ในช่วงวันที่ 28 มกราคม 2019 – 1 กุมภาพันธ์ 2019 นี้ ทางหัวเว่ยได้จัดงาน AI Open Day Thailand 2019 เพื่อจัดแสดงเทคโนโลยีด้าน AI ของตนเอง พร้อมจำลอง Use Case ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศจีนมาให้เราได้รับชม เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์นำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้งานในประเทศไทย ซึ่งทางทีมงาน TechTalkThai ก็มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมชมงานครั้งนี้มา และก็ประทับใจค่อนข้างมากทีเดียวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง จึงขอสรุปเรื่องราวที่น่าสนใจให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ
** หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนานี้ได้ฟรีๆ ทันทีที่ https://varpevent.com/e/2019/huawei/cloud-ai-day/ ครับ ตอนนี้ยังพอมี Slot ว่างเหลืออยู่บ้าง โดยในแต่ละวันจะแบ่งออกเป็นช่วงเช้าและบ่าย ซึ่งแต่ละช่วงจะมีเนื้อหาเหมือนกัน ดังนั้นผู้เข้าร่วมงานจึงสามารถเลือกช่วงเวลาที่ตนเองสะดวกได้โดยตรงในหน้าลงทะเบียนครับ

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานด้วยใบหน้า ให้ AI ทำ Face Recognition
ตั้งแต่ก้าวแรกก่อนเข้าร่วมงานนั้น Huawei ก็ได้ตั้งบูธสำหรับให้ AI จดจำใบหน้าของผู้เข้าร่วมงานเอาไว้ เพื่อแสดงถึงแนวโน้มใหม่ในอนาคตที่ขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าร่วมงานต่างๆ นั้นจะเปลี่ยนแปลงไป จากการลงทะเบียนด้วยเอกสารหรือการพิมพ์ข้อมูลทั่วๆ ไป เสริมด้วยการใช้ AI จดจำใบหน้าเพื่อผูกรวมข้อมูลใบหน้าเข้ากับข้อมูลการลงทะเบียนอื่นๆ
การมีข้อมูลใบหน้าของผู้เข้าร่วมงานนั้น ยังส่งผลทำให้ผู้จัดงานสามารถติดตามพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมงานแต่ละคนได้ ด้วยการติดตั้งกล้องอัจฉริยะเหล่านี้เอาไว้ทั่วบริเวณงาน และคอยติดตามว่าผู้เข้าร่วมงานแต่ละคนใช้เวลาอยู่กับพื้นที่ส่วนไหนของงาน รวมถึงหากมีกิจกรรมใดๆ ให้ร่วมสนุกก็สามารถใช้ใบหน้าของผู้เข้าร่วมงานระบุตัวตนได้ทันที ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวครับ
จะรับกาแฟก่อนเข้าชมงาน ต้องทำมือรูปหัวใจกันก่อน
การปรับนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างกิจกรรมสนุกๆ นั้นก็เป็นไปได้ โดยในงานนี้ Huawei ได้จัดบูธแจกกาแฟฟรี โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่อยากทานกาแฟจะต้องไปยืนหน้า Tablet แล้วทำมือรูปหัวใจก่อน จึงจะสามารถลงทะเบียนเพื่อรับกาแฟฟรีได้ แน่นอนว่าแนวคิดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกหลากหลาย ไม่เพียงแต่การกำหนดท่าทางเท่านั้น แต่การนำสินค้าที่มีตราโลโก้ของแบรนด์มาแสดง หรือเงื่อนไขอื่นๆ นั้นก็เป็นไปได้ทั้งสิ้นด้วยเทคโนโลยี AI
Huawei กับกลยุทธ์ Full-stack AI พัฒนาเทคโนโลยีตั้งแต่ Hardware จนถึง Application เองทั้งหมด
Huawei ได้ออกมาเล่าถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในฝั่ง AI ของตนเองว่าทาง Huawei นั้นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI เป็นอย่างมาก และในมุมของ Huawei เองที่มีทั้งเทคโนโลยีในฝั่งของอุปกรณ์ Endpoint อย่าง Smartphone และ Notebook รวมกับเทคโนโลยีฝั่ง Data Center อย่าง Server หรือ Cloud ซึ่งมีภาพครบทั้ง Hardware และ Software อีกทั้่งยังมีพื้นฐานด้านการวิจัย คิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จากธุรกิจระบบ IT Infrastructure ทั้งสำหรับผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์และระดับองค์กร ก็ทำให้ Huawei สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดของ AI ได้ไม่ยาก
ทาง Huawei นั้นได้ทำการพัฒนาชิป AI ของตนเองเพื่อใช้ในการประมวลผลประสิทธิภาพสูงได้ โดยชิปดังกล่าวนี้จะใช้สถาปัตยกรรม Da Vinci และมีชิปในฝั่ง Data Center ที่ชื่อว่า Huawei Ascend 910 ซึ่งใช้เทคโนโลยี 7nm ในการผลิต และมีความเร็วในการประมวลผล FP16 สูงถึง 256 TeraFLOPS ต่อชิป ในขณะที่สำหรับฝั่งอุปกรณ์ Mobile และ IoT นั้นจะมีชิป Huawei Ascend 310 ซึ่งใช้เทคโนโลยี 12nm และมีความเร็วในการประมวลผล FP16 อยู่ที่ 8 TeraFLOPS
ชิปเหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของ Huawei ในการรุกตลาด AI ทีเดียว เพราะชิปเหล่านี้จะเป็นตัวประมวลผลหลักที่ทำให้ AI Application สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ผสานไปกับแนวคิดของ Internet of Things (IoT) ในขณะที่ยังจะช่วยเร่งพลังประมวลผลในฝั่ง Data Center โดยยังคงประหยัดพลังงานได้อยู่
ในแง่ของระดับ Software นั้น Huawei เองก็มี Platform สำหรับต่อยอดในการพัฒนาระบบ AI บน Cloud มากมาย เช่น ModelArts และ HiLens ซึ่งก็จะช่วยให้ภาคธุรกิจนั้นสามารถประยุกต์ใช้ระบบ AI ในธุรกิจของตนเองในแง่มุมที่ต้องการได้ง่าย
อีกจุดเด่นหนึ่งของ Huawei Cloud ที่น่าสนใจก็คือการที่ Huawei ลงทุนเปิด Cloud Data Center ในเมืองไทยโดยตรง ดังนั้นธุรกิจไทยจึงสามารถเลือกใช้ Huawei Cloud ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลจะต้องถูกรับส่งออกไปยังต่างประเทศเหมือนการใช้บริการ Cloud อื่นๆ ทำให้สามารถประหยัด Bandwidth และตอบโจทย์ด้านการทำ Compliance ได้เป็นอย่างดี
พาชมสนามบินแห่งอนาคต ใช้ใบหน้าควบคู่กับ Passport เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย
ถัดมาทีมงาน TechTalkThai ก็ได้ไปรับชมการจำลองสนามบินของ Huawei ที่ได้นำ AI เข้ามาใช้ช่วยอำนวยความสะดวกกันครับ โดยก้าวแรกที่เข้าไปเราจะได้เห็นการทดสอบผูกใบหน้าเข้ากับ Passport โดยผู้โดยสารจะสามารถทำการสอด Passport เข้าไปยังเครื่องอ่าน และหันหน้าให้กล้องทำการจดจำใบหน้าของเรา ทำให้การเดินเข้าออกพื้นที่ต่างๆ ของสนามบินนั้น สามารถเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัยและมีการติดตามอยู่เสมอว่าใครไปที่ไหน และผู้โดยสารก็สามารถรับบริการต่างๆ ของสนามบินได้ทันทีโดยใช้เพียงแค่ใบหน้าเท่านั้น เช่น การตรวจสอบข้อมูลของเที่ยวบิน เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สนามบินเองก็สามารถใส่แว่น Augmented Reality ที่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์ Smartphone เพื่อทำการตรวจสอบใบหน้าของเจ้าหน้าที่หรือผู้โดยสารแต่ละคนแบบ Real-time ได้เสมอว่าเป็นใคร มีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลหรือไม่ หรือเมื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูลอาชญากรแล้วมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร ทั้งหมดนี้จะช่วยให้การรักษาความปลอดภัยในสนามบินถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งได้
ป้องกันความเสียหายในการจัดส่งสินค้าในวงการ Logistics ด้วย AI
จากนั้นทีมงานก็ได้รับชมโซลูชันด้านระบบ Logistics ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งธุรกิจ Logistics ในจีนนั้นถือว่าเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มากจากแนวโน้มด้าน E-Commerce ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา
สิ่งที่ธุรกิจจีนมองสำหรับ Logistics นั้นก็คือการปรับปรุงคุณภาพของการส่งสินค้าและลดต้นทุนให้ต่ำลง โดยปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งก็คือการที่สินค้าหรือหีบห่อต่างๆ ที่มีการรับส่งนั้นเกิดความเสียหายจากการที่พนักงานโยนกล่องสินค้าหรือขนย้ายแบบไม่ระมัดระวัง ทำให้ในช่วงแรกเริ่มนั้นธุรกิจเหล่านี้จำเป็นจะต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดเอาไว้ทั่วทุกมุม และมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถึงแม้จะได้ผลดี แต่ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่จะต้องมาตรวจสอบนี้ก็สูงไม่ใช่น้อย
AI ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ โดย Huawei ได้ทำการ Train ระบบให้เรียนรู้จากภาพได้ทันทีว่ามีการโยนกล่องสินค้าหรือมีการใช้ความรุนแรงกับสินค้าเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีก็ให้ทำการบันทึกภาพและบรรยายเหตุการณ์พร้อมให้คะแนนความรุนแรงทันที ระบบนี้ช่วยให้ธุรกิจ Logistics จีนยังคงควบคุมคุณภาพการทำงานของพนักงานได้ โดยอาศัยพนักงานในการตรวจสอบลดน้อยลงเป็นอย่างมาก และทำให้สามารถติดตั้งกล้องให้ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น
ใช้ OCR ผสาน AI วิเคราะห์ข้อมูลในบัตรประชาชน เพื่อบันทึกลงในระบบได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
อีกบูธหนึ่งที่ถูกจัดแสดงและได้รับความสนใจก็คือระบบ OCR ที่ฉลาดยิ่งขึ้นด้วย AI ซึ่งทาง Huawei ได้นำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในบัตรประชาชนและนำมาบันทึกลงระบบต่างๆ โดยอัตโนมัติ ถึงแม้ว่าตรงนี้ฟังดูแล้วเหมือนจะธรรมดาแต่ความน่าสนใจนั้นถูกซ่อนอยู่ในรายละเอียดเบื้องหลังของระบบครับ
โดยปกติแล้วเทคโนโลยี OCR นั้นจะทำการแปลงตัวอักษรในไฟล์ภาพออกมาเป็นข้อความเพื่อให้เราสามารถนำไปใช้ต่อในระบบอื่นๆ ได้ แต่ปัญหาที่เราพบเจอกันในการใช้งานจริงนั้นก็มีด้วยกันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ฟอนต์ตัวอักษรเปลี่ยนไปจน OCR ไม่สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ, การเปลี่ยนแปลง Format และตำแหน่งของข้อมูลต่างๆ ในเอกสารก็ทำให้ต้องมีการตั้งค่าการทำงานของระบบใหม่, การอ่านข้อมูลที่เป็นลายมือขาดความแม่นยำ และหากเกิดกรณีข้อมูลผิดพลาด ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่มาคอยแก้ไขให้เอง
สิ่งที่ Huawei ได้นำ AI เข้ามาเสริมเพื่อแก้ไขปัญหานั้นก็คือปัญหาข้างต้นดังกล่าว AI จะทำให้การอ่านเอกสารด้วย OCR มีความชาญฉลาดมากขึ้น ระบบสามารถเข้าใจได้ว่าเนื้อหาลักษณะนี้คือข้อมูลที่ควรถูกบันทึกลง Field ไหน อีกทั้งในการใช้งานจริงที่เมียนมาร์ AI ของ Huawei เองก็ช่วยให้ OCR สามารถอ่านเอกสารที่เป็นลายมือ และบันทึกลงฐานข้อมูลโดยอัตโนมัติได้สำเร็จมาแล้ว
วิเคราะห์การจราจรทั่วเมืองด้วยภาพจากกล้อง และ Optimize การจัดการสัญญาณไฟเขียวไฟแดงโดยอัตโนมัติ
สำหรับเมืองขนาดใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่ง Huawei นั้นก็ใช้กล้องในการจับภาพบนท้องถนนและสี่แยกทั้งหมดเพื่อนำข้อมูลปริมาณรถยนต์มาใช้ทำการวิเคราะห์การเปิดสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสมกับสภาพท้องถนนจริงๆ โดยอัตโนมัติ ทำให้การจราจรนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น และปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดการกับไฟสัญญาณได้ตามสภาพการใช้งานที่เกิดขึ้นบนท้องถนนจริงๆ
ในขณะเดียวกัน การติดตามข้อมูลรถยนต์นั้นก็ยังสามารถทำได้ในเชิงลึก ตั้งแต่สี ป้ายทะเบียน และระบุตัวตนคนที่ข้ามถนน ข้อมูลเหล่านี้เองก็ยังสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ต่อในภายหลังได้อีก เช่น การทำความเข้าใจพฤติกรรมและเส้นทางการสัญจรของประชาชน เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาการจราจรในภาพใหญ่ขึ้นไปอีก หรือการจัดการกับคนที่ทำผิดกฎจราจรได้อย่างชัดเจนและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น
เมื่อข้อมูลภาพและวิดีโอคือหัวใจสำคัญของ AI การจัดการกับการรับส่งข้อมูลเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญ
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่นั้นเป็นการใช้ภาพจากกล้องวิดีโอมาวิเคราะห์ทั้งสิ้น เนื่องจากการใช้ภาพนี้มีข้อดีในแง่ของการที่ติดตั้งใช้งานจริงได้ง่าย และไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริมใดๆ ติดตั้งที่เป้าหมายที่เราต้องการวิเคราะห์ข้อมูลเลย แต่แน่นอนว่าการใช้ภาพและวิดีโอในการวิเคราะห์ภายในระบบ AI ทั้งหมดนี้ ก็ย่อมต้องตามมาด้วยข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ต้องรับส่งแน่นอน
Huawei นั้นนอกจากจะมีชิป AI ขนาดเล็กสำหรับติดตั้งใช้งานในอุปกรณ์ Embedded Device หรือกล้องได้แล้ว ก็ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดขนาดข้อมูลของภาพและวิดีโอที่ต้องรับส่งด้วย เพื่อตอบโจทย์กรณีที่ต้องมีการส่งข้อมูลเหล่านี้ไปจัดเก็บและประมวลผลที่ Data Center หรือ Cloud อื่นๆ
เทคโนโลยีที่ Huawei นำมาจัดแสดงในหมวดนี้มีด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ เทคโนโลยีการแปลงวิดีโอความละเอียด 2K ให้กลายเป็น 4K เพื่อให้มีความคมชัดและสวยงามมากขึ้น ไม่ต้องถ่ายภาพ 4K ส่งมาทั้งหมดตั้งแต่ตัวกล้อง และเทคโนโลยีในการบีบอัดภาพแบบใหม่ โดยเน้นการเก็บรายละเอียดของภาพส่วนที่ถูกโฟกัส และลดความละเอียดของภาพในส่วนที่ไม่ได้ถูกโฟกัสลง ทำให้ขนาดของวิดีโอนั้นๆ มีความเล็กลงเป็นอย่างมากในแต่ละเฟรม
สรุป คุ้มค่ามากกับการเดินชม 30 นาที
โดยปกติเวลาไปงาน IT เรามักจะได้เห็นเฉพาะ Hardware หรือหน้าจอนิ่งๆ มาจัดแสดงกัน แต่ในงานนี้เราได้เห็น Demo ของที่มีการใช้งานจริงเกิดขึ้นในจีนแล้วให้ได้สัมผัสและสอบถามทางทีมงาน Huawei Cloud กันโดยตรง ก็ถือว่าคุ้มดีครับกับเวลาเพียงแค่ประมาณ 30 นาทีในการรับชมเทคโนโลยีเหล่านี้ทั้งหมดให้ครบ ดังนั้นหากใครพอจะยังมีเวลาว่างในสัปดาห์นี้ก็ขอแนะนำให้ไปลองชมกันดูครับ และกาแฟอร่อยดีด้วย
เทคโนโลยีอื่นที่มาจัดแสดงในงานนี้แต่ไม่ได้เขียนถึง ก็จะมีส่วนของ IoT, Driverless Car และ Blockchain ครับ ใครสนใจก็แวะไปเยี่ยมชมกันได้ครับ
ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน Huawei Cloud AI Day 2019 ได้ฟรีๆ ทันที
วันที่ 28 มกราคม 2019 – 1 กุมภาพันธ์ 2019
สถานที่ 39F Huawei Exhibition Hall, G Tower (39th Floor, North Wing, G Tower Grand Rama 9, No. 9, Rama 9 Road, Huaykwang Sub-district, Huaykwang District, Bangkok, Thailand)
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนานี้ได้ฟรีๆ ทันทีที่ https://varpevent.com/e/2019/huawei/cloud-ai-day/ ครับ ตอนนี้ยังพอมี Slot ว่างเหลืออยู่บ้าง โดยในแต่ละวันจะแบ่งออกเป็นช่วงเช้าและบ่าย ซึ่งแต่ละช่วงจะมีเนื้อหาเหมือนกัน ดังนั้นผู้เข้าร่วมงานจึงสามารถเลือกช่วงเวลาที่ตนเองสะดวกได้โดยตรงในหน้าลงทะเบียนครับ