Black Hat Asia 2023

‘อีโคซิสเต็ม’ และ ‘พาร์ทเนอร์’ กลจักรสำคัญความสำเร็จ Digital Transformation ไทย เจาะลึก 3 กรณีศึกษา กับ 3 เทรนด์หลักองค์กรแห่งอนาคต Hybrid Cloud, AI และ Sustainability

เก็บตกงานสัมมนาใหญ่แห่งปี IBM Solutions Summit, Powered by IBM Partners ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ทาง IBM และพาร์ทเนอร์ จัดทัพเทคโนโลยีมาอัพเดทกันอย่างเต็มที่ โดยในงานนี้ ทาง IBM ยังได้ประกาศวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตและการยกระดับการสนับสนุนพาร์ทเนอร์ พร้อมเชิญ EGAT, Big C และ Kubota มาร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์การทำ Digital Transformation ใน 3 รูปแบบ ที่ตอบโจทย์ทั้ง Hybrid Cloud, AI และ Sustainability กันอย่างครบถ้วน

ทีมงาน TechTalkThai และ ADPT.news มีโอกาสได้ไปร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ จึงขอนำสรุปประเด็นที่น่าสนใจจากงานสัมมนาในครั้งนี้ให้ผู้อ่านทุกท่านดังนี้ครับ

 

3 เทรนด์อนาคตในมุมมองของ IBM: Hybrid Cloud, AI และ Sustainability

คุณสุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี ของ IBM ในประเทศไทย ได้เริ่มเกริ่นถึง IBM ที่ก่อตั้งมานานกว่า 111 ปีแล้ว ส่วนในไทยเองปีนี้กำลังจะครบรอบ 70 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเทรนด์ของเทคโนโลยีนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด รวมถึงในทุกวันนี้ที่ทั่วโลกกำลังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อยู่ด้วยเช่นกัน และ IBM เองก็ปรับตัวมาโดยตลอด พร้อมเป็นผู้นำในการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในต่างประเทศและในไทยมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปี 2022 นี้ 3 เทรนด์แห่งอนาคตที่ IBM มองเป็นเทรนด์สำคัญทั่วโลกและในไทย ได้แก่

1. Hybrid Cloud

สำหรับธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ การปรับมาสู่ภาพของ Hybrid Cloud นั้นถือเป็นกลยุทธ์ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ เป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านเทคโนโลยีให้กับธุรกิจ Hybrid Cloud เป็นเอนจินสำคัญที่เชื่อมระบบไอทีที่อยู่ในแบบเลกาซีกับบนคลาวด์เข้าด้วยกัน ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ ช่วยให้องค์กรทั่วโลกสามารถให้บริการ Digital และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบที่รวดเร็วและตอบไลฟสไตล์ที่เปลี่ยนไปได้ โดยมีตัวเลขสถิติและประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  • Hybrid Cloud สามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้มากกว่าการใช้ Public Cloud เพียงอย่างเดียวถึง 2.5 เท่า
  • 80% ของธุรกิจองค์กรระบุว่าปัจจุบันเริ่มมีการใช้งาน Hybrid Cloud แล้ว
  • การใช้ Hybrid Cloud ช่วยตอบโจทย์ด้าน Cybersecurity ให้แก่ธุรกิจองค์กรได้ดียิ่งขึ้น
  • Hybrid Cloud จะกลายเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนา AI ในภาคธุรกิจองค์กร ทั้งในแง่ของการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำ AI Model มาใช้งาน

ด้วยเหตุนี้เอง Hybrid Cloud จึงได้กลายเป็นกระแสหลักในโลกของ IT Infrastructure ที่ทุกองค์กรต้องมุ่งไป

2. AI

การเติบโตอย่างรวดเร็วข้อมูลและปริมาณข้อมูลมหาศาลที่ธุรกิจต้องใช้วิเคราะห์ ทำให้ AI แทบจะกลายเป็นเทคโนโลยีเดียวที่สามารถประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลเหล่านี้ได้ อีกทั้ง AI ยังได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำ Automation ทั้งสำหรับภาคธุรกิจและ IT โดยคุณสุรฤทธิ์ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจเอาไว้หลายประการ

  • 35% ของธุรกิจองค์กรเริ่มมีการใช้งาน AI จริงในการดำเนินธุรกิจแล้ว
  • ปัญหาของการขาดแคลนแรงงานทักษะและการที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้เทคโนโลยี AI และ Automation กลายเป็นสิ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มปัญหานี้ได้ ซึ่ง 30% ของธุรกิจก็ระบุว่าพนักงานเริ่มมีการนำ AI และ Automation ไปใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการทำงานแล้ว
  • ในอดีต การตรวจจับภัยคุกคามภายในองค์กรนั้นใช้เวลาเฉลี่ยถึง 280 วันกว่าจะพบเจอร่องรอยของการโจมตี แต่ AI ทำให้ความเร็วในการตรวจจับสูงขึ้นถึง 60 เท่า
  • ภัยคุกคามในปัจจุบันนั้นส่งผลเสียหายต่อธุรกิจอย่างเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นกว่าในอดีต เช่น ราคาสินค้าในโลกจริงอาจปรับตัวสูงขึ้นได้จากการที่ Supply Chain ของสินค้านั้นๆ ถูกโจมตีทางไซเบอร์ ดังนั้นบทบาทของ AI ในการปกป้องธุรกิจจึงยิ่งทวีความสำคัญ
  • อุตสาหกรรมโรงงานและการผลิตตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามไซเบอร์อันดับหนึ่งแทนที่อุตสาหกรรมการเงินแล้ว ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียเองก็ตกเป็นเป้าของการโจมตีเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วยแล้วเช่นกัน

ในวิสัยทัศน์ของ IBM นั้น AI และ Hybrid Cloud ต่างล้วนเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่ไม่อาจแยกจากกันได้ เพราะระบบ AI ที่ดีนั้นมักจะต้องมี Hybrid Cloud เป็นเบื้องหลัง เพื่อให้ธุรกิจองค์กรมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ AI หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา อีกทั้งยังช่วยควบคุมต้นทุนทางด้านเทคโนโลยีได้ดีกว่าการใช้เพียงแค่ On-Premise หรือ Public Cloud อีกด้วย

3. Sustainability

สุดท้ายคือประเด็นด้านความยั่งยืนหรือ Sustainability ที่เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกธุรกิจบนโลก โดย IBM ระบุว่า 51% ของเหล่า CEO เริ่มกำหนดให้ความยั่งยืนกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายของธุรกิจแล้ว ทำให้หลังจากนี้ภาคธุรกิจองค์กรนั้นต้องมีการวางกลยุทธ์และเป้าหมายทางด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน มีการปรับ Supply Chain ให้ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนและการหมุนเวียนของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น และในแต่ละปีก็ต้องมีการออกรายงาน ESG Report เพื่อระบุถึงข้อมูลของการกระทำและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องต่อความยั่งยืน ซึ่งต้องสามารถ Audit ได้อย่างโปร่งใส

แน่นอนว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนนี้ก็ถือเป็นอีกสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ ตรวจสอบด้านพลังงาน มลภาวะ และการสร้างขยะที่เกิดขึ้น การติดตามข้อมูลของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ไปจนถึงการลงทุนนำพลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อขับเคลื่อนระบบ IT โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อโลก

ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่ากว่า 80% ของซีอีโอทั่วโลก มองว่าการลงทุนในด้านความยั่งยืนจะทำให้ผลประกอบการธุรกิจดีขึ้นภายใน 5 ปี และ 45% ยังมองว่าความยั่งยืนจะช่วยเร่งเครื่องการเติบโตให้กับองค์กร

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 เทรนด์ใหญ่นี้ล้วนส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจองค์กร ซึ่ง IBM เองก็มองว่าท้ายที่สุดแล้วการจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เป็นจริงขึ้นมาได้นั้น แนวทางที่สำคัญนั้นก็คือความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม เป็น Ecosystem ที่นำผู้เชี่ยวชาญหรือเหล่า Expert ร่วมกันแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์เหล่านี้ให้เป็นจริงขึ้นมา

ในปีนี้ IBM ได้กำหนดกลยุทธ์ในการจับมือร่วมกับพาร์ทเนอร์ เป็น Ecosystem ที่ร่วมกันนำเทคโนโลยี AI และ Hybrid Cloud เข้าสนับสนุนองค์กรไทยใน 5 มิติ ประกอบด้วย

  1. Predict หรือการคาดการณ์ทางธุรกิจเพื่อช่วยองค์กรสร้างความสำเร็จบนพื้นฐานของข้อมูล
  2. การ Automate ในสเกลใหญ่เพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพ
  3. การช่วย Secure ในทุกระบบและช่องทาง ด้วยเทคโนโลยีและบริการด้านซิเคียวริตี้ระดับโลกที่ครบวงจรจากไอบีเอ็ม
  4. การ Modernize ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ให้องค์กรพร้อมเดินหน้าทำธุรกิจบนสภาพแวดล้อมแบบ Hybrid Cloud
  5. การช่วยองค์กร Transform ด้วยโมเดลธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

อีกส่วนที่ให้มุมมองการนำเทคโนโลยีเข้าขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเห็นภาพได้ชัด คือ Innovation Talk ในงาน ที่มีผู้บริหารจากทาง EGAT, Big C และ Siam Kubota มาเล่าถึงวิสัยทัศน์และประสบการณ์ในการทำ Digital Transformation

 

EGAT สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศไทย ด้วย Technology และ Future Energy

คุณนพพล พันธ์เงิน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. หรือ EGAT) ได้เริ่มต้นด้วยเป้าหมายของกฟผ. ที่ต้องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีพลังงานใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่สำคัญในหลากหลายแง่มุม

เทรนด์หนึ่งที่ กฟผ. กำลังจับตามองอยู่นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงไปของตลาดพลังงานทั่วโลก ที่มีกลุ่มของ Prosumer หรือผู้ใช้พลังงานที่ผันตัวมาเป็นผู้ผลิตพลังงานเองด้วยโซลาร์เซลล์หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไป ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานปริมาณมากในการดำเนินการ ดังนั้นสิ่งที่ กฟผ. กำลังทำอยู่ก็คือการพยายามช่วยให้ราคาของพลังงานมีความสมดุลและมั่นคง รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาตอบรับต่อรูปแบบที่เปลี่ยนไปในการผลิตและจ่ายพลังงานจากเหล่า Prosumer อาทิ

  • การเตรียมปรับตัว กฟผ. สู่การเป็น Provider พัฒนา Platform ซื้อขายพลังงาน
  • การส่งพลังงานผ่านสายส่งผ่านระบบจำหน่าย
  • การปรับปรุง Digital Substation รับการผันผวนของพลังงาน
  • การผลิต ปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์
  • การนำเทคโนโลยีอย่าง Solar Cell ไปวางบนพื้นที่เขื่อนสิรินธร เพื่อผลิตไฟฟ้าร่วมกับพลังน้ำ
  • การใช้ไฮโดรเจนผลิตพลังงานไฟฟ้า
  • การตั้งเป้าหมายให้การผลิตไฟฟ้าปล่อยคาร์บอนให้น้อยในระดับที่ใกล้เคียงศูนย์ที่สุด

แน่นอนว่าการผลิตพลังงานถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ กฟผ. จึงเป็นการดูแลรักษาโรงไฟฟ้าให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมักเป็นเรื่องที่มีต้นทุนสูง มีประเด็นด้านความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่และทรัพย์สินที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะหากมี Downtime เกิดขึ้นย่อมเสียหายมหาศาล ทาง กฟผ. จึงได้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบ Maintenance โรงไฟฟ้าเหล่านี้อย่างเต็มที่

เทคโนโลยีที่ กฟผ. เลือกใช้เพื่อดูแลรักษาโรงไฟฟ้านั้นก็คือ IBM Maximo Asset Management ที่มีทั้งคุณสมบัติในการรวบรวมข้อมูลด้านการซ่อมบำรุง การเชื่อมผสานระบบเข้ากับ Software ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงและการผลิตไฟฟ้า ไปจนถึงการมีระบบ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรในแต่ละวัน ทำให้สามารถทำ Predictive Maintenance ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับ กฟผ. ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ กฟผ. ก็ยังมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา AI อีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา AI เพื่อใช้ประมวลผลภาพถ่ายจาก Drone ที่บินตรวจสอบเขื่อนซึ่งมีขนาดใหญ่ หรือ Solar Floating ขนาดหลายร้อยหรือหลายพันไร่ ส่วนการทำนายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เอง ก็ต้องใช้ AI ร่วมกับข้อมูลทำนายสภาพอากาศเพื่อประเมินกำลังการผลิตให้แม่นยำ เป็นต้น

 

Big C เร่งสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจด้วย Hybrid Cloud

คุณศักดิ์ชัย ลีลาเจษฎากุล Executive Vice President, MIS, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึงการดำเนินธุรกิจของ Big C ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้มีการเพิ่มความหลากหลายให้กับอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศไทย โดยภายใน Big C นั้นมีทั้งธุรกิจส่วนที่เป็น Hypermarket, Supermarket, Convenience Store, ร้านกาแฟวาวีซึ่งมีโรงคั่วผลิตเมล็ดกาแฟ, เอเชียบุ๊ค, ตลาดกลางคืน, โชห่วย และอื่นๆ อีกมากมาย ทำการค้าปลีกในรูปแบบต่างๆ ให้ตอบโจทย์คนแต่ละกลุ่มมากขึ้น และขยายตลาดออกไปนอกประเทศไทย ครอบคลุมไปถึงลาว เวียดนาม และกัมพูชา

เมื่อมีรูปแบบของการค้าปลีกที่หลากหลาย การได้มาซึ่งข้อมูลทางธุรกิจของ Big C จึงยิ่งเติบโตเป็นเงาตามตัว เพราะในร้านค้า ตลาด หรือห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่งนั้นมีใบเสร็จจำนวนมากเกิดขึ้นในทุกๆ วินาที ดังนั้นประเด็นด้าน IT และ Data จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารของ Big C ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และมีการวาง Direction ทางด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจเอาไว้ดังนี้

  • One Platform for all BUs ระบบเดียวใช้ทุกแผนก จะได้จัดการง่าย คุ้มค่าใช้จ่ายในการพัฒนา
  • Open Source Technology ควบคุมค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ IT ใหม่ๆ แต่ก็ยังคงมีการใช้งาน Software แบบ Commercial คู่ไปด้วย
  • Online/Offline Microservice & API Integration รวมข้อมูลจากทั้ง Online/Offline ให้ครบ เชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดจาก Microservice, API
  • Low Code Development Platform จะได้พัฒนา Software สำหรับใช้งานภายในองค์กรได้เร็วขึ้น ตอบโจทย์ธุรกิจและการใช้งานข้อมูลได้ทันท่วงที
  • People Capability พัฒนาความสามารถของบุคลากรภายใน Big C โดยทุกคนจะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงาน และมีส่วนในการพัฒนา Software ใหม่ๆ ด้วย

คุณศักดิ์ชัย ยังได้เสริมเรื่องเส้นทางในการทำ Digital Transformation ที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่การเป็น Data Driven ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ทาง Big C ก็ได้มีการลองปรับเปลี่ยนวิธีการในการนำข้อมูลมาใช้ทำธุรกิจด้วยกันแล้วถึง 3 ยุคใหญ่ๆ

  1. ยุคแรก ทาง Big C เองยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลมากนัก จึงได้มีการร่วมมือกับผู้ให้บริการภายนอกในการทำ Customer Insight โดย Big C จะทำการส่งข้อมูลด้านการขายและการตลาดของตนเองออกไปให้ผู้บริการทำการวิเคราะห์ ทำให้ Big C มีโอกาสที่จะค่อยๆ ได้เรียนรู้ Customer Insight ใหม่ๆ ไปพร้อมกับการสร้างความเชี่ยวชาญด้าน Data ของตนเองเพิ่ม
  2. ยุคที่สอง ทาง Big C รู้ตัวแล้วว่าต้องมีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลให้ได้ จึงตั้งบริษัท C Smart Solution ขึ้นมา ให้ทีมงานของ Big C และผู้ให้บริการภายนอกทำงานร่วมกัน โดยมีการเปลี่ยนผู้ให้บริการในครั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้เพิ่มเติม พร้อมกับเริ่มสร้าง Data Warehouse ของตนเองขึ้นมาใช้งาน
  3. ยุคปัจจุบัน ทาง Big C ต้องการที่จะปรับธุรกิจสู่ภาพของ Data Driven เต็มตัวในระดับ Self Service แล้ว โดยใช้โซลูชัน IBM IIAS และ IBM Power10 ร่วมกันเป็นหลัก เพื่อให้การจัดการเตรียมและนำข้อมูลส่งออกไปให้ผู้ใช้งานใช้นั้นเป็นอัตโนมัติมากที่สุด และปรับ Workflow ในฝั่งของ Data ให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ลดขั้นตอนการสื่อสารด้าน Requirement ระหว่างภาคธุรกิจ ข้อมูล และ IT ลง เพื่อให้งานทั้งหมดมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจนั้นก็คือการที่ Big C ได้ใช้งาน IBM Power System Server มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ IBM Power7 มาจนถึง IBM Power10 ด้วยเหตุผลด้านความคุ้มค่าในการลงทุนด้านพลังประมวลผลเป็นหลัก จนล่าสุดนี้ได้กลายเป็นธุรกิจที่ได้ใช้ IBM Power10 เป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากโครงการการย้าย Data Center ไปพร้อมกับการทำ Consolidation ควบรวมระบบให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งการอัปเกรดมาใช้ IBM Power10 นี้ก็ทำให้สามารถทำ CPU Core Consolidation ได้มากถึง 64% และยังสามารถลดการใช้ CPU สำหรับ Core ERP ได้ 50% พร้อมกับลด License สำหรับ Database ได้ 45% ทำให้คุ้มค่าต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก

 

Siam Kubota เสริมศักยภาพเกษตรกรไทย ด้วยแนวคิด Sustainability และ AI

คุณอำนาจ บุตรทองคำวงษ์ KUBOTA Solutions Department Manager บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ได้เผยว่าในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยนั้นได้มีการนำ IT และ AI มาใช้อย่างรวดเร็วมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากเหล่าเกษตรกรรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เชื่อในเทคโนโลยี ได้ก้าวมาสู่การเป็น Smart Farmer กันมากขึ้นทั่วประเทศ, การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในภาคการเกษตรที่มากขึ้น ไปจนถึงแรงผลักดันจากเหล่าผู้บริโภคเองที่สนใจประเด็นด้านสุขภาพและความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้การใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการเพาะปลูกแทนที่การใช้สารเคมีจึงกลายเป็นหัวใจสำคัญ

ในมุมของ Siam Kubota เองก็ต้องปรับตัวไม่น้อย จากเดิมทีที่เป็นผู้ขายเครื่องจักรทางการเกษตร ก็ต้องผันตัวมาเป็นผู้พัฒนา Platform และเทคโนโลยีด้านการเกษตรแบบครบวงจรแทน นิยามคำว่าลูกค้าของ Siam Kubota เองก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ปัจจุบัน Siam Kubota ต้องมาทำความเข้าใจถึงระดับของผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเห็นถึงทิศทางของตลาด และสะท้อนกลับไปยังการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรได้

วิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้ทำให้ Siam Kubota ต้องทุ่มเทเต็มที่กับเทคโนโลยีและกระบวนการในส่วนของข้อมูลและ AI เกิดเป็นโครงการที่หลากหลาย ได้แก่

  • การใช้ AI สำหรับวิเคราะห์ทางด้านการเงินในภาคการเกษตร ซึ่งต้องเข้าไปช่วยเกษตรกรปรับปรุงตั้งแต่การรวบรวมจัดเก็บข้อมูลต้นทุนการเพาะปลูก เช่น ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี ไปจนถึงการวิเคราะห์คุณภาพผลผลิต เพื่อให้มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการเพาะปลูกและผลลัพธ์ที่ได้ นำไปสู่การปรับปรุงด้านการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง และการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
  • การวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ โรคระบาด และอื่นๆ เพื่อช่วยลดความไม่แน่นอนในการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร พร้อมให้คำแนะนำที่เหมาะสม เช่น ถ้าหากอีก 3 วันฝนจะตก ก็ควรลงปุ๋ยรอไว้ตั้งแต่วันนี้เลย เป็นต้น
  • การพัฒนา AI เพื่อตรวจสอบจำแนกชนิดของแมลงที่พบในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และแนะนำการกำจัดแมลงได้อย่างเหมาะสม แม่นยำ และประหยัดที่สุด
  • การพัฒนาระบบเพื่อวิเคราะห์ความพร้อมของดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจเตรียมดินก่อนปลูกให้เหมาะกับพืชที่ต้องการเพาะปลูกได้
  • การทำ Automation ในการเพาะปลูกด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์ โดย Siam Kubota เชื่อว่าในอนาคตหากสินค้าการเกษตรมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น เทคโนโลยีนี้จะถูกใช้งานมากขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งการทำ Automation นี้ก็มีความแตกต่างกันไปสำหรับการเพาะปลูกในที่โล่งและภายในโรงเรือน อีกทั้งยังสามารถครอบคลุมไปถึงการตรวจวัดผลผลิตก่อนเก็บเกี่ยวได้ เช่น การตรวจสอบความสุก ความหวาน และสีสันของผลไม้ให้ได้ค่าที่กำหนดก่อนทำการเก็บเกี่ยวแบบอัตโนมัติ เป็นต้น
  • การใช้ Image Processing มาตรวจสอบการประกอบเครื่องจักรทางการเกษตร ลดความผิดพลาดในการผลิตลงได้เป็นอย่างมาก

แน่นอนว่าเมื่อ AI กลายเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของ Siam Kubota แผนการในอนาคตของ Siam Kubota จึงต้องการที่จะย้ายข้อมูลและระบบทั้งหมดขึ้นสู่ Cloud ให้ได้เพื่อนำข้อดีด้านความยืดหยุ่นและการเข้าถึงได้ง่ายดายมาให้บริการแก่เหล่าเกษตรกร โดยมี Hybrid Cloud เป็นก้าวถัดไปเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าทั้ง EGAT, Big C และ Siam Kubota นี้ ถึงแม้จะเป็นธุรกิจในคนละอุตสาหกรรมกันโดยสิ้นเชิง แต่จุดร่วมในด้านของเทคโนโลยี, AI และความยั่งยืนนั้นก็ยังคงมีอยู่อย่างชัดเจน และนี่ก็คงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับธุรกิจองค์กรอื่นๆ ที่ต้องการกำหนดวิสัยทัศน์ในระยะยาวหลังจากนี้

สุดท้ายทีมงาน TechTalkThai และ ADPT.news ก็ต้องขอขอบคุณทาง IBM และเหล่าพาร์ทเนอร์ผู้จัดงานแต่ละรายที่ให้โอกาสได้ไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วยครับ

สำหรับผู้ที่สนใจรับฟังวิสัยทัศน์ดีๆ สามารถลงทะเบียนรับชมคลิปย้อนหลังได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อไม่ให้พลาดในทุกประเด็นที่น่าสนใจจากงานสัมมนาในครั้งนี้ที่ https://go.techtalkthai.com/2022/08/ibm-solutions-summit-2022-videos/

 


About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Intel เปิดตัว NUC 13 Pro ใหม่ ใช้หน่วยประมวลผล 13th Gen Intel Core

Intel ได้ประกาศเปิดตัว Intel NUC 13 Pro (code-named Arena Canyon) ใหม่ ใช้หน่วยประมวลผล 13th Gen Intel Core …

QNAP ออกประกาศเตือนช่องโหว่ Linux Sudo ใหม่บนอุปกรณ์ NAS

QNAP ออกประกาศเตือนช่องโหว่ Linux Sudo ใหม่บนอุปกรณ์ NAS ล่าสุดออกแพตช์อุดช่องโหว่นี้แล้วบางส่วน