้วองค์กรต่างๆ จะเลือกใช้ Data Virtualization หรือ Big Data ก็ตาม ทาง Cisco ก็พร้อมจะตอบรับทั้งสองความต้องการด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ และวิศวกรมากประสบการณ์

Cisco Information Server (CIS) กับประสบการณ์ในการทำ Data Virtualization กว่า 10 ปี

ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี Data Virtualization มาต่อเนื่องเกินกว่า 10 ปี ทาง Cisco CIS หรืออดีต Composite Software นั้นก็ได้ผ่านยุคสมัยของการจัดเก็บข้อมูลสำหรับองค์กรโดยเฉพาะมาตั้งแต่แรกเริ่ม และแก้ปัญหาของการมีแหล่งข้อมูลหลากหลายมายาวนาน เริ่มต้นจาก

  • เมื่อองค์กรมีหลาย Database แยกสำหรับแต่ละระบบที่แตกต่างกัน Data Virtualization ก็เป็นตัวกลางสำหรับอ่านข้อมูลจากหลายฐานข้อมูล
  • เมื่อองค์กรเริ่มมีแนวคิดการทำ Data Warehouse ทาง Data Virtualization ก็ช่วยให้องค์กรประมวลผลข้อมูลของระบบ Production Database ร่วมกับ Data Warehouse ได้
  • เมื่อองค์กรมีการนำ XML มาใช้ในการทำ Web Service ทาง Data Virtualization ก็มีบทบาทในการรวม Web Service เข้ากับ Data Warehouse และ Database
  • เมื่อยุคสมัยของ Cloud มาถึง Data Virtualization ก็เป็นตัวกลางในการนำข้อมูลจาก Cloud กับ On-Premise Data Center มารวมกัน
  • เมื่อถึงการมาของ Big Data กับ Hadoop ทาง Data Virtualization ก็นำ Hadoop มาประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ได้
  • และในอนาคต การมาของ Internet of Things ก็จะทำให้ Data Virtualization ต้องนำ Machine Data เหล่านั้นมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้าที่ Cisco จะเข้าซื้อกิจการของ Composite Software ทาง Composite Software เองก็ถือว่าเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ในการทำ Data Integration เพื่อรองรับการทำ Data Analytics มาโดยเฉพาะ และหลังจากที่ Cisco ได้เข้าซื้อกิจการของ Composite Software และกลายเป็น Cisco CIS ไปนั้น กิจการของ Cisco CIS ก็มีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี ปีละ 50% แม้จะเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกามีปัญหาทางเศรษฐกิจ และด้วย Channel ของ Cisco เอง ก็ทำให้ Cisco CIS พร้อมขยายตลาดออกมาทั่วโลก ด้วยยอดขายอันดับ 1 สำหรับระบบ Data Integration อีกทั้งยังมีฐานลูกค้าเกือบ 200 องค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งมีองค์กรชื่อดังมากมาย และสถาบันการเงินที่คุ้นหูกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงในไทยเองก็มีธนาคารที่ได้นำระบบของ Cisco CIS ขึ้นใช้งานแล้ว

จะเห็นได้ว่าการซื้อกิจการของ Composite Software ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเข้าซื้อเพียงเพื่อเทคโนโลยี แต่ยังรวมไปถึงทีมงานและประสบการณ์ในวงการ Data Analytics อย่างเข้มข้นอีกด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรองรับทั้งตลาดของ Enterprise Data Analytics, Big Data และ Internet of Things นั่นเอง

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อ Partner หลักสำหรับระบบ Cisco Information Server ในประเทศไทยได้สองราย ได้แก่ G-Able และ MFEC ได้เลยครับ

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทาง Cisco และคุณ Jim Green ผู้เป็น CTO ของ Cisco ที่ให้เกียรติและอุตส่าห์สละเวลาอันมีค่าให้ทีมงาน TechTalkThai ได้ทำการพูดคุยเชิงลึกด้วยครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม


About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

‘ซิสโก้’ กำหนดนิยามใหม่ “การป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์” ด้วยพอร์ตฟอลิโอ AI ที่หลากหลายและทรงพลัง [Guest Post]

ซิสโก้ ผู้นำด้านระบบเครือข่ายและการรักษาความปลอดภัยระดับองค์กร เปิดตัว Cisco AI Assistant for Security ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการทำให้ AI แพร่หลายใน Security Cloud, Unified ของซิสโก้, …

Sangfor Access Secure ทะยานติดอันดับ Frost & Sullivan Frost Radar for SASE 2023

Sangfor Access Secure ได้ทะยานขึ้นสู่การจัดอันดับของ Frost & Sullivan Frost Radar for SASE 2023 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว