[PR] กสิกรไทยเปิดบริการหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชนครั้งแรกของโลก ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้งานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็น 35%

กสิกรไทยเปิดโลกใหม่บริการหนังสือค้ำประกันมูลค่า 1.35 ล้านล้านบาท นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เป็นครั้งแรกของโลก สร้างมาตรฐานใหม่หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ ลดขั้นตอนเวลา ต้นทุน เพิ่มความปลอดภัยสูงสุด  หนุนภาคธุรกิจขับเคลื่อนเร็วขึ้น  4 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ-เอกชนร่วมพัฒนาใช้นวัตกรรมนี้ หวังดันสัดส่วนหนังสือค้ำประกันผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเป็น 35% สิ้นปีหน้า

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสร้างเครือข่ายระบบเก็บรักษาและเรียกใช้เอกสารยุค 4.0 ที่มีความปลอดภัยสูง เริ่มเข้ามาพลิกโฉมหน้าธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเอกสารให้ดีขึ้น เช่นบริการหนังสือค้ำประกัน ซึ่งรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่ กำหนดให้บริษัทคู่ค้าต้องวางหนังสือค้ำประกันจากธนาคารเพื่อความมั่นใจในการประกอบธุรกิจร่วมกัน ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงมีหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารต่าง ๆ หมุนเวียนในระบบเป็นจำนวนมาก 

ธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมกับไอบีเอ็มในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนสร้างระบบต้นแบบใช้รับรองเอกสารต้นฉบับ นอกจากนี้ ได้ทำการทดสอบบริการบน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย และจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล   และบจก. พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง ร่วมพัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain) เพื่อยกระดับการจัดการเอกสารหนังสือค้ำประกันแก่หน่วยงานผู้รับหนังสือค้ำประกัน     และคู่ค้าผู้วางหนังสือค้ำประกัน  กล่าวคือ รัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีคู่ค้าจำนวนมาก จะเชื่อมโยงเอกสารหนังสือค้ำประกันของคู่ค้าทั้งหมดบนมาตรฐานเดียวกันด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ 100% ตลอดกระบวนการตั้งแต่เริ่มจนจบโดยไม่ใช้กระดาษ ปลอดภัยสูง ตรวจสอบได้ง่าย และยังปลอมแปลงยาก รวมทั้งสะดวกรวดเร็วกว่ารูปแบบเดิม ซึ่งสามารถเข้าตรวจสอบได้ ทุกที่ ทุกเวลา และจะบันทึกประวัติต่อเป็นห่วงโซ่แบบอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังเอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายธนาคารต่าง ๆ ได้ในอนาคต     บริษัทผู้รับหนังสือค้ำประกันจึงเข้าระบบเพื่อดูเอกสารหนังสือค้ำประกันของคู่ค้าที่ออกโดยธนาคารต่าง ๆ ได้ จากการเข้าระบบเพียงครั้งเดียว

บริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงมีประโยชน์ต่อธุรกิจใน 6 ด้าน ได้แก่       1.ความปลอดภัย มีการจัดเก็บข้อมูลขึ้นบนระบบบล็อกเชนที่มีมาตรฐานเดียวกันและตรวจสอบสถานะได้ตลอดเวลา  2.ความเร็ว ช่วยลดเวลาขั้นตอนด้านเอกสารจาก 24 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 นาที  3. การลดต้นทุน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการจัดการเอกสารลง 2 เท่า  4.การเพิ่มประสิทธิภาพภาคธุรกิจให้จัดการเอกสารได้รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา   5. ข้อมูลรวมศูนย์ ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน และ 6.การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น โดยการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานร่วมกัน สามารถเชื่อมต่อเพื่อต่อยอดได้ในอนาคต

นายพิพิธ กล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2560 คาดว่าประเทศไทยจะมีการออกหนังสือค้ำประกันผ่านระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 1.35 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา 8% ในจำนวนนี้เป็นหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารกสิกรไทย ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ที่ส่วนแบ่งตลาด 25% เป็นอันดับหนึ่ง เป็นการใช้บริการหนังสือค้ำประกันผ่านสาขา 80% และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ 20% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าว่า ในสิ้นปี 2561 จะสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้บริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็น 35%  โดยเป็นสัดส่วนที่ใช้ผ่านบล็อกเชน 5% ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า บริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกนี้ จะถูกนำไปใช้และพัฒนาให้เป็นมาตรฐานใหม่ที่เป็นสากล เพราะบล็อกเชนจะเอื้อให้ทุกภาคส่วนในระบบเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ร่วมกัน ช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ พร้อมขับเคลื่อนสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

About TechTalkThai PR 2

Check Also

Cloud HM ร่วมมือกับ NetApp เร่งการเปิดใช้ไฮบริดคลาวด์ในองค์กรไทย [PR]

เน็ตแอพ (NASDAQ: NTAP) บริษัทโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลอัจฉริยะดั้งเดิม ประกาศในวันนี้ว่า Cloud HM ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำในประเทศไทย กำลังเลือกใช้โซลูชันการจัดเก็บข้อมูลแบบออลแฟลช AFF C-Series ของเน็ตแอพ และบริการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อให้บริการไฮบริดคลาวด์ (Hybrid Cloud) แก่ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทย

Telehouse กับบริการ Cross Connect ตัวช่วยธุรกิจเสริมแกร่งด้านการเชื่อมต่อ [PR]

Cross Connect คือการเชื่อมต่อสายสัญญาณโดยตรงระหว่างอุปกรณ์ของลูกค้าภายในดาต้าเซ็นเตอร์ เช่น การเชื่อมต่อผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เข้าด้วยกัน การเชื่อมต่อโดยตรงนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องการการตอบสนองทันที เช่น  บริการคลาวด์ แอปพลิเคชันทางการเงิน และการสตรีมมิ่ง