จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับการแข่งขัน depa GrowthLab : GenAI Hackathon powered by AWS ณ สำนักงาน AWS Thailand ในวันที่ 16 พ.ย.2024 ช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยมีทีมแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายถึง 11 ทีมที่ได้มานำเสนอสาธิตผลงานกันใน AWS Demo Day วันนี้
เรียกได้ว่าเป็นอีกงานแข่งขันที่ได้มาประชันไอเดียในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ร้อนแรงแห่งยุคอย่าง Generative AI มาแก้ไขปัญหาจริงในภาคธุรกิจที่เข้มข้นและหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหลาย ๆ ผลงานยังมีศักยภาพอย่างมากที่จะสามารถนำไปต่อยอด เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริงในอุตสาหกรรมต่อไปอีกด้วย มีไอเดียอะไรและผลลัพธ์การแข่งขันเป็นอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้
โครงการ “depa GrowthLab : GenAI Hackathon powered by AWS”
งานแข่งขัน depa GrowthLab : GenAI Hackathon powered by AWS เป็นอีกงานหนึ่งที่ได้เชิญชวนให้ทั้งบุคคลทั่วไปและนิสิตนักศึกษาได้มาประชันฝีมือ ประลองไอเดียในการแก้ไขโจทย์ปัญหาทางธุรกิจจริง ๆ ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยอย่าง Generative AI บนโครงสร้างพื้นฐานของ AWS ที่พร้อมสนับสนุนแบบครบวงจร
โดยการแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสมัครแข่งขันรวมถึง 307 ท่าน และได้รวมเป็นทีมที่ส่งเข้าแข่งขันมาถึง 22 ทีม ซึ่งแต่ละทีมได้ส่งผลงานในรอบคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อย โดยตามเงื่อนไขจะมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 10 ทีมด้วยกัน หากแต่การแข่งขันครั้งนี้ในลำดับที่ 10 นั้นมี 2 ทีมที่ได้คะแนนเท่ากัน จึงทำให้สรุปแล้วงานแข่งครั้งนี้มี 11 ทีมด้วยกันที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายและมานำเสนอผลงานใน AWS Demo Day วันนี้
“วันนี้ก็เป็นวันสุดท้ายของกิจกรรมแล้ว ที่ผ่านเราก็เห็นกันแล้วว่าแต่ละทีมนั้นตั้งใจทํากันมากแค่ไหน และเราก็ได้คัดเลือก 11 ทีมมารอบไฟนอลวันนี้” ดร.วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าว “กรรมการเห็นแล้วว่าโซลูชันของทุกคนนั้นเป็นไปได้ และน่าจะสามารถเอาไปใช้ได้จริง วันนี้ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร โซลูชันก็ยังคงมีความเป็นไปได้และมั่นใจว่าพาร์ตเนอร์ในโครงการก็ยินดีที่จะทำงานร่วมงานกันต่อ”
และในการตัดสินรอบสุดท้าย จะเป็นการตัดสินกันผ่านการ Pitch นำเสนอผลงานภายใน 5 นาที แล้วจะมีกรรมการทรงคุณวุฒิทั้งจาก AWS และจากภาคธุรกิจจริงมาสอบถามรายละเอียดอย่างเข้มข้น โดยคณะกรรมการตัดสินใจวันนี้ ได้แก่
- คุณธนวินท์ รัฐเมธา รองประธานกรรมการบริหาร Deputy CEO แห่ง บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ J-Ventures
- ดร.มนประอร ศุขรุ่งเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศองค์กร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ Bangkok Airways
- ดร.วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa
- คุณธัชณวัฒน์ พิริยธนพัทธ์ หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
- คุณฐิติมา รุ่งผาติ, Business Lead, Government Industry แห่ง Amazon Web Services
- คุณกิตติยา สงฆ์ชู, ISV Account Manager แห่ง Amazon Web Services
- คุณ Thanisorn, Solution Architect แห่ง Amazon Web Services
และที่สำคัญ ต้องขอขอบคุณ คุณนพคุณ วิศิษฏ์รัฐกุล, General Manager ในฝั่ง Cloud Business Unit แห่ง SIS Distribution (Thailand) ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักในโครงการนี้ในการใช้บริการต่าง ๆ ของ AWS ในการใช้ทำ Lab ต่าง ๆ ให้กับผู้เข้าแข่งขันในงานนี้ด้วย
ผลงานไอเดียจาก 11 ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย
เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น โดยแต่ละทีมมีเวลานำเสนอผลงานตัวต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมาภายในเวลา 5 นาที พร้อมกับต้องตอบคำถามจากคณะกรรมการทั้ง 7 ท่าน ซึ่งทั้งหมดจะมีผลต่อคะแนนการตัดสิน และผลงานของทั้ง 11 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายใน AWS Demo Day ของงาน depa GrowthLab : GenAI Hackathon powered by AWS มีดังต่อไปนี้
1. ทีม CRT-KK กับโซลูชัน KAi (ขาย) เพื่อตอบโจทย์ Jaymart
เพราะมีลูกค้าบางกลุ่มที่เข้าไปในร้านขายของอย่าง Jaymart แล้วอาจจะไม่อยากถูกฮาร์ดเซลล์ (Hard Sell) จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อรองรับกับความต้องการให้ลูกค้ากลุ่มนี้เพื่อเพิ่มยอดขายได้ดีขึ้น และช่วยสนับสนุนประสบการณ์ลูกค้าได้ดีขึ้นกว่าเดิม ทีม CRT-KK จึงเชื่อว่าตู้ Kiosk จะช่วยตอบสนองความต้องการลูกค้ากลุ่มนี้ได้และจะช่วยให้ Jaymart เพิ่มยอดขายได้มากขึ้น
ทีม CRT-KK จึงมาพร้อมกับโซลูชัน “KAi : Kiosk Machine” ที่ใช้ประโยชน์จากโมเดล Generative AI บน Amazon Bedrock ช่วยสนับสนุนในระบบหลังบ้าน เพื่อการเสนอขายแบบส่วนบุคคล (Personalized Recommendation) ผ่านแชทบอท ที่สามารถสรุปรายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่พูดคุยได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาใน Demo-Day วันนี้ด้วย ได้แก่ KAi Model ที่พูดคุยเสนอขายพร้อมส่งภาพได้ภายในแชท และ Customer Suggestion Model ที่สามารถแนะนำคำถามที่น่าจะถามให้กับผู้ใช้งานได้
2. ทีม Json กับโซลูชัน Jaychoice – Best choice for IT device เพื่อตอบโจทย์ Jaymart
จากปัญหาการซื้ออุปกรณ์ไอทีปัจจุบันนั้นเริ่มจะมีความลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่รู้ว่าอุปกรณ์ใดที่จะเหมาะกับเรากันแน่ เนื่องจากมีทางเลือกหลากหลาย รีวิวก็มีให้รับชมได้มากมายหลายเจ้าและหลายความคิดที่ทำให้ไม่รู้ว่าควรจะเชื่ออันไหนดี ไปถามที่หน้าร้านก็อาจจะข้อมูลคลาดเคลื่อนทำให้การตัดสินลำบากมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ทีม Json จึงสร้างโซลูชัน “Jaychoice” แชทบอทที่มี Amazon Bedrock อยู่เบื้องหลัง จึงทำให้ Jaychoice สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่พร้อมถามตอบเกี่ยวกับสินค้าภายในร้าน Jaymart ที่มีอุปกรณ์หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสอบถามได้ง่ายขึ้น และให้ Jaychoice แนะนำสินค้าที่ตรงกับตามความต้องการได้ทันที โดยมี 3 ฟีเจอร์เด่นที่นำเสนอวันนี้ ได้แก่
- Jay-Highlight รวบรวมรีวิวจากแหล่งต่าง ๆ มาสรุปให้เข้าใจได้ง่าย จากทั้งในเว็บไซต์หรือใน e-Commerce ต่าง ๆ แล้วนำเสนอข้อมูลผ่าน LINE ได้ทันที
- Jay-Compare โดย Jaychoice สามารถสนับสนุนข้อมูลเปรียบเทียบสินค้าให้ได้อย่างรวดเร็ว
- Jay-Expert แชทบอทที่พร้อมถามตอบได้ผ่าน LINE ที่ใช้งานได้ตลอดเวลา 24/7
3. ทีม Tourist กับโซลูชัน BKNoi – AI Chatbot เพื่อตอบโจทย์ Bangkok Airways
แม้ว่าข้อมูลสายการบินจะสามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่การเข้าถึงข้อมูลอย่างเช่น เที่ยวบินจะถึงสนามบินเมื่อไหร่ ถึงแล้วหรือยัง ก็อาจจะทำให้เสียเวลาในการหาข้อมูลพอควร และถ้าหากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนกระชั้นชิดก็อาจจะยิ่งทำให้มีอาการลนลานในการค้นหาข้อมูล
ทีม Tourist จึงมาพร้อมกับโซลูชัน “BKNoi” แชทบอท AI เพื่อช่วยตอบโจทย์ในเรื่องดังกล่าว โดยน้อง BKNoi หรือน้องมะกอกนั้นมี Amazon Bedrock อยู่เบื้องหลังที่สามารถพูดคุยตอบคำถามเรื่องสายการบินได้ผ่านแชทบอทบน LINE ได้อย่างสะดวกและให้ข้อมูลที่ละเอียดกว่า LINEBOT ที่ Bangkok Airways มี อีกทั้งยังสามารถถามเป็นภาษาธรรมชาติได้เลยว่าเที่ยวบินที่สนใจนั้นออกเดินทางกี่โมงถึงกี่โมง สภาพอากาศเป็นอย่างไร ซึ่งในอนาคตจะสามารถวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึกในการพูดคุยกับแชทบอทได้ด้วย
4. ทีม Gummy กับโซลูชัน Issue Tracking system เพื่อตอบโจทย์ Bangkok Airways
ทีม Gummy ได้หยิบปัญหาที่ลูกค้าผู้ใช้งานสายการบินใด ๆ ที่เวลามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วอาจจะไม่ได้รับการสนองในการแก้ไขปัญหาแบบทันทีทันทีใด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการจัดการกับปัญหาที่แจ้งเข้ามาเป็น Issue ก็อาจจะหลุดหายไปได้ ถ้าหากมี Issue เข้ามามากเกินที่เจ้าหน้าที่จะสนับสนุนได้
ทีม Gummy จึงสร้างโซลูชัน “Issue Tracking System” เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานเพื่อติดตามปัญหาผ่านทางแชทบอทโดยมี Generative AI สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งลูกค้าจะสามารถพูดคุยเป็นภาษาธรรมชาติ เช่น กระเป๋าหายไป ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะกลายไปเป็น Issue ที่สามารถใช้ติดตามต่อได้อย่างสะดวกว่าตอนนี้ปัญหาที่แจ้งไปนั้นสถานะใดแล้ว
5. ทีม The Global Hacker กับโซลูชัน Revolutionizing Jaymart’s Sales with Chatbot Technology เพื่อตอบโจทย์ Jaymart
เพราะปัญหาของ Jaymart ในปัจจุบันคือ LINE OA สามารถตอบสนองได้ช้า หน้าเว็บไซต์มีความซับซ้อนระดับหนึ่งโดยเฉพาะการชำระเงินที่ค่อนข้างยากลำบาก ทีม The Global Hacker จึงนำเสนอโซลูชันแชทบอทด้วย Generative AI ที่จะสนับสนุนกระบวนการขายของ Jaymart ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อช่วยเสนอขายให้ลูกค้าและทำให้ลูกค้าได้สินค้าที่ตรงความต้องการมากขึ้น
โดยแชทบอทของ The Global Hacker สามารถสนับสนุนฟีเจอร์ได้หลายส่วนไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อความที่เข้ามาผ่าน Amazon Bedrock ว่าต้องการสินค้าอะไร หรือพูดคุยเข้ามาเป็นเรื่องอะไร ซึ่งแชทบอทสามารถช่วยเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ได้ แนะนำรูปแบบการชำระเงิน (Installment Plan) ให้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ Jaymart สามารถเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น ลดต้นทุนแรงงาน สร้างภาพลักษณ์ และมีโอกาสเพิ่มยอดขายได้ดีขึ้นด้วย
6. ทีม TeamA กับโซลูชัน AChat เพื่อตอบโจทย์ Jaymart
เพราะข้อมูลองค์กรคือสินทรัพย์ ซึ่งองค์กรก็มักอยากจะให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลได้แบบ Real-Time เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แต่ทว่าองค์กรก็ไม่อยากให้ Credential ในการเข้าถึงฐานข้อมูลโดยตรงกับทุกคน และที่สำคัญคือมักจะไม่อยากเอาข้อมูลให้กับ Generative AI ไปเรียนรู้ด้วย
ทีม TeamA ออกแบบโซลูชัน “AChat” แชทบอทสำหรับการพูดคุยกับข้อมูลภายในองค์กรที่มีความเป็นส่วนบุคคล เพื่อสนับสนุนการทำงานเช่น ทีมขาย (Sale) ที่ไม่จำเป็นต้องเขียน SQL ดึงจากฐานข้อมูลโดยตรง สามารถมาพูดคุยกับแชทบอทแทนด้วยภาษาธรรมชาติได้ทันที โดยเบื้องหลังได้ใช้เทคนิค RAG และ Chain-of-thought ในการทำให้ข้อมูลมีความเป็นส่วนตัว และสามารถจำกัด Data Source ได้พร้อมกับจัดการเรื่อง Hallucination ได้ดีขึ้น
7. ทีม EIEIEIEIEI กับโซลูชัน SolMate (Business Consultancy) เพื่อตอบโจทย์ J-Ventures
หลายครั้งที่องค์กรอยากสร้างผลิตภัณฑ์แต่ก็ไม่รู้ควรจะต้องทำอะไรดี ธุรกิจ Business Consultancy จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งตลาด Consultant ยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ยังคงมีโอกาสมหาศาลในธุรกิจนี้
ทีม EIEIEIEIEI จึงเชื่อว่าโซลูชัน “SolMate” แชทบอทที่ปรึกษา AI ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะช่วยสนับสนุนให้ J-Ventures ในส่วนธุรกิจ Business Consultancy มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ J-Ventures มีเครื่องมือที่ปรึกษาที่ช่วยแนะนำโซลูชันให้กับลูกค้าได้ดีขึ้น โดยเบื้องหลังของแชทบอท SolMate คือ Amazon Bedrock ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายในปีที่ 3 อีกด้วย
8. ทีม T1 กับโซลูชัน Revolutionizing Mobile Device Sales with AI เพื่อตอบโจทย์ J-Ventures
เวลาที่คนอยากได้อุปกรณ์สักอย่างแล้วเดินไปที่หน้าร้านแต่พบกับพนักงานที่อาจจะยังแนะนำได้ไม่ดีพอ สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความไม่ประทับให้กับลูกค้าและยังทำให้ร้านสูญเสียโอกาสในการขายด้วย ปัญหาสำคัญคือพนักงานขายที่หลาย ๆ ร้านมักจะมี “Hero” ที่ทำการขายได้เป็นอย่างดี แล้วจะทำยังไงให้พนักงานขายทุกคนสามารถกลายเป็น “Hero” ของร้านได้ทั้งหมด
นี่จึงเป็นที่มาของทีม T1 ในการสร้างโซลูชัน “JWiz” ผู้ช่วย AI ที่มีเบื้องหลังคือ AI Agent หลากหลายตัวผ่านเทคนิค RAG เพื่อสนับสนุนเป็น “ตัวช่วย” ให้กับพนักงานขายทุกคน โดยมีไอเดียสร้างสรรค์ฟีเจอร์หลากหลายแบบเพื่อสนับสนุนการขาย เช่น การรู้จำเสียงบทสนทนาเพื่อวิเคราะห์ความชอบของลูกค้า แล้วแนะนำให้พนักงานควรจะสนทนาไปในทิศทางใดต่อหรือว่าควรแนะนำผลิตภัณฑ์อะไร มีรูปแบบการชำระเงินที่สะดวกอย่างไรได้ผ่านอุปกรณ์แท็ปเล็ตอย่างรวดเร็ว
9. ทีม Serious Salmon กับโซลูชัน Enhancing Jaymart’s Customer Experience with Advanced AI Features เพื่อตอบโจทย์ Jaymart
ในบางครั้งลูกค้าอาจจะอยากซื้อของบางอย่างแล้วเข้าเว็บไซต์เพื่อสืบค้นสินค้าที่ต้องการ แต่ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับที่อยากได้ เพราะว่าการสืบค้นด้วย Keyword ที่จะต้อง Match จริง ๆ เท่านั้นบนเว็บไซต์ที่ให้บริการ จึงทำให้ลูกค้าต้องไปสืบค้นที่ช่องทางอื่น ๆ แทน
ทีม Serious Salmon จึงสร้างเป็นโซลูชัน AI บนเทคโนโลยี AWS เพื่อช่วยตอบโจทย์ทาง Jaymart ที่พร้อมสนับสนุนบนเว็บไซต์ได้ในหลากหลายฟังก์ชัน เพื่อช่วยให้สามารถปิดการขายกับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีฟีเจอร์ 4 ส่วนที่มี ทั้ง AI และ Generative AI อยู่เบื้องหลัง ได้แก่
- Product Search by Image ค้นหาผลิตภัณฑ์ด้วยภาพผ่านการสแกนหรืออัปโหลดแทน
- Product Search by Customer Query ค้นหาด้วยข้อความที่พิมพ์เข้าไปเป็นภาษาธรรมชาติได้
- Production Comparison Tool ให้ช่วยสรุปข้อมูลเปรียบเทียบได้ทันที ซึ่งทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
- Product FAQ Suggestion แนะนำคำถามที่พบบ่อยในผลิตภัณฑ์ เพื่อประสบการณ์การใช้งานดีขึ้น
10. ทีม BearBearBearBearBear กับโซลูชัน Ask My Bear – Chatbot assistant for Marketing Analytic เพื่อตอบโจทย์ J-Ventures
งานบางส่วนของนักการตลาด นักวิเคราะห์ข้อมูล หรือแม้แต่นักพัฒนาระบบนั้น มักจะต้องเสียเวลาไปกับการทำงานซ้ำ ๆ ที่อาจจะเสียเวลามากเกินไปโดยใช่เหตุ และทำให้งานสำคัญอย่างการหาข้อมูลเชิงลึก (Insight) มีเวลาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควร
ทีม BearBearBearBearBear จึงมาพร้อมกับโซลูชัน “Ask My Bear” แชทบอท AI ที่จะช่วยลดกระบวนการทำงานซ้ำ ๆ ได้เร็วขึ้น โดยเบื้องหลังคือเทคโนโลยีของ AWS ที่ทำให้นอกจากจะถามตอบเป็นภาษาธรรมชาติได้แล้ว ยังจะสามารถตอบคำถามเป็นกราฟหรือ Dashboard ได้ทันทีด้วย
11. ทีม ห้าหมื่นนี้พี่ขอ กับโซลูชัน Janey เพื่อตอบโจทย์ Jaymart
คนทั่วไปอาจจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากการหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์หรือว่าไปถามที่หน้าร้านโดยตรง แต่จะมีคนบางกลุ่มที่อาจเรียกว่าเป็น Introvert คือมักจะไม่ค่อยชอบถามพนักงาน เพราะอาจจะถูกเบี่ยงไปที่รุ่นอื่นแทน และที่สำคัญเว็บไซต์ Jaymart ก็มีข้อมูลมหาศาล และไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบให้อย่างเพียงพอ
ทีมห้าหมื่นนี้พี่ขอ จึงต้องการช่วยให้ Jaymart เพิ่มยอดขายกับลูกค้ากลุ่มนี้ ด้วยโซลูชัน “Janey” ระบบบริการแชทบอท AI แบบ One-Stop Service ด้วย Tech Stack ของ AWS ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบสำหรับตู้ Kiosk เพื่อสนับสนุนลูกค้ากลุ่มดังกล่าวให้สามารถมาสืบค้นข้อมูล โดยแชทบอทจะแนะนำรุ่นที่ตรงกับความสนใจได้มากขึ้น และทำให้ปิดการขายได้ดีขึ้น
ผลการแข่งขัน depa GrowthLab : GenAI Hackathon powered by AWS
ในช่วงท้ายของงานได้ประกาศผลการแข่งขันออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยทีมที่ได้รับรางวัลมีดังต่อไปนี้
- รางวัลชนะเลิศ : ทีม Json
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 : ทีม Serious Salmon
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 : ทีม TeamA
“ประเทศไทยยังมีหลายประเด็น ทั้งเรื่องกําลังคนและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ยังคงขาดแคลน รวมทั้งการหาโซลูชันมใหม่ ๆ ให้กับภาคธุรกิจหรือหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ซึ่งต้องนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้เพื่อให้ประเทศไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันได้อยู่ต่อไป” ดร.วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าว “เราอยากให้น้องคนรุ่นใหม่เห็นภาพมากขึ้นว่าในมุมของฝั่งธุรกิจกำลังมองหาอะไรอยู่ และโซลูชันใหม่ของ AWS นั้นมีแพลตฟอร์มหรือมีอะไรให้ใช้ พอเอามารวมกันแล้วเกิดเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีทีมที่เข้าแข่งขันไปคุยกับพาร์ตเนอร์กันต่อไป”
บทส่งท้าย
ทั้งหมดนี้ คืองาน “depa GrowthLab : GenAI Hackathon powered by AWS” การแข่งขันประลองไอเดียประยุกต์ใช้ Generative AI ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งได้เห็นทั้งไอเดียใหม่ ๆ ที่มีโอกาสตอบโจทย์ธุรกิจได้จริงในอนาคต และขีดความสามารถของแรงงานรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดในอนาคต ซึ่งไม่แน่ว่าผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันในวันนี้อาจจะต่อยอดกับทางพาร์ตเนอร์แล้วอาจกำเนิดเป็นสตาร์ตอัปหน้าใหม่ที่จะก้าวไปสู่ระดับโลกในอนาคต ก็เป็นได้