ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ นำระบบ G-ERP : Global Enterprise Resource Planning เป็นฐานข้อมูลหลักในการบริหารงานด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สามารถลดการใช้กระดาษทุกกระบวนการตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อโดยใช้ระบบย่อยคือ GSRM : Global Supplier Relationship Management เชื่อมโยงคำสั่งซื้อของซัพพลายเออร์ ตรวจสอบสต็อก ส่งข้อมูลการสั่งซื้อ และส่งวัตถุดิบหรือสินค้า รวมถึงกระบวนการนำเข้าวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานเพื่อผลิตสินค้า ชี้เดิมใช้เวลาจัดการสั่งซื้อจากวัตถุดิบมากกว่า 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 1-2 วัน เพื่อวางแผนก่อนการผลิตทั้งหมด พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมโครงการฯ หวังกระตุ้นการจัดการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพเพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตยั่งยืน ด้านสำนักโลจิสติกส์ เร่งเครื่องผลักดันยุทธศาสตร์สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเน้นจัดการโลจิสติกส์ซัพพลายเชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุน
นางกิ่งกนก พรมภา ผู้จัดการอาวุโส บริษัท ไทยซัมซุง อิเล็คโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมประกวดรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นรางวัลที่ดำเนินการโดยกระทรวงอุตสาหกรรม คัดเลือกผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่มีการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ 5 ประการ ได้แก่ ( 1 ) การกำหนดกลยุทธ์สถานประกอบการ ( 2 ) การวางแผนและความสามารถในการปฏิบัติงาน ( 3 ) ประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านโลจิสติกส์ ( 4 ) ระบบบริหารข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ( 5 ) ความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ซึ่งจุดแข็งที่ทำให้บริษัทฯ ได้รับรางวัลจากผลการพิจารณาของกรรมการ คือ บริษัทฯ มีการกำหนดกลยุทธ์โดยมีนโยบาย แผนการดำเนินงาน วางกลยุทธ์ในทุกส่วนงาน และการประเมินผลการทำงานทุกขั้นตอน ทั้งยังมีระบบการติดตามสถานะของสินค้าคงคลังพัฒนาเป็นระบบ พร้อมยังมีการจัดทำแผนด้านการขนส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ( Overseas Transport/ Export ) ทางด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านโลจิสติกส์ทางบริษัทฯ มีการกำหนดเวลาการส่งมอบสินค้าชัดเจน เพื่อควบคุมคุณภาพการผลิตโดยมีข้อตกลงร่วมกับลูกค้าตั้งแต่ขั้นตอนรับผลิต
“ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ทางบริษัทฯ ได้ใช้นี้มีประสิทธิภาพส่งผลให้การดำเนินงานได้ตามเป้าหมายตั้งแต่กระบวนการรับออเดอร์ก่อนผลิต จนถึงการจัดส่งสินค้า ทุกกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีซึ่งเปรียบเทียบกับแต่เดิมที่ไม่ได้มีระบบการจัดการแบบนี้ ต้องใช้เวลาส่งเอกสาร ตรวจสอบวัตถุดิบการผลิตต่าง ๆ มากกว่า 1 สัปดาห์ แต่เมื่อนำระบบมาใช้สามารถลดกระบวนการทำงานเหลือเพียง 1-2 วัน เพื่อวางแผนก่อนการผลิตทั้งหมดล่าสุดบริษัทฯ ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2559 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่บริษัทฯ มีการบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพสร้างความมั่นให้แก่ลูกค้าที่จะทำให้เราสามารถส่งมอบงานได้ตรงเวลา เพราะมีระบบการบริหารจัดการตั้งแต่การวางแผนก่อนการผลิตจนถึงการส่งมอบงานได้ตามกำหนด” กิ่งกนก กล่าว
บริษัทฯ เป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้อบไมโครเวฟ และเครื่องล้างจาน โดยเริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2531 ภายใต้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีสำนักงานใหญ่ตั้งที่ประเทศเกาหลีใต้และเป็นส่วนรับคำสั่งซื้อหลัก ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตให้แก่กลุ่มประเทศทางโซนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ บริษัทฯ มีบุคลากรรวมทั้งสิ้น 4,159 คน ถือเป็นโรงงานผลิตที่ใหญ่ที่สุดในเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในเครือซัมซุงเพื่อการส่งออกที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันเดินเครื่องการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทันต่อการส่งสินค้าไปจำหน่ายใน 126 ประเทศ โดยการผลิต 90% เพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ 10%
“สำหรับกำลังการผลิตในปัจจุบันพบว่า สามารถผลิตตู้เย็นได้ 220 ล้านเครื่องต่อปี เครื่องซักผ้า 200 ล้านเครื่องต่อปี ตู้อบไมโครเวฟ 160 ล้านเครื่องต่อปี แอร์ 250 ล้านชุดต่อปี นอกจากนั้นยังผลิตเครื่องล้างจานได้ไม่น้อยกว่า 34 ล้านเครื่องต่อปีอีกด้วย ซึ่งบริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดนวัตกรรมใหม่ พร้อมยังได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้” กิ่งกนก กล่าว
นอกจากนี้ทางด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ( Logistics and Supply Chain ) บริษัทฯ ได้นำระบบ G-ERP : Global Enterprise Resource Planning เข้ามาเชื่อมโยงทุกกระบวนการทำงานซึ่งไม่ต้องใช้กระดาษ ตั้งแต่การรับออเดอร์ ตรวจสอบสต็อก ส่งข้อมูลการสั่งซื้อ และส่งวัตถุดิบหรือสินค้า รวมถึงกระบวนการนำเข้าวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานเพื่อผลิตสินค้า โดยระบบการบริหารคำสั่งซื้อจากลูกค้าของซัมซุง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มบริษัทในเครือซัมซุง จะใช้ฟังก์ชั่นการทำงานเดียวกับ G-ERP ส่วนกลุ่มคู่ค้าอื่นจะใช้เว็บไซต์เชื่อมโยงข้อมมูลออเดอร์ลูกค้าเข้ามาในระบบ ลูกค้าสามารถติดตามคำสั่งซื้อ ติดตามสถานนะสินค้าในระบบ ( Tacking Container ) และรอรับสินค้าปลายทาง บริษัทฯ ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ซัมซุงเป็นหลัก และอีก 10-15% เป็นการผลิตแบบ ( OEM )
“วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ของซัมซุง กว่า 70% เป็นวัตถุดิบภายในประเทศ เนื่องจากสนับสนุนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และเพื่อให้ได้ถิ่นกำเนิดสินค้าตามสิทธิประโยชน์ทางการค้าและภาษี นอกจากนี้ในการกระบวนการผลิตได้นำหุ่นยนต์มาใช้ลำเลียงวัตถุดิบเข้าสู่ไลน์การผลิต ซึ่งไม่ต้องใช้คนทำให้ลดการใช้แรงงาน แล้วนำคนในส่วนนี้ไปทำงานที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้ในการวัดและประเมินผลมีการกำหนด KPI ในด้านความผิดพลาด การส่งสินค้าได้ตามกำหนด ซึ่งทุกส่วนงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด” กิ่งกนก กล่าว
พร้อมกันนี้ยังมีระบบบริหารข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ( IT ) ซึ่งมีระบบรหัสมาตรฐานการติดตาม ระบุและรายงานสถานะตั้งแต่วัตถุดิบในการผลิต จนถึงระบบสต็อก และส่งสินค้าไปยังลูกค้า โดยใช้ระบบการจัดการในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกับลูกค้า กับซัพพลายเออร์ รวมทั้งยังได้นำมาตรฐานบาร์โค้ด ( Barcode ), RFID มาใช้ในการปฏิบัติงานและขยายไปให้ลูกค้าใช้ได้ด้วย และยังมีระบบ Business Intelligent ซึ่งระบบการจัดการนี้ทำให้สามารถวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งยังมีระบบการฝึกอบรมบุคลากรผ่านเว็บไซต์ในการแบ่งปันองค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิเช่น ด้านการผลิต ด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น
กิ่งกนก กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในองค์กรมีความสำคัญมาก เท่าที่ทราบภาครัฐโดยสำนักโลจิสติกส์มีโครงการดี ๆ สนับสนุนผู้ประกอบการ ในฐานะองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกได้รับรางวัลในครั้งนี้ก็ยังจะขอเชิญชวนองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งจากการเข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้นอกจากได้รับรางวัลแล้ว ทางบริษัทฯ ได้นำองค์ความรู้และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ทางสำนักฯ นำประเมินการดำเนินงาน ซึ่งบางส่วนทางบริษัทฯ มีอยู่แล้วแต่บางส่วนสามารถนำมาเสริมได้ เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นางดวงกมล สุริยฉัตร ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ( กพร. ) เปิดเผยว่า สำหรับการจัดการโลจิสติกส์ถือเป็นกระบวนการวางแผนการดำเนินงาน การควบคุมการเคลื่อนไหว และจัดเก็บของสินค้าบริการ รวมทั้งข้อมูลสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่แหล่งผลิตไปสู่การบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า โดยการนำระบบการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่มาเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรมนับเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นหากองค์กรที่มีการวางแผนและกลยุทธ์ที่ดีตลอดจนสามารถถ่ายทอดลงไปสู่การปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ในการจัดการด้านโลจิสติกส์อย่างสอดคล้องเหมาะสมจะทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอย่างมาก รวมถึงยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า
“สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ( กพร. ) ในฐานะผู้ดำเนินงานและคัดเลือกผู้ประกอบเข้ารับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2559 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบรางวัลนี้ให้แก่บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรที่มีการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานได้ นอกจากนี้ทางสำนักโลจิสติกส์ได้มอบสิทธิพิเศษในการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบที่สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว อาทิเช่น การเข้าร่วมอบรมสัมมนาโครงการพัฒนาบริการโลจิสติกส์ การรับคำปรึกษาจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ คู่มือในการบริหารจัดการด้านโซอุปทานและโลจิสติกส์ เป็นต้น พร้อมขอเชิญชวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการฯ ได้ โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.logistics.go.th โทรศัพท์ 0 2202 3646 หรือ 0 2202 3648 โทรสาร 0 2644 8745” กล่าวทิ้งท้าย