การที่ธุรกิจจะเติบโตไปสู่การเป็นธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ นอกจากประเด็นด้านการบริหารจัดการด้านบุคลากร, งบประมาณ, การขาย, การตลาด, การผลิต และอื่นๆ แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงนั้น ก็คือการบริหารจัดการทรัพย์สินของธุรกิจ หรือ Asset Management นั่นเอง
เพื่อให้ธุรกิจองค์กรไทยได้ร่วมกันมารับฟังถึงประสบการณ์และแนวทางในการบริหารจัดการทรัพย์สินของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัท Triple Dot Consulting จำกัด จึงได้จัดงานสัมมนา Maximo Exchange Forum 2023 เพื่อเชิญชวนให้ผู้บริหารของธุรกิจองค์กรไทยชั้นนำมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำ Asset Management ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีด้วยโซลูชัน IBM Maximo รวมถึงอัปเดตเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ จาก IBM ประเทศไทย
ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ จึงขอสรุปถึงประเด็นสำคัญที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเหล่าผู้บริหารธุรกิจองค์กรไทยไม่มากก็น้อย ดังนี้ครับ
IBM กับเป้าหมายในการช่วยธุรกิจองค์กรทั่วโลก พัฒนาและใช้งาน AI ให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจมากที่สุด
ในมุมของ IBM นั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีที่ธุรกิจองค์กรทุกแห่งทั่วโลกต้องนำไปใช้งาน อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากประเด็นความท้าทายด้านการนำ AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่มาใช้งาน และการพัฒนา AI ให้เหมาะสมกับการดำเนินงานของธุรกิจแล้ว ก็ยังมีปัญหาในหลายแง่มุมจากเหล่าธุรกิจที่เริ่มใช้งาน AI แล้ว เช่น
- 80% ของผู้นำในธุรกิจองค์กรนั้นพบว่า AI ยังมีปัญหาด้านจริยธรรมและความโปร่งใส ทั้งในแง่ของการนำข้อมูลเข้ามาให้ AI เรียนรู้ที่ยังอาจขาดความชัดเจนหรือสร้าง Bias ได้ และการนำ AI ไปใช้งานจริงที่ยังมีความเสี่ยงในการตอบสนองของ AI ในบางประเด็น
- 48% ของผู้นำในธุรกิจองค์กรพบว่าผลลัพธ์ที่ได้จาก AI นั้นหลายครั้งยังไม่สามารถอธิบายถึงที่มาที่ไปในคำตอบเหล่านั้นได้ ซึ่งทำให้งานบางประเภท โดยเฉพาะงานที่ต้องมีประเด็นด้านกฎเกณฑ์ข้อบังคับมาเกี่ยวข้องนั้น ยังอาจใช้ AI ได้ไม่มีประสิทธิภาพนัก
- 46% ของผู้นำในธุรกิจองค์กรยังขาดความมั่นใจด้านความปลอดภัยและจริยธรรมของ AI
- 46% ของผู้นำในธุรกิจองค์กรเชื่อว่าการทำงานของ AI ยังคงมี Bias อยู่
- 42% ของผู้นำในธุรกิจองค์กรพบว่าพนักงานและลูกค้ายังคงขาดความเชื่อใจในการใช้ AI
ด้วยเหตุนี้ IBM ที่มุ่งมั่นในการช่วยให้ธุรกิจองค์กรสามารถเริ่มต้นใช้งานและพัฒนา AI ขึ้นมาให้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องของความน่าเชื่อถือของ AI ซึ่งประกอบไปด้วย Cybersecurity, Data Protection, Trust และ Ethic โดย IBM จะมุ่งเน้นเฉพาะการให้บริการลูกค้าแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม บนพื้นฐานของเทคโนโลยีแบบเปิดที่สามารถนำองค์ประกอบที่เหมาะสมต่อ AI มาใช้งานได้ทั้งหมด รวมถึงยังมีมุมมองว่า AI ที่ถูกสร้างและนำมาใช้งานโดยธุรกิจองค์กรแต่ละแห่งนั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินขององค์กรแห่งนั้นๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนกลางที่จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย AI ของธุรกิจถูกส่งต่อออกไปยังคู่แข่งรายอื่นๆ ในภายหลัง
บนพื้นฐานแนวคิดเหล่านี้ IBM จึงได้ทำการพัฒนา AI Platform ภายใต้ชื่อ IBM watsonx ที่ประกอบไปด้วย
- IBM watsonx.ai สำหรับการสร้าง พัฒนา บริหารจัดการ และนำ AI Model มาใช้งาน
- IBM watsonx.data สำหรับการบริหารจัดการและควบคุมการใช้งานข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์หรือให้ AI ทำการเรียนรู้
- IBM watsonx.governance สำหรับการจัดการกับข้อมูลและระบบต่างๆ ให้เกิด Trust ในการใช้งาน
ที่ผ่านมา IBM ได้ร่วมกับธุรกิจองค์กรหลายแห่งทั่วโลกในการนำ AI ไปใช้งานหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการลูกค้า, การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล, การปรับปรุงดูแลรักษาระบบ Application สมัยใหม่, การตรวจจับภัยคุกคาม, การทำการตลาด, การบริหารจัดการ Supply Chain, การทำ IT Automation รวมถึงการทำ Asset Management และอื่นๆ อีกมากมาย
โลกของ AI กำลังก้าวสู่ยุค Generative AI อย่างเต็มตัว โจทย์สำคัญคือธุรกิจองค์กรจะนำ AI ในแบบดั้งเดิมและแบบใหม่มาใช้งานให้เกิดผลลัพธ์ได้อย่างไร
ทาง Skooldio ที่ได้รับเชิญให้มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ด้าน AI ในงานครั้งนี้ ได้เล่าถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีด้าน AI และตัวอย่างการใช้งานที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และได้ทำการแบ่ง AI สำหรับภาคธุรกิจองค์กรออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ธุรกิจสามารถเริ่มต้นนำมาใช้งานได้แล้ว ได้แก่
- Predictive / Discriminative Model คือ AI สำหรับใช้ในการทำนายแนวโน้ม การจำแนกสิ่งต่างๆ ออกจากกัน ซึ่งเกิดจากการนำข้อมูลกับคำตอบที่ถูกต้องไปให้ AI ใช้ในการเรียนรู้จนสามารถสร้าง Model ขึ้นมาได้
- Generative Model คือ AI ที่ใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตนเอง ด้วยการนำข้อมูลไปให้ AI เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละส่วนของข้อมูล (Distribution of Data) เพื่อให้ AI สามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ จากรูปแบบของความสัมพันธ์เหล่านี้ได้
สำหรับธุรกิจองค์กรโดยเฉพาะในกลุ่มของภาคโรงงานและการผลิตนั้น ก็มีการใช้ AI ทั้งสองรูปแบบอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมากน้อยต่างกันไป โดยแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจในการเริ่มต้นด้าน AI นั้นก็คือการใช้งาน Foundation Model
Foundation Model นั้นคือ Model AI ขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ข้อมูลปริมาณมหาศาล และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลายด้วยการ Train ระบบเพิ่มเข้าไปให้เหมาะต่อการนำไปใช้งาน ซึ่งโมเดลเหล่านี้มักจะมุ่งเน้นไปที่ Language Model และ Image Model ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และพัฒนาสติปัญญาได้
อีกแนวทางหนึ่งที่สามารถเริ่มต้นได้นั้นก็คือการนำ Generative AI ไปใช้งานในรูปแบบต่างๆ ทั้งในส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ และส่วนเสริม เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานได้เริ่มต้นเรียนรู้ถึงแนวทางการทำงานร่วมกับ AI แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ธุรกิจนั้นจะต้องคอยปรับแต่ง AI ให้มีความถูกต้องแม่นยำอยู่เสมอ และในการนำ AI ไปใช้งานต้องคอยระวังความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผลลัพธ์หรือคำตอบของ AI ให้ดี
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับการใช้ IBM Maximo บริหารจัดการงานซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าทั่วไทย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ EGAT นั้นคือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการใช้งาน IBM Maximo มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2019 เพื่อใช้ในการบริหารจัดการกระบวนการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกฟผ.ต่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยโครงการดังกล่าวนี้เริ่มต้นจากการนำ IBM Maximo มาเริ่มต้นใช้งานและเรียนรู้ภายในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเพียงแห่งเดียวก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายไปสู่โรงไฟฟ้าแห่งอื่นๆ จนในปัจจุบันนี้ IBM Maximo ได้ถูกวางแผนการนำไปใช้งานในโรงไฟฟ้าทุกแห่งแล้ว
โจทย์สำคัญของ EGAT ในการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงนั้นได้แก่
- ระบบงานดั้งเดิมนั้นเป็นกระดาษทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดขึ้นทั้งในเชิงของเทคโนโลยี กระบวนการ และความร่วมมือจากทั้งผู้บริหารและพนักงานในโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งซึ่งมีรูปแบบและวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน
- จำนวนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ต้องทำการซ่อมบำรุงมีจำนวนมหาศาล ในขณะที่ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ซึ่งจัดเก็บเอาไว้สำหรับงานซ่อมบำรุง และ Supplier ที่เกี่ยวข้องก็มีจำนวนมาก
- การซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าเป็นงานที่มีความสำคัญและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเสมอ ในขณะที่มีข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละกระบวนการการทำงานเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการอนุมัติแต่ละกิจกรรมด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อน
ด้วยเหตุนี้ การปรับใช้ IBM Maximo ได้จนสำเร็จในโรงไฟฟ้าทุกแห่ง จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญมากสำหรับ EGAT โดยมีการนำ IBM Maximo ไปใช้งานทั้งในส่วนของการจัดการกับ Permit to Work (PTW) และการทำ Lock Out / Tag Out (LOTO) เพื่อให้การปฏิบัติงานในส่วนนี้ของโรงไฟฟ้าทุกแห่งอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน และมีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่ง Triple Dot Consulting ก็ได้เข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาปรับแต่งระบบจนสามารถตอบโจทย์การใช้งานที่มีความซับซ้อนสูงเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน
หัวใจสำคัญหนึ่งที่ทำให้การใช้งาน IBM Maximo ประสบความสำเร็จนั้น ก็คือการออกแบบระบบให้สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้ระบบ ให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น การทำเอกสารต้องมีความสับสนน้อยลง และรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำใบงาน รายงาน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องให้โดยอัตโนมัติ ลดงานด้านการจัดทำเอกสารลง และเกิดประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจริงๆ จึงจะทำให้เกิดการเปิดใจใช้งานระบบในองค์กรขนาดใหญ่อย่าง EGAT ได้สำเร็จลุล่วง
Double A กับประสบการณ์การประยุกต์ใช้ IBM Maximo บริหารจัดการกระบวนการซ่อมบำรุงเครื่องจักร
สำหรับ Double A นั้นมีการใช้งาน IBM Maximo รุ่นใหม่ โดยมีการเปิดใช้งาน Module เป็นจำนวนมาก และมีโจทย์ในการเชื่อมผสานระบบ IBM Maximo เข้ากับระบบอื่นๆ เพื่อให้การทำ Asset Management และ Maintenance นั้นสามารถตอบโจทย์ที่ธุรกิจต้องการได้อย่างครบถ้วน เช่น
- การใช้ Mobile Application เพื่อเก็บข้อมูลการทำงานสำหรับแต่ละ Work Order ให้ครบถ้วน เช่น การบันทึกภาพหน้างาน, การเชื่อมต่อ Zoom เพื่อร้องขอการประชุมหรือขอคำแนะนำจากหัวหน้างานและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้จากระบบโดยตรง ทำให้การทำงานมีความถูกต้องแม่นยำ และมีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ครบถ้วนยิ่งขึ้น
- การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ด้วยการผสานนำข้อมูลด้านงบประมาณเข้ามาในระบบด้วย ทำให้การตรวจสอบงบประมาณที่ใช้ดำเนินการเกิดขึ้นได้ในทุกกิจกรรม และในอนาคตก็มีแผนที่จะเชื่อมต่อข้อมูลเหล่านี้เข้ากับ ERP เพื่อให้การผสานรวมข้อมูลธุรกิจมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้เองทำให้ Double A ต้องใช้เวลานในการขึ้นระบบ IBM Maximo นานถึง 1 ปี และได้เริ่ม Go-Live ระบบไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา โดยมีบทเรียนที่นำมาแบ่งปันต่อธุรกิจองค์กรแห่งอื่นๆ ที่ต้องการใช้ IBM Maximo ดังนี้
- การนำระบบมาใช้จะเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจจะได้ปรับปรุง Work Flow ในการทำงาน โดยแนะนำให้ทำการออกแบบระบบและกระบวนการร่วมกับผู้ใช้งาน รวมถึงต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหาร เพื่อให้เกิดความราบรื่นในระยะยาว
- การออกแบบวิธีการใช้งานระบบโดยมีอุปกรณ์ Mobile Device มาช่วยในการทำงาน จะทำให้การทำงานเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงาน เกิดการเข้าถึงใช้งานระบบอย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น
- การออกแบบการทำงานของระบบ ต้องคำนึงถึงการทำงานร่วมกับระหว่าง Mobile Device และ Web Application ให้ดี ว่าแต่ละส่วนควรมีการแสดงผลหรือการใช้งานที่เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการในการใช้งานอย่างแท้จริง
- การออกแบบระบบที่ดี ต้องคำนึงถึงอุปกรณ์ Endpoint ที่หลากหลายสำหรับการนำมาเชื่อมต่อใช้งานร่วมกับระบบ และการบริหารจัดการอุปกรณ์เหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพื่อให้การทำงานไม่สะดุดติดขัด
- สำหรับระบบที่มีความสำคัญสูงต่อการดำเนินงาน ธุรกิจองค์กรควรเตรียมความพร้อมด้าน IT Infrastructure ให้ดีเพื่อรองรับการใช้งานและการเติบโตของระบบเหล่านี้เอาไว้ตั้งแต่แรก
โรงไฟฟ้า BLCP กับการควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า ด้วยการผสาน Asset Management เข้ากับระบบด้านการเงินและบัญชี
โรงไฟฟ้า BLCP เองก็เป็นธุรกิจที่มีการใช้งาน IBM Maximo อีกราย ที่มีการใช้งานอย่างหลากหลายทั้งการทำ Asset Management, Work Management, Contract Management, Inventory Management, Procurement, ERP Integration และการผสานระบบทางด้านวิศวกรรมอื่นๆ สำหรับใช้งานร่วมกัน
ในมุมของ BLCP นั้น จุดสำคัญคือการออกแบบระบบให้รองรับ Work Type, Work Flow, Store Room ให้ครบถ้วนสำหรับกิจกรรมทุกรูปแบบ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินขององค์กรเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อกับระบบบัญชี เพื่อให้มี Workflow การวางแผนด้านงบประมาณ, การเบิกอุปกรณ์, การสร้างใบงาน, การกำหนดรับส่งของระหว่างคลังสินค้า, การจัดซื้อ และการจัดการด้านการเงินให้ครบถ้วนในการทำงานเดียว
การวางระบบเหล่านี้โดยคำนึงถึงประเด็นด้านบัญชีและการเงินด้วย จะทำให้งานด้านบัญชีและการเงินมีความโปร่งใสมากขึ้น ติดตามได้ง่ายขึ้น และทำให้การบริหารสมดุลระหว่างการควบคุมการดำเนินงาน และการช่วยให้การทำงานของพนักงานมีความง่ายดายดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยในระบบของธุรกิจขนาดใหญ่ ข้อมูลเหล่านี้จะมีจำนวนมหาศาลเป็นอย่างมาก ดังนั้นประเด็นด้านประสิทธิภาพในการเข้าถึงและสร้างรายงานให้ได้อย่างรวดเร็วก็จะเป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่ธุรกิจต้องจัดการให้ได้
บทเรียนสำคัญที่ BLCP ได้นำมาแบ่งปันในงานสัมมนาครั้งนี้ ก็คือการที่ธุรกิจจะต้องเลือกให้ดีว่าการนำระบบใดๆ มาใช้นั้น จะต้องมีการปรับแต่งและพัฒนาระบบเพิ่มเติมในระดับที่เหมาะสม เพราะถ้าหากมีการปรับแต่งน้อยเกินไป ระบบก็อาจไม่ตอบโจทย์ต่อการใช้งาน แต่หากมีการปรับแต่งระบบมากเกินไป การดูแลรักษาระบบในระยะยาวก็อาจจะยากจนเกินไป ดังนั้นการเลือกที่ปรึกษาที่ดีอย่าง Triple Dot Consulting ก็จะช่วยให้ธุรกิจมีผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถให้ความเห็นและนำเสนอข้อดีข้อเสียของทุกๆ การตัดสินใจ และช่วยให้กลยุทธ์ด้านระบบ IT เหล่านี้เดินหน้าต่อไปได้อย่างเหมาะสม
อนาคตของ IBM Maximo สู่การบริหารจัดการสินทรัพย์ขององค์กรพร้อมกับการเสริมสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจ
สำหรับธุรกิจองค์กรที่ต้องการต่อยอด IBM Maximo นั้น ทาง IBM Maximo ก็มีโซลูชัน IBM Maximo Application Suite ที่พร้อมให้ธุรกิจนำไปใช้งานต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความสามารถดังนี้
- Maximo Manage สำหรับการบริหารจัดการทรัพย์สินและกระบวนการทำงาน
- Maximo Monitor และ Maximo Visual สำหรับตรวจสอบเครื่องจักร, อุปกรณ์ และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาแสดงผลในลักษณะ Dashboard
- Maximo Health สำหรับจัดทำระบบ Health Scoring ให้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อให้สามารถวางแผนในการดูแลรักษา บริหารจัดการ แก้ไขปัญหาได้แม่นยำมากขึ้น
- Maximo Predict สำหรับการทำ Predictive Maintenance ได้อย่างแม่นยำก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นจริง
ในวิสัยทัศน์ของ IBM นั้น IBM Maximo จะถูกปรับให้สามารถเชื่อมผสานการบริหารจัดการทรัพย์สินได้ทั้งในส่วนของทรัพย์สินทั่วไป และ IT Asset ในหนึ่งเดียว รวมถึงจะมีการผสมผสานแนวคิดด้าน Sustainability เข้ามาในระบบ เพื่อให้สามารถจัดการข้อมูลและรายงานด้าน ESG กับ Climate Risk ได้ และรองรับการทำ Circular Supply Chain ได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ การรองรับ Digital Twins, Sustainability Project และการจัดการอุปกรณ์หุ่นยนต์ในกลุ่ม Robotics ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกสิ่งที่อยู่ใน Roadmap ของ IBM Maximo ด้วยเช่นกัน
ส่วนการใช้งาน IBM Maximo นั้น ธุรกิจจะมีทางเลือกได้ทั้งในแบบ On-Premises, Hyperscaler (AWS, Azure) และ SaaS Editions บน AWS ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าธุรกิจองค์กรจะมีแผนใช้งาน IBM Maximo บน Cloud มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้รองรับต่อปริมาณข้อมูลที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตามปริมาณทรัพย์สินและกิจกรรมงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถประยุกต์นำเทคโนโลยีอย่าง AI หรือส่วนต่อขยายอื่นๆ มาใช้งานเพิ่มเติมได้อย่างคล่องตัว
สนใจโซลูชัน IBM Maximo ติดต่อทีมงาน Triple Dot Consulting ได้ทันที
สำหรับองค์กรที่สนใจรับคำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ IBM Maximo จากทีมงาน Triple Dot Consulting สามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
- Website: https://www.tripledotconsult.com/maximo
- Facebook: https://www.facebook.com/tripledotconsulting/
- Email: info@tripledotconsult.com
- Telephone: +662-610-3104