[รีวิว] ชวนลอง TP-Link เปิดใช้งานฟรี Omada Cloud Controller

ที่ผ่านมาเมื่อมีอุปกรณ์ในเครือข่ายเพิ่มขึ้นธุรกิจหรือผู้ใช้งานมักเริ่มมองหาการบริหารจัดการแบบศูนย์กลาง ซึ่งในอดีตแบรนด์ต่างๆมักพูดถึงเรื่องฮาร์ดแวร์สำหรับหน้าที่นั้น แต่ในปัจจุบัน Cloud-based Management คือทางเลือกที่ถูกนำเสนอมากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่ทางเลือกมักมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายรายเดือนหรือรายปี ซึ่งในบางกรณีอาจสูงจนไม่คุ้มค่ากับขนาดธุรกิจที่มีการใช้งานไม่ซับซ้อน

ในวันนี้เป็นโอกาสของลูกค้าผู้ใช้งาน TP-Link ที่ได้เปิด Cloud Controller ให้ใช้งานได้ฟรีภายใต้ License ประเภท Omada Cloud Essential เพื่อให้แอดมินสามารถบริหารจัดการเครือข่ายกันได้จากทุกที โดยไม่จำกัดจำนวนอุปกรณ์ บทความนี้ทีมงาน TechTalkThai จะมารีวิวการใช้งานระบบดังกล่าวให้เห็นถึงฟีเจอร์ที่มีและความง่ายที่ว่าจะง่ายแค่ไหน มาติดตามได้ในบทความนี้ครับ

การจัดการอุปกรณ์เครือข่ายจำนวนมากด้วยตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและใช้เวลาสูง หากขาดเครื่องมือบูรณาการการจัดการ เพราะอุปกรณ์แต่ละประเภทย่อมมี การตั้งค่า ปัญหา และ ความต้องการทางธุรกิจที่ต่างกันออกไป โดยทั่วไปโซลูชันพื้นฐานสำหรับธุรกิจมักประกอบด้วย Router, Switch และ Access Point(AP) ลองนึกถึงการอัปเดตแพตช์ การจัดการ Config หรือการตั้ง Routing ไปจนถึงความต้องการในบริการ Wireless ยิ่งหากธุรกิจมีสาขามากกว่าหนึ่งแห่ง เชื่อแน่ว่าการมีเครื่องมือบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ย่อมดีกว่ามาก

อย่างไรก็ตามการใช้ Hardware หรือ Software Controller ยังคงเกิดภาระผูกพันต่อฮาร์ดแวร์อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้เองโซลูชัน Cloud Controller จึงเป็นทางเลือกที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกว่า ทั้งยังสอดคล้องกับรูปแบบสมัยนิยมในปัจจุบันที่เน้นการเข้าถึงได้จากทุกที่ทั่วโลก หากท่านเป็นแอดมินของธุรกิจห้างร้านขนาดเล็ก Cloud Controller จะช่วยให้ท่านทำงานได้จากที่ห่างไกลออกไปบนโลกนี้ ไม่ต้องวิ่งเข้าไซต์เพื่อตรวจสอบปัญหาทุกครั้งไป 

ในมุมของ TP-Link เองผู้ใช้งานมีทางเลือกได้ทุกรูปแบบทั้ง Hardware Controller, Software Controller และ Cloud Controller แต่ในบทความนี้เราจะเจาะจงไปที่ Cloud Controller ที่ตอบโจทย์ความคล่องตัวมากที่สุด และยังเริ่มต้นได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังรองรับการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันทั้งบน iOS และ Android อีกด้วย

Omada Cloud Essential เป็น License ประเภทฟรีที่ทุกคนสามารถเข้าใช้งานได้ฟรี เพียงแค่ต้องมีบัญชีใช้งาน TP-Link ก่อนโดยสามารถสมัครได้ที่ https://omada.tplinkcloud.com 

 หลังการล็อกอินแล้วท่านสามารถเริ่มต้นการตั้งค่าบัญชีได้ผ่าน Wizard ช่วยเหลือใน 7 ขั้นตอนดังนี้

1.) เมื่อเข้ามาแล้วจากปรากฏหน้าตาการใช้งานดังภาพด้านล่าง โดยเลือกเมนู Cloud-based Controller > +Add > Register ที่เมนู Essential

2.) เลือก Omada Controller ของท่านและกดปุ่ม Launch ที่หัวข้อ Action

3.) ระบบจะพาท่านไปสู่หน้าเริ่มต้นการตั้งค่า

4.) Omada Setup Wizard เป็นการตั้งค่าพื้นฐาน เช่น การตั้งชื่อ Controller, ประเทศ และ โซนเวลา รวมถึงการยอมรับข้อตกลง

5.) หน้าถัดมา เป็นหน้าการจัดตั้งไซต์หลักของการใช้งาน ประเทศ และ โซนเวลา ในหน้านี้มีส่วนของการตั้งค่า Default User/Password สำหรับอุปกรณ์ที่จะลงทะเบียนเข้ามาใช้ หากไม่มีการกำหนดเพิ่มเติมก็จะบังคับใช้กับอุปกรณ์โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Scenario ซึ่งจะเห็นได้ว่า TP-Link แนะนำการใช้งาน Omada Cloud Essential สำหรับการใช้งานในสำนักงาน ร้านอาหาร หรือ บ้านส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่ข้อจำกัดแต่อย่างใด โดยท่านสามารถประยุกต์ใช้งานกับกรณีอื่นๆได้

6.) ตั้งค่า Wi-Fi (ในส่วนนี้เราขอเก็บไว้จัดการในภายหลัง)

7.) หน้า Summary ระบบจะสรุปภาพรวมการตั้งค่าในหน้านี้ และพร้อมนำท่านเข้าสู่หน้า Tutorial ต่อไป

ในบางครั้งการติดตั้งอุปกรณ์อาจเกิดขึ้นจากทางไกลโดยแอดมินเองไม่สามารถเดินทางเข้าไซต์ได้ แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเมื่อท่านเลือกใช้ Omada Cloud Essential ซึ่งไอเดียคือการ Provision อุปกรณ์ไว้ล่วงหน้า ดังเช่นการทดสอบของทีมงาน TechTalkThai ที่ได้อุปกรณ์ทดสอบมาจำนวน 4 รายการคือ Omada Gigabit VPN Gateway ER605, Switch TL-SG2210MP และ Omada EAP613 2 ตัว (อุปกรณ์เหล่านี้ไม่มีขายในหน้าเว็บ สนใจติดต่อ Business Networking Solution ได้ที่ https://bit.ly/3ONQRZH)

โดยจากภาพด้านล่างเป็นการเพิ่มอุปกรณ์จาก Cloud Controller ไว้ล่วงหน้าก่อนเปิดอุปกรณ์ ในหน้าเมนู Device  ซึ่งเมื่ออุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ก็จะมองเห็นได้ทันที

การทดลองครั้งนี้เราจะเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมที่มี Router > Switch > 2 AP (Mesh Mode) ซึ่งเป็นรูปแบบปกติที่พบเห็นได้ทั่วไปตามบ้าน ออฟฟิศหรือสำนักขนาดเล็ก หรือ ธุรกิจห้องเช่า เป็นต้น โดยจะมีการเชื่อมต่อกันตาม Topology ที่แสดงในหน้าเมนู Home

มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะสงสัยกันแล้วว่าแล้วบริการคลาวด์ที่ใช้ได้ฟรี มีฟีเจอร์รองรับงานใดได้บ้าง ซึ่งเราขอแบ่งเป็น 7 หัวข้อหลักดังนี้

1.) Router

Router คือปราการด่านหน้าสุดที่ขวางกั้นระหว่างการใช้งานและ ISP ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งใน Cloud Essential ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าการเชื่อมต่อระหว่าง ISP, Load Balance Link, IPv4/IPv6, MAC Address, Static Route, Policy Routing, Port Forwarding และที่สำคัญคือคำถามเกี่ยวกับ VPN โดยจะมี Wireguard VPN มาให้สำหรับผู้ที่ต้องการทำ Site to Site VPN ระหว่างสาขาหรือศูนย์ใหญ่ได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังกำหนดค่าควบคุมการใช้ Bandwidth ได้อีกด้วย

ในฝั่ง LAN ท่านก็สามารถกำหนดโปรไฟล์ต่างๆได้ทั้ง DHCP, VLAN, DNS Server, IGMP ที่อินเทอร์เฟสได้ตามต้องการ

2.) Switch

ที่เมนู Switch ท่านสามารถกำหนดค่ากับอินเทอร์เฟสเกี่ยวกับ VLAN Interface, Management VLAN, Spanning Tree, Loopback Detection, Static Route และการตั้งค่าอัปเดต Firmware หรือคอนฟิคสำหรับอุปกรณ์ได้ รวมถึงดูสถานะการออนไลน์ของอินเทอร์เฟสได้ที่เมนูนี้

3.) Wireless Networks

สามารถบริการจัดการ SSID พร้อม VLAN, MLO, Rate Limit(ตามโปรไฟล์อีกเมนูหนึ่ง), MAC Filter รวมถึงการตั้งเวลาปิดเปิดสัญญาณได้

ในการทดลองนี้เราต้องการตั้งค่า AP ในลักษณะของ Mesh Mode โดยข้อดีของโหมดนี้คือแทนที่จะให้ AP ทั้งหมดมีการเชื่อมต่อผ่านสาย LAN แต่ไปเชื่อมต่อระหว่างกันเองแทนผ่าน Wireless ซึ่งเหมาะกับกรณีที่ไม่สามารถเดินสายเข้าไปได้เพราะข้อจำกัดต่างๆ หากเครื่องใดเครื่องหนึ่งเกิดปัญหา Omada EAP 613 ก็ยังมีฟังก์ชัน Self Healing ที่ช่วยปรับหาเส้นทางใหม่ได้อัตโนมัติด้วย

การตั้งค่า Mesh Mode มีขั้นตอนดังนี้

  • มี AP 2 ตัวขึ้นไป ตัวหลักเสียบเชื่อมต่อกับสาย LAN อีกตัวแค่มีไฟจ่ายจาก Adapter ก็เพียงพอ
  • การเปิดตัวเลือก Mesh Mode เข้าที่เมนู Site > Services > Mesh
  • เข้ามาที่หน้าเมนู Device (ลงทะเบียนอุปกรณ์ทั้งหมดเอาไว้ล่วงหน้า) AP ตัวรองที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับสาย LAN จะขึ้นสถานะ Provisioning > Pending
  • คลิกที่อุปกรณ์จะปรากฎแถบด้านขวามือ เลือกช่อง Mesh และ คลิก Link ในเมนู Action
  • สถานะจะกลายเป็น Connected พร้อมสัญลักษณ์การเชื่อมต่อแบบไร้สายปรากฏอยู่ข้างๆ

อีกการทดลองหนึ่งที่พลาดไม่ได้สำหรับการใช้งานแบบสาธารณะคือการตั้งค่า Portal เพื่อสร้างการยืนยันตัวตน ซึ่งจำเป็นในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการแบ่งกลุ่มการใช้งานระหว่างพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกค้า อย่างไรก็ดี Essential License จะมีตัวเลือกการพิสูจน์ตัวตนได้ 2 รูปแบบคือ Hotspot และ Simple Password แต่ยังสามารถเลือกทำ HTTP Redirect ไปยังหน้าหลักของธุรกิจได้ รวมถึงการปรับแต่งหน้าตาเพจที่แสดงสำหรับการล็อกอินเข้าใช้

4.) Log

Log สามารถแสดงแจ้งเตือนเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ได้ เช่น การเชื่อมต่อเข้ามาในเครือข่าย การรีบูต การเพิ่ม WLAN รวมถึงสถานะการผิดปกติของพอร์ตหรืออุปกรณ์ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ท่านทราบถึงปัญหาและดำเนินการแก้ไขได้ต่อไป

5.) เครื่องมือช่วยเหลือ

ยามฉุกเฉินที่ผู้ดูแลไม่อยู่หน้าไซต์เครื่องมือรีโมตพื้นฐานมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อตรวจสอบปัญหาหรือจัดการบางอย่างโดยตรงที่ตัวอุปกรณ์ ซึ่งท่านจะพบกับเมนู Tools ที่มาพร้อมกับความสามารถตรวจสอบระบบเครือข่าย รองรับการรีโมตเครื่องและ SSH เข้าไปที่อุปกรณ์

6.) Dashboard

แสดงถึงภาพรวมการใช้งานของเครือข่ายว่ามีอุปกรณ์ประเภทใดบ้าง ทราฟฟิค จำนวนเท่าไหร่ การใช้งาน SSID และผู้ใช้งาน รวมถึงการแจ้งเดือน ซึ่งช่วยติดตามข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

7.) Client

Client สามารถตรวจสอบและจัดการอุปกรณ์ Client ที่เข้ามาใช้งานที่เครือข่ายและดูข้อมูลเกี่ยวกับการเชื่อมต่อได้ว่าเข้าถึงด้วยพอร์ตไหน ผ่านมาจาก AP ตัวใด, ได้รับ IP Address ใด, อัตราการใช้งาน หรือสั่งตัดการเชื่อมต่อได้

8.) Devices

เป็นการตรวจสอบและจัดการภาพรวมเกี่ยวกับอุปกรณ์เช่น การสั่งอัปเดตอุปกรณ์ รีบูต ปิดเครื่อง คอนฟิคเครื่องจำนวนมาก โดยสามารถแสดงผลค่าต่างๆของอุปกรณ์ที่แถบด้านขวามือได้เมื่อคลิกเลือกที่อุปกรณ์

อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้ใช้งานมีทางเลือกระหว่าง Essentials ที่เปิดให้ใช้ฟรีและแพ็กเกจ Standard ที่มีค่าบริการ หลายคนคงตั้งคำถามว่าแล้วแต่ละประเภทนั้นต่างกันอย่างไร แบบไหนที่คู่ควรกับการใช้งานของท่าน คำถามตรงนี้เราขออธิบายเทียบให้เห็นภาพระหว่างเมนูของทั้งคู่ตามด้านล่างจากหน้า Tutorial 

จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่าความแตกต่างหลักคือตัว Standard จะให้ฟีเจอร์ในเรื่องของ Security ขั้นสูงเช่น URL Filtering, ACL, Firewall รวมถึงฟีเจอร์ด้านเครือข่ายและ Authentication เช่น Radius, 802.1X, Mac Authentication, NAT ไปจนบริการเสริมต่างๆที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการรองรับงานประเภท Managed Service Provider ด้วยที่ต้องการการบริหารจัดการที่มีความหลากหลายมากขึ้น

จากการรีวิวที่ผ่านมาจุดเด่นของ Cloud Controller Essential คือการที่ท่านสามารถเริ่มต้นควบคุมอุปกรณ์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นคงเห็นแล้วว่าฟีเจอร์ที่ให้มามีประสิทธิภาพมากพอสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้มีความต้องการซับซ้อน ทั้ง Mesh Mode, VPN, Logs, Portal Authentication และอื่นๆ พร้อมฟีเจอร์พื้นฐานด้านเครือข่าย แต่ในมุมขององค์กรที่ต้องการความปลอดภัยขั้นสูง Standard คงเป็นคำตอบที่ตรงโจทย์มากกว่า

อย่างไรก็ดีไม่ว่าท่านจะมีทางเลือกอย่างไรแต่ Cloud Controller ก็ช่วยให้งานการบริหารจัดการอุปกรณ์แบบเดิมๆ ทำได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่ไซต์ เริ่มต้นก็ง่ายแค่ไม่กี่ขั้นตอน อีกทั้ง TP-Link Omada ยังไม่จำกัดเรื่องของจำนวนอุปกรณ์อีกด้วย ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ใจกว้างมากๆเทียบกับโซลูชันอื่นๆ

หากท่านมีอุปกรณ์ TP-Link สามารถเริ่มต้นการใช้งาน Cloud Controller ได้แล้ววันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://omada.tplinkcloud.com/

About nattakon

จบการศึกษา ปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ KMITL เคยทำงานด้าน Engineer/Presale ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Network Security และ Public Cloud ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

Tenstorrent ระดมทุน 693 ล้านดอลลาร์ ท้าชน Nvidia

Tenstorrent สตาร์ทอัพผลิตชิป AI ที่ตั้งเป้าท้าชิง Nvidia ระดมทุนรอบ Series D นำโดย Samsung Securities และ AFW Partners ได้กว่า …

CEO Intel ประกาศลาออก ท่ามกลางความท้าทายด้านธุรกิจ Foundry

Pat Gelsinger ประกาศลาออกจากตำแหน่ง CEO ของ Intel หลังการประชุมกับคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการแข่งขันกับ Nvidia และการขยายธุรกิจ Foundry ที่ยังไม่เป็นไปตามเป้า