เป็นที่รู้กันดีว่า Eastern Economic Corridor หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนั้นถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และเพื่อให้สามารถบรรลุถึงเป้าหมายนี้ได้ AIS จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลบนเครือข่าย 5G และบริการต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในเขต EEC เป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและธุรกิจโรงงานและการผลิตทั่วโลกสืบต่อไปในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 องค์กร ได้มีผลงานด้านนวัตกรรม 5G ที่สามารถใช้งานจริงได้ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมาแล้ว
AIS ลงนาม MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก สร้างสรรค์นวัตกรรม 5G ป้อนธุรกิจโรงงานสู่ภาพ Manufacturing 4.0

เมื่อเร็วๆนี้ รองศาสตราจารย์ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และนายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อทำงานร่วมกันในด้านนวัตกรรมดิจิทัลบนเครือข่าย 5G และบริการต่างๆ โดยจะมุ่งเน้นไปยังการบริหารจัดการองค์ความรู้ การวิจัย การบริการวิชาการ ของนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) และ Smart Solution ที่ใช้งานร่วมกับโครงข่าย AIS 5G โดยมีเป้าหมาย “RMUTTO & AIS ร่วมสร้างบัณฑิตนักเทคโนโลยีรองรับการเข้าสู่สังคมแห่งนวัตกรรม”
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ AIS และมทร.ตะวันออกนั้นสามารถทำการวิจัยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ บนระบบ 5G เพื่อนำไปใช้งานจริงสำหรับธุรกิจโรงงานและการผลิตภายในเขต EEC ได้ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ กล่าวคือ นอกเหนือจากการที่ AIS และทางมหาวิทยาลัยฯ จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกันและผลักดันให้เกิดการใช้งานนวัตกรรมนี้ในภาคอุตสาหกรรมได้แล้ว ในทางกลับกัน ทางภาคอุตสาหกรรมเองก็สามารถติดต่อมาทางมหาวิทยาลัยฯ และ AIS เพื่อนำความต้องการที่ตนเองกำลังเผชิญมาให้ทางมหาวิทยาลัยฯ และ AIS พัฒนาโซลูชัน ให้เข้ากับความต้องการเฉพาะเหล่านี้ได้ เพื่อนำไปเป็นต้นแบบ สำหรับความต้องการในลักษณะเดียวกันที่ธุรกิจอื่นๆ ได้
แนวทางดังกล่าวนี้จะกลายเป็นอีกตัวเร่งหนึ่งซึ่งจะทำให้ธุรกิจโรงงานและการผลิตในประเทศไทยนั้นสามารถก้าวสู่ภาพของ Manufacturing 4.0 ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะการนำ 5G มาใช้นั้นจะทำให้การนำเครื่องจักรอัจฉริยะ, Internet of Things (IoT), Drone และหุ่นยนต์สำหรับใช้งานในภาคธุรกิจไทยเป็นจริงขึ้นมาได้ โดยมี มทร.ตะวันออก เป็นกำลังสำคัญในการวิจัยและดัดแปลงเทคโนโลยีต่างๆ ให้เหมาะสมต่อการนำมาใช้งานจริงในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะความต้องการทางธุรกิจในเขต EEC
ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือนี้ก็จะนำมาซึ่งการพัฒนาบุคลากรพร้อมทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต โดยเหล่าคณาจารย์และนักศึกษาของมทร.ตะวันออก จะสามารถพัฒนาการเรียนรู้ และ เพิ่มประสบการณ์ กับ เทคโนโลยีโครงข่าย 5G และเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจาก AIS เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาโครงการต่างๆ อย่างครบถ้วน ส่งเสริมโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยไม่ติดข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีอีกต่อไป
อาศัยความคล่องตัวในการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชมงคลเทคโนโลยีตะวันออก กับเทคโนโลยีโครงข่าย 5G ที่พร้อมใช้งานได้จาก AIS เพิ่มขีดความสามารถภาคธุรกิจในเขต EEC

มทร.ตะวันออก ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความใกล้ชิดกับเขต EEC เป็นอย่างมาก ทั้งด้วยการที่มหาวิทยาลัยฯ มีวิทยาเขตตั้งอยู่ในพื้นที่เขต EEC สามารถเป็นศูนย์เทคโนโลยีการพัฒนาสำหรับใช้ทดสอบเทคโนโลยีและเครื่องจักรต่างๆ รวมถึง เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนให้กับนักเรียน นักศึกษา อีกด้วย ดังนั้น มทร.ตะวันออก จึงมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมเพื่อป้อนธุรกิจโรงงานในเขตอุตสาหกรรม EEC อย่างครบวงจร
ที่ผ่านมา มทร.ตะวันออก ก็ได้มีความร่วมมือกับ AIS นำเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้งานจริงร่วมกันแล้ว อย่างเช่นการพัฒนารถขนส่งอัตโนมัติแบบไร้คนขับ หรือ Automated Guided Vehicle (AGV) ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่าย 5G ได้ ทำให้รถ AGV นี้สามารถทำงานได้โดยมีพื้นที่ครอบคลุมกว้าง และรับส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายไปทำการประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อการใช้งานจริงได้เป็นอย่างดีโดยไม่ชนสิ่งกีดขวางใดๆ ในระหว่างใช้งาน สามารถนำไปใช้ในการขนส่งสินค้าภายในเขตอุตสาหกรรม EEC ได้แบบไร้คนขับ ลดทั้งค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่รถเหล่านี้
หลังจากนี้เอง มทร.ตะวันออก ก็ยังมีโครงการอีกมากมายที่จะพัฒนาต่อยอดบนระบบ 5G เช่น การดัดแปลงนำระบบ Embedded 5G SIM และ Sensor เข้าไปติดตั้งในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเปลี่ยนให้เครื่องจักรเหล่านั้นกลายเป็นอุปกรณ์ Industrial IoT (IIoT) ที่สามารถใช้งานได้จริงโดยไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรรุ่นใหม่ล่าสุดมาทดแทน หรือการนำ Drone มาผสานกับระบบ Video Surveillance และ 5G เพื่อสร้างเป็นระบบกล้องวงจรปิดที่สามารถบินตรวจสอบติดตามพื้นที่ต่างๆ ได้แบบอัตโนมัติ เป็นต้น
สำหรับภาคธุรกิจใดที่ต้องการมีงานวิจัยร่วมกับมทร.ตะวันออก สามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา เบอร์โทรศัพท์ 033-136-099 ต่อ 1180
AIS ยังเปิดรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วไทย นำ 5G และเทคโนโลยีล้ำสมัยไปพัฒนาทุกภูมิภาคในทุกอุตสาหกรรม
ในความร่วมมือกับมทร.ตะวันออกเพื่อพัฒนานวัตกรรมป้อนเขต EEC นี้เป็นเพียงก้าวหนึ่งของ AIS ในการนำ 5G มาสู่ภาคธุรกิจไทยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นของธุรกิจไทยเองเท่านั้น ทาง AIS เองนั้นยังเปิดรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อร่วมสร้างงานวิจัยและโครงการใหม่ๆ ที่จะนำ 5G ไปใช้พัฒนาชุมชนหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ร่วมกันอยู่ และยังเปิดรับความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อนำโจทย์ที่ธุรกิจมีอยู่นั้นมาสร้างเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์การใช้งานได้จริง และสามารถต่อยอดเป็น Platform สำหรับนำไปใช้แก้ปัญหารูปแบบเดียวกันที่ธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญได้ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ AIS เองก็ยังมีโครงการ AIS IoT Alliance Program (AIAP) ที่เป็นชุมชนสำหรับผลักดันการพัฒนาโซลูชันด้าน IoT เพื่อการใช้งานในภาคธุรกิจองค์กรโดยเฉพาะ ซึ่งภายในชุมชนแห่งนี้จะมีทั้งนักพัฒนาโซลูชันด้าน IoT ในไทย, ธุรกิจองค์กรต่างๆ ที่มีโจทย์ด้าน IoT และ AIS ซึ่งมีทั้งระบบ 5G, IoT Platform และอุปกรณ์ IoT Development Kit เพื่อให้นำไปใช้สร้างสรรค์โซลูชันร่วมกันได้อีกด้วย
สำหรับธุรกิจองค์กรที่สนใจโซลูชัน 5G สำหรับใช้งานในเชิงธุรกิจ สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ AIS Business ที่ดูแลองค์กรของท่าน หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ https://business.ais.co.th/5g/