Software-defined WAN (SD-WAN) เป็นเทคโนโลยีด้านการเชื่อมต่อความมั่นคงปลอดภัยสูงบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งกำลังเป็นที่น่าจับตามองในยุค Digital Transformation ด้วยคุณสมบัติด้านความง่ายในการบริหารจัดการ และความมั่นคงปลอดภัยที่สูงในขณะที่ต้นทุนต่ำ ทำให้หลายองค์กรเริ่มนำ SD-WAN เข้ามาศึกษาและใช้งาน ไม่เว้นแม้แต่แผน Smart Nation ของสิงคโปร์
บทความนี้ Silver Peak ผู้ให้บริการโซลูชัน SD-WAN ชั้นนำ ได้ออกมาตีแผ่เรื่องราวการสร้างเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยสูงในแผนยุทธศาสตร์ “Smart Nation” ของประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการนำเทคโนโลยี SD-WAN เข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเชิงธุรกิจภายใต้นโยบาย Thailand 4.0
เกริ่นนำเกี่ยวกับ Smart Nation สักเล็กน้อย
Smart Nation (หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Smart City) เริ่มต้นเมื่อปี 2014 โดยนายกรัฐมนตรี Lee Hsien Loong ของสิงคโปร์ได้ประกาศเป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มีการนำเทคโนโลยีทางด้าน IT เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น ระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ ระบบไฟอัจฉริยะ หรือถังขยะอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และทำให้ประชาชนสามารถอาศัยอยู่บนเกาะสิงคโปร์ได้อย่างมีความสุข
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีทางด้าน IT เข้ามาใช้งานจำเป็นต้องมีการสร้างเครือข่ายและรับส่งข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินชีวิตของประชาชน ส่งผลให้ประเด็นด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ถูกหยิบยกขึ้นมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำมาพิจารณา ซึ่งประเด็นที่ถูกวางไว้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือความมั่นคงปลอดภัยของเทคโนโลยีที่ใช้และการเชื่อมต่อระหว่างกัน
สร้างเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยสูงสำหรับ Smart Nation ด้วย SD-WAN
เพื่อให้การติดต่อสื่อสารและรับส่งข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ ทั่วเกาะสิงคโปร์มีความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยี SD-WAN ได้ถูกนำมาศึกษาและพิจารณา ซึ่งสามารถสรุปประโยชน์ของการใช้ SD-WAN ที่มีแผน Smart Nation ได้ ดังนี้
1. ข้อมูลถูกเข้ารหัสอย่างมั่นคงปลอดภัยในราคาที่ต่ำกว่า
SD-WAN ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมต่อหากันอย่างมั่นคงปลอดภัยผ่านเครือข่ายบรอดแบนด์ซึ่งมีราคาถูก แทนที่จะต้องลงทุนเพื่อเชื่อมต่อผ่านทางเครือข่าย MPLS ซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันในการเข้ารหัสข้อมูลซึ่งช่วยให้ข้อมูลสำคัญไม่หลุดออกไปสู่ภายนอกกรณีที่ระบบเครือข่ายถูกเจาะ
2. สนับสนุนการใช้บริการบนระบบ Cloud อย่างยืดหยุ่น
สามารถปรับแต่งการตั้งค่าของเครือข่าย SD-WAN ได้ในรายละเอียดเชิงลึก ซึ่งช่วยให้ SD-WAN สามารถทำงานสอดคล้องกับ Cloud Applications และนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยขององค์กรได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังสามารถผสานการทำงานร่วมกับ Secure Network Gateway และ Firewall เพื่อเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยให้ถึงขีดสุดได้อีกด้วย
3. วางระบบเชื่อมต่อกับหน่วยงานสาขาได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจาก Smart Nation ก่อให้เกิดการกระจายการปฏิบัติงานขององค์กรออกจากศูนย์กลาง แต่สำนักงานสาขายังคงต้องมีมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยตามที่องค์กรกำหนด ซึ่งเทคโนโลยี SD-WAN สามารถช่วยวางระบบบริการต่างๆ เช่น VPN, Firewall, Network Optimization โดยอาศัยคุณสมบัติ Network Functions Virtualization (NFV) ได้ทันที ส่งผลให้สามารถวางระบบเครือข่ายและความมั่นคงปลอดภัยแก่สำนักงานสาขาได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงปลอดภัย ไม่ว่าสำนักงานสาขาเหล่านั้นจะอยู่ที่ใดก็ตาม
4. สอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับ
ในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น สาธารณสุข สถาบันการเงิน หรือค้าปลีก จำเป็นต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานหรือข้อบังคับด้านความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ เช่น PCI-DSS, HIPAA, SOX ซึ่ง SD-WAN สามารถเข้ามาสนับสนุนองค์กรด้วยการสร้างเครือข่ายแบบเสมือนบนระบบเครือข่ายจริง (Virtual Network over the Current Network) เพื่อแยกการส่งข้อมูลแอพพลิเคชันที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยตามกฏระเบียบและข้อบังคับออกจากมา โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากมาลงทุนเพื่อสร้างระบบเครือข่ายขึ้นมาใหม่เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยเฉพาะ
5. แบ่งระบบเครือข่ายเพื่อวางนโยบายกำกับดูแลได้ง่าย
การแบ่งระบบเครือข่ายออกเป็นส่วนๆ เพื่อจัดทำนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเครือข่ายแบบ MPLS แต่ด้วยคุณสมบัติพื้นฐานทางด้านซอฟต์แวร์ของ SD-WAN ช่วยให้องค์กรสามารถแบ่งส่วนเครือข่ายและกำหนดนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับธุรกิจขององค์กรได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังรองรับการขยายระบบในอนาคตได้อีกด้วย
จากบทความข้างต้นผู้อ่านจะได้เห็นถึงแนวคิดในการนำเทคโนโลยี SD-WAN มาใช้ โดยที่ไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายระหว่างสำนักงานเพียงอย่างเดียว การเชื่อมต่ออย่างมั่นคงปลอดภัยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ SD-WAN เข้ามาช่วยตอบโจทย์ในปัจจุบัน หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะนำไปประยุกต์ใช้กับการวางระบบขององค์กรของตนในอนาคตได้นะครับ