Digital Transformation(DX) ครอบคลุมถึงกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงให้องค์กรก้าวทันเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ ประกอบด้วย คน กระบวนการทำงาน และเทคโนโลยี อย่างไรก็ดีแม้จะมีเทคโนโลยีล้ำมากแค่ไหน แต่หากระบบการทำงานยังเป็นแบบเดิม แอปพลิเคชันและโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นแบบเก่า องค์กรก็ไม่สามารถนำประโยชน์จากเทคโนโลยีของโลกอย่าง Cloud, AI, Blockchain หรืออื่นๆ เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่เพียงแค่นั้นองค์กรยังต้องดำเนินการเชิงกลยุทธ์เพื่อเปิดใจให้พนักงานเปิดรับกับเรื่องใหม่ด้วยเช่นกัน
การทำ DX ไม่ใช่แค่ทำให้องค์กรมีก้าวทันไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เท่านั้น แต่สำคัญขนาดที่ว่าหากองค์กรใดไม่สามารถก้าวไปสู่เรื่องนี้ใด้ องค์กรนั้นจะค่อยๆ สูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในที่สุด อย่างไรก็ดี DX เป็นเพียงแค่การวางแผนในภาพกว้าง ท้ายที่สุดผู้บริหารขององค์กรต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าท่านเหมาะสมกับเทคโนโลยีอะไร และจะก้าวไปอย่างไร ซึ่งเพียง 2-3 ปีที่ผ่านมา การมาถึงของโรคระบาดได้กระตุ้นองค์กรให้ความสำคัญกับนโยบายนี้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
สำหรับท่านใดที่ยังไม่ทราบว่าแนวทางใดในภาพของ DX ที่ท่านควรมองหา ในบทความนี้เราขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ 3 เทรนด์ที่องค์กรมองหาเมื่อพูดถึง Digital Transformation ในทุกวันนี้ครับ
1.) Microservices
Microservices เป็นสถาปัตยกรรมในการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยออกแบบแบ่งส่วนเป็นบริการย่อยเพื่อทำงานตอบโจทย์ฟังก์ชันทางธุรกิจ โดยบริการสามารถคุยกันได้ผ่าน API หรือ AMQP ซึ่งการออกแบบเช่นนี้มีคุณประโยชน์มหาศาลต่อวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างจาก Monolithic ที่ผนึกทุกอย่างเป็นก้อนเดียวกัน หากพูดถึงประโยชน์หลักของ Microservices สามารถอธิบายได้ดังนี้
- Agility – การที่สามารถแบ่งบริการเป็นส่วนย่อยได้ทำให้องค์กรจัดสรรหน้าที่ของผู้รับผิดชอบได้รวดเร็วมากขึ้น เมื่อแต่ละคนดูแลเฉพาะหน้าที่ของตนได้ การทำงานก็ว่องไวและมีประสิทธิภาพสูง
- Flexible Scaling – จากการที่บริการมีหน้าที่แยกกันชัดเจนหลายส่วน ทำให้ผู้ดูแลสามารถขยายระบบในเชิงของปริมาณเพื่อรับโหลดที่เพิ่มขึ้นในบริการนั้น ๆ ได้อย่างทันท่วงที
- Easy Deployment – การนำส่งซอฟต์แวร์ (Continuous Delivery) กลายเป็นเรื่องง่าย ยิ่งเมื่อเทียบกับ Monolithic เพราะ Microservices ทำให้องค์กรสามารถทดสอบฟังก์ชันใหม่ได้อย่างสะดวก โดยไม่กระทบบริการอื่น
- Technology Freedom – ความอิสระของบริการยังนำไปสู่การพิจารณาเลือกเทคโนโลยี ภาษาที่ใช้ในการพัฒนา Framework และไลบรารีที่ต่างกันออกไปได้ ด้วยเหตุนี้เององค์กรที่ออกแบบแอปพลิเคชันในแนวทางของ Microservices จะมีโอกาสรับความโดดเด่นของแต่ละเครื่องมือหรือภาษาได้อย่างแท้จริง
- Reusable Code – แนวคิดแบบโมดูลเพื่อทำฟังก์ชันเฉพาะหน้าที่ ทำให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำบริการต้นแบบนี้ไปใช้เป็นพื้นฐานของหน้าที่อื่นได้โดยไม่ต้องลงแรงเขียนใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงประหยัดเวลาลงไปได้เช่นกันหากมีการวางแผนมาเป็นอย่างดี
- Resilience – อีกหนึ่งจุดเด่นของ Microservices ที่เหนือกว่า Monolithic อย่างเห็นได้ชัดคือไร้จุดอ่อนที่ทำให้ทั้งแอปล่ม กล่าวคือหากมีบริการเสียบางส่วน ทั้งแอปก็ยังคงใช้ได้แต่อาจทำเพียงแค่ฟังก์ชันนั้นไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น แอปธนาคารที่ท่านอาจไม่สามารถซื้อกองทุนได้แต่ยังโอนเงินได้ตามปกติเพราะไส้ในของแอปเหล่านี้คือการทำงานแบบ Microservices นั่นเอง
แต่เมื่อพูดถึงการทำ Microservices ในเชิงการปฏิบัติการจริงนั้น ศัพท์ที่ได้ยินประการแรกมักจะมีเรื่องของ Container เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอเนื่องจากเป็นท่าปกติที่องค์กรมักเลือกใช้เพื่อ implement ระบบ Microservices เพราะตอบโจทย์ภาพของ isolation ชัดเจน รวมทุกอย่างไว้ภายใน ตลอดจนมีส่วน Orchrestration ที่ช่วยควบคุมการทำ Scale-out และ Availability
อีกประการคือ DevOps ที่ว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรมของนักพัฒนาและผู้ดูแลที่คาบเกี่ยวกันอย่างแยกไม่ออก รวมไปถึงแนวคิดการพัฒนาและนำส่งซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า CI/CD สำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ในลักษณะของ Microservices ที่ซับซ้อนและมีเครื่องมือเกี่ยวพันมากมายภาย ซึ่งเมื่อผสานรวมกันจึงนำไปสู่ความท้าทายเหล่านี้
- CI/CD Pipeline Management – Microservices ได้เพิ่มจำนวนขององค์ประกอบที่ทีมต้องจัดการเพิ่มขึ้นมากเทียบกับ Monolithic เช่น เดิมท่านอาจมีแค่ 5-6 pipeline ในองค์กร แต่เมื่อแตกย่อยแอปพลิเคชันออกเป็นหลายส่วนจำนวน pipeline อาจจะพุ่งสูงขึ้นถึงหลักร้อยได้
- Managing Microservices – อย่างที่ทราบแล้วว่าจำนวนของบริการกลายเป็นความซับซ้อนใหม่ ยิ่งในองค์กรใหญ่ที่มีแอปพลิเคชันนับร้อยการดูแลต้องเป็นที่เรื่องที่ถูกวางแผนมาเป็นอย่างดี เช่น จะขยายฟังก์ชันไหนเพื่อเพิ่มความสามารถและจำนวนเท่าไหร่ถึงเพียงพอกับสถานการณ์ เป็นต้น
- Monitoring – แต่ละบริการมีการสื่อสารกันผ่าน API แล้วท่านจะทราบได้อย่างไรว่าแต่ละ Request จากผู้ใช้ผ่านไปยังส่วนใดของบริการบ้าง? นี่คือหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาให้กับแอปพลิเคชัน หากไม่ทราบเรื่องเหล่านี้ได้การแก้ปัญหาก็จะล่าช้า
Microservices มีประโยชน์มากมายต่อการปรับตัวสู่โลก Cloud native โดยจะเห็นได้ว่ามีทั้งความยืดหยุ่นในเชิงของปริมาณและความสามารถ ทำให้ท่านนำส่งฟีเจอร์ใหม่ต่อผู้ใช้ได้รวดเร็ว และทนทานต่อการสูญเสีย อีกด้านหนึ่ง Microservices ก็แฝงมาด้วยความท้าทายที่องค์กรต้องก้าวเข้ามาหรือควรมีที่ปรึกษาประสบการณ์สูงเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น
โดย Stream เองถือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ให้บริการธุรกิจมาแล้วหลายแห่งเพื่อช่วยลูกค้าออกแบบระบบ Microservices มาแก้ปัญหาทางธุรกิจ ซึ่งทีมงาน Stream สามารถให้บริการได้ตั้งแต่การเก็บ Requirement ออกแบบและพัฒนาโซลูชัน พร้อมดูแลภายหลังการติดตั้ง ครอบคลุมถึงการพัฒนาแอปพลิชันบน Web และ Mobile ผ่านระบบคลาวด์หรือตามที่ลูกค้าต้องการ
ในกระบวนการทำงานทีมงานจะทำการออกแบบระบบในแนวทางของ Microservices และอาศัยคอนเซปต์แนวคิดของ DevSecOps เข้ามาเพื่อให้การทำงานคล่องตัว อัตโนมัติ และที่สำคัญคือมั่นคงปลอดภัยในทุกขึ้นตอน อย่างไรก็ดีทีมงาน Stream ได้นำเทคโนโลยี Low-code มาใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ซึ่งหลอมรวมกันเพื่อสร้างแอปพลิเคชันให้ลูกค้าทั้ง Web และ Mobile
นอกจากนี้ Stream ยังมีทีมงานที่สามารถให้บริการในเทคโนโลยี BlockChain ได้ ซึ่งคือเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบแชร์ โดยรับประกันว่าข้อมูลจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลง (Immutable) หรือแก้ไขได้ เพราะทุกคนในเครือข่ายจะถือข้อมูลที่ตรงกันการแก้ไขหรือเพิ่มข้อมูลจะกระทบต่อทุกคนให้ต้องยอมรับร่วมกันเสียก่อน โดยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในอีกหลายด้านเช่น การพิสูจน์ตัวตนในวงการธุรกิจการให้บริการทางการเงิน (eKYC) ที่ทำให้การทำธุรกรรมมีความโปร่งใสมากขึ้น
ท่านใดสนใจบริการของ Stream สามารถติดต่อทีมงานได้ตามที่อยู่ด้านล่าง
2.) Relational Database Platform
ปัจจุบันองค์กรทั่วโลกให้การยอมรับและตื่นตัวกับการแสวงหาโอเพ่นซอร์สเข้ามาใช้งานในองค์กรแทบทุกอย่าง โดยหากพูดถึงประโยชน์นั้น ปัจจัยแรกคือ การลดต้นทุนเนื่องจากโอเพ่นซอร์สเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและนำมาใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเทียบกับซอฟต์แวร์ที่ผลิตออกมาเพื่อการค้าในองค์กรที่มักมีมูลค่าหลายล้านหรือหลายสิบล้านก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ
ปัจจัยที่สอง โอเพ่นซอร์สเป็นเรื่องที่เปิดกว้างเพราะเผยโค้ดให้เห็นถึงการทำงาน ทำให้ทุกคนสามารถแชร์ความรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ กล่าวคือไอเดียจากคนจำนวนมากย่อมดีกว่าซอฟต์แวร์ทางการค้าที่สร้างโดยบุคคลไม่กี่คน ซึ่งนอกจากเรื่องฟีเจอร์แล้วความเปิดกว้างนี้ยังส่งผลไปถึงเรื่อง Security ที่เปิดให้ทุกคนรีวิวได้อย่างโปร่งใส ลดโอกาสเกิดช่องโหว่
ปัจจัยสุดท้าย โอเพ่นซอร์สถือเป็นเทรนด์ที่สามารถดึงดูดคนเก่งๆ ได้ และริเริ่มทดลองได้ง่ายด้วย ยิ่งในองค์กรขนาดเล็กอาจจะใช้เพียงแค่เวอร์ชัน Community ซึ่งในหลายซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สก็มักมีการต่อยอดเพื่อการค้า เช่น ปรับแต่งให้มีความสามารถระดับสูงที่เหมาะกับองค์กรเป็นต้น
ฐานข้อมูลถือเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรมาแต่ไหนแต่ไร ในปัจจุบันก็มีกระแสที่องค์กรได้เล็งเห็นความสามารถว่าโอเพ่นซอร์สก็ทำงานได้ดีไม่แพ้ซอฟต์แวร์เพื่อการค้า อีกทั้งยังยืดหยุ่นเปิดกว้างมากกว่า หากพูดถึง PostgreSQL หรือ Postgres ก็คือ RDBMS โอเพ่นซอร์สที่น่าจะคุ้นหูใครหลายคน และเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่น่าสนใจในยุคนี้เลยก็ว่าได้ โดยมีความสามารถโดดเด่นดังนี้
- Multiversion concurrency control (MVCC) ทำให้แต่ละ Transaction ไม่มีผลต่อกันจัดการเรื่อง Read Lock และการันตีคุณสมบัติ ACID โดยนำเสนอการแบ่งแยกระดับ Transaction เป็นสามระดับคือ Read Commit, Repeatable Read และ Serializable
- รองรับการทำ replica โหนดแบบ asynchronous ทำให้สามารถทำ query โหนดแบบ Read-only รวมถึงยังมีความสามารถ Replication แบบ Synchronous ที่การันตีการเขียนข้อมูลของแต่ละ Transaction
- รองรับข้อมูลได้หลากหลายชนิด เช่น Binary, JSON, Date/Time, Enum, Array, IPv4/IPv6 เป็นต้น ดังนั้นหากเจอกับข้อมูลหลากชนิด PostgreSQL ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมขององค์กร
- รองรับคำสั่งทำ Inheritance ตัวอย่างเช่น INHERITS (table_name) ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ปฏิบัติงานอาจต้องการสร้าง Table ใหม่ที่มีโครงสร้างเดิมเพียงแค่มี Column เข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องง่ายใน PostgreSQL นอกจากนี้ Statement ยังดูสะอาดตาไม่ซับซ้อนอีกด้วย
- โดยปกติแล้วคอลัมน์ของ Relational Model ควรเป็น Atomic แต่ในมุมของ PostgreSQL ไม่ได้มีข้อกำหนดและทำให้คอลัมน์มีข้อมูลย่อยที่เข้าถึงได้จากการ Query ยกตัวอย่างเช่น สามารถสร้างตัวแปร array ได้และเรียกดูข้อมูลเข้าไปถึง array ภายในได้เช่น ‘Select * from Table_name where Table_name.Column[index of array]’
- ความสามารถในการค้นหา ‘Full-text Search‘ ก็น่าสนใจไม่น้อยเพราะปกติการใช้ ‘Like’ ให้ค้นหาได้อย่างแม่นยำอาจต้องเพิ่ม Regex Expression เข้ามาร่วมด้วยแต่ความเก่งของ PostgreSQL คือสามารถค้นหาได้โดยไม่ต้องทำเช่นนั้น เช่น การค้นหา work ในชุดข้อมูลที่มีหลายรูปแบบของ “Working, works, worked และอื่นๆ”
และจากความโดดเด่นเหล่านี้เอง PostgreSQL จึงดึงดูดให้องค์กรจำนวนมากสนใจใช้งาน แต่ในการทำงานขององค์กรอาจจะยังไม่เพียงพอนัก ด้วยเหตุนี้เองจึงมีบริษัทที่ชื่อว่า EnterpriseDB (EDB) ได้ต่อยอดให้ PostgreSQL มีฟีเจอร์สำหรับการทำงานระดับสูง เช่น
- Security – ตรวจสอบระดับ Session ได้ว่ามีกิจกรรมใดเกิดขึ้นในฐานข้อมูล ซึ่งเหนือกว่า PostgreSQL ธรรมดาที่ user ID อาจถูกแชร์กัน รวมถึงมีกลไกช่วยป้องกันการโจมตีแบบ SQL Injection และยังได้รับการรับรองจากกระทรวงการป้องกันของสหรัฐฯ และ FIPS 140-2 พร้อมเครื่องมือสำหรับช่วยดูแลข้อมูลให้เป็นไปตาม GDPR
- Enterprise Manager – ลูกค้าของ EDB PostrgreSQL จะได้รับเครื่องมือช่วยเหลือมากมายจากเครื่องมือ Postgres Enterprise Manager เช่น Dashboard แสดงผลที่ปรับแต่งได้ แม้กระทั่งความสามารถคาดการณ์ความจุของพื้นที่จัดเก็บ ไปจนถึงมีส่วนช่วยวิเคราะห์และบริหารจัดการ Log ดูว่าในการทำงานมีประสิทธิภาพส่วนใดที่ติดขัด เป็นต้น
- Data Adapters – ทีมงาน EDB เป็นผู้พัฒนาหลักในการพัฒนาเรื่อง Foreign Data Wrapper (FDW) บนมาตรฐานของ SQL/MED โดยเป็นหัวหอกในการพัฒนา FDWs for MySQL, MongoDB และ Hadoop รวมถึงการเชื่อมต่อ PostgreSQL และ Oracle เข้าด้วยกันโดยไม่ต้องมีซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์สริม
- Migration Toolkit – มีเครื่องมือรองรับการย้ายค่ายจากฐานข้อมูลเดิมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยรองรับฐานข้อมูลยอดนิยมต่างๆเช่น Oracle, Sybase, Microsoft SQL Server และ MySQL ซึ่งเครื่องมือ Migration ของ EDB Postgres นี้การันตีความสามารถรองรับ Stored Procedures และ PL/SQL ได้ซึ่งเหนือกว่าเครื่องมือทั่วไป
- Failover Manager – ผู้ใช้งาน EDB PostgreSQL มั่นใจได้ว่าการทำงานของระบบจะไม่มีสะดุดเพราะมีเครื่องมือทำ Failover โดยรองรับคลัสเตอร์ได้หลายกลุ่ม อีกทั้งยังทำได้อัตโนมัติทั้งไปและกลับ หรือการทำ Virtual IP และ Load Balancer
- Backup & Recover – สามารถทำการ Backup และกู้คืนข้อมูลได้จาก Local และรีโมต มีการบีบอัดข้อมูลเพื่อลดพื้นที่ และรองรับการสำรองข้อมูลแบบ incremental รวมถึงกู้คืนได้ใน Point-in-time และออกรายงานต่างๆ ได้
โดย Stream เองเป็นทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการโซลูชันของ EDB PostgreSQL สำหรับองค์กรด้วยเช่นกัน ซึ่งมีความพร้อมที่จะนำโซลูชันเข้าไปเสนอ ออกแบบ ทดสอบ สร้างระบบร่วมกับลูกค้าและดูแลต่อเนื่องหลังการติดตั้ง สนใจติดต่อทีมงานได้ตามที่อยู่ด้านล่าง
3.) Multi-cloud Management
คลาวด์ได้ช่วยให้องค์กรมีความคล่องตัวและเพิ่มความล้ำสมัยทางนวัตกรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งธุรกิจได้ผ่านก้าวแรกนั้นมาแล้วจนเข้าสู่สถานการณ์ที่มีการผสมผสานคลาวด์หลายแห่ง โดยเหตุผลขององค์กรที่ก้าวสู่ Multi-cloud คือ ไม่ต้องการถูกผูกขาดการให้บริการ หรือต้องการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะกับความต้องการจริงๆเพราะแต่ละผู้ให้บริการคลาวด์มีความโดดเด่นต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี Multi-cloud จึงได้พาองค์กรก้าวเข้าสู่ความท้าทายใหม่ดังนี้
- ความมั่นคงปลอดภัย – ข่าวคลาวด์ที่หลุดออกมาเกี่ยวกับเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลหรือถูกโจมตี สาเหตุหลักเพราะคลาวด์แต่ละเจ้ามีเครื่องมือควบคุมการเข้าถึง หรือเครื่องมือมอนิเตอร์ต่างกัน วิธีการคอนฟิคก็แตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้เองโอกาสที่ทีมงาน Security ขององค์กรจะคอนฟฟิคผิดพลาดก็มีเพิ่มขึ้น(Misconfiguration) หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคอนฟิคก็ต้องตามแก้ไขอัปเดตในแต่ละคลาวด์ซึ่งอาจทำได้ไม่ทั่วถึง (Config Drift)
- ขาดทักษะในการทำงาน – ต้องยอมรับว่ายังมีผู้ปฏิบัติงานอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้งานคลาวด์ แต่ด้วยสถานการณ์บังคับให้เจอกับคลาวด์หลายเจ้าพร้อมกัน ก็อาจทำให้การเรียนรู้เป็นไปได้ช้า ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ยังไม่นับปัญหาเรื่องบุคคลากรด้านไอทีที่มีน้อยอยู่แล้ว ซึ่งย้อนกลับไปที่เรื่องความมั่นคงปลอดภัยจากความไม่รู้
- ปรับการใช้งานให้เหมาะสม – Multi-cloud เป็นส่วนหนึ่งในความคาดหวังว่าจะช่วยองค์กรลดต้นทุนได้ แต่หากขาดเครื่องมือ Visibility ก็ไม่มีทางที่จะทราบได้เลยว่ามีการใช้งานทรัพยากรอะไรอยู่บ้าง ใช้งานจริงอยู่เท่าไหร่ ปรับลดอะไรได้บ้าง นี่คือค่าใช้จ่ายแฝงที่องค์กรต้องหาให้เจอ
- การปรับตัวที่ดี – องค์กรต้องปรับมาตรฐานการทำงานให้เป็น Baseline ก่อนว่าจะนำคลาวด์มาใช้งานร่วมกันด้วยวิธีปฏิบัติเดียวกันได้อย่างไร โดยเฉพาะความเป็น Orchrestration, Automation, Security และ Visibility (ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย ทรัพยากร และ Security) ซึ่งแต่ละผู้ให้บริการคลาวด์มีเครื่องมือเหล่านี้ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็อยู่ในกรอบความรู้และความเชี่ยวชาญในค่ายของตนเองเท่านั้น ตรงนี้เองคือโจทย์ใหญ่ที่องค์กรต้องศึกษาและปรับใช้ นอกจากนี้การทำ Microservices ที่ดีจะทำให้แตกแขนงออกสู่ความหลากหลายของคลาวด์ได้ ตลอดจนทำให้องค์กรได้ประโยชน์อย่างสูงสุดทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพ
จะเห็นได้ว่าโจทย์ของ Multi-cloud กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาทันที ต้องมีการวางแผนจัดการกับความซับซ้อนในการบริหารจัดการรายวันให้เป็นมาตรฐาน รวมถึงต้องอัปเดตความสามารถให้เท่าทันกับฟีเจอร์ใหม่ของผู้ให้บริการด้วย ซึ่งเครื่องมือในท้องตลาดมีมากมายแต่มีอยู่ชื่อหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคยและองค์กรใช้งานมานานแล้วนั่นคือ VMware โดยเมื่อไม่นานนี้ได้มีการเปิดตัวโซลูชันใหม่ที่ชื่อ Aria เพื่อบริหารจัดการ Multi-cloud โดยเฉพาะรองรับกับคลาวด์เจ้าต่างๆ และเมื่อผสานเข้ากับระบบ Virtualize แบบเดิมที่มีอยู่แล้วก็เรียกได้ว่าเติมเต็มสู่การบริหารจัดการคลาวด์ได้อย่างครบวงจร
สำหรับ Aria ได้ผนึกเอาความสามารถเดิมที่ VMware มีอยู่แล้วเช่น vRealize, CloudHealth และ Tanzu ประกอบกับความสามารถใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามา โดยมีความสามารถใน 4 มุมมอง คือ
- Cost – ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นภาพและเทรนด์ของค่าใช้จ่าย ช่วยวิเคราะห์และออกรายงานทำให้องค์กรวางแผนด้านการเงินได้แม่นยำสอดคล้องกับแผนทางธุรกิจ
- Performance – แน่นอนว่า VMware สามารถมองเห็นภาพของทรัพยากรต่างๆ ในทุกคลาวด์ได้อยู่แล้ว ซึ่งการเสริมพลังด้าน AI ได้ยกระดับการใช้งานข้อมูลให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดและองค์กรสามารถวางแผนด้านการปฏิบัติการได้ง่ายขึ้น
- Security – มุมมองอันดับแรกของ Multi-cloud ก็คือจะทำอย่างไรให้การคอนฟิคทุกคลาวด์นั้นเป็นอย่างมีมาตรฐานในแนวทางเดียวกัน โดยเครื่องมือ Aria จะปรับให้การใช้งานเป็นไปได้ตามเป้าหมายและตรงประเด็นกับ Compliance อีกด้วย
- Automation – ความยากของการปฏิบัติงานบนคลาวด์ที่แตกต่างกันคือจะทำอย่างไรถึงจะทำงานได้รวดเร็วและลดการพึ่งพาคนให้น้อยที่สุดขจัดความยุ่งยากและข้อผิดพลาด โดยแนวทางของ DevOps ได้บรรจุรวมอยู่ในโซลูชัน Aria ที่รองรับการทำ Infrastructure as Code ตลอดจนการทำ CI/CD ได้อย่างมั่นใจ
นอกจากความโดดเด่นที่กล่าวมาฟีเจอร์ชูโรงของ Aria ที่ถูกพูดถึงมากก็คือเทคโนโลยี Aria Graph ที่สามารถเชื่อมโยงภาพของการใช้งานเช่น Application, User, Config และ Dependency เข้าด้วยกันได้ ช่วยขจัดภาพอันซับซ้อนเปิดทางให้แอดมินเข้าใจความสัมพันธ์ มองเห็นถึงปัญหาต้นตอและจัดการได้อย่างคล่องตัวจากศูนย์กลาง หากปราศจากเรื่องนี้แล้วการบริหารจัดการสินทรัพย์มหาศาลในระบบ Multi-cloud คงเป็นไปได้ยาก
ความท้าทายเรื่องของความซับซ้อนด้านทักษะนั้นไม่เกิดขึ้นกับ VMware เพราะแอดมินส่วนใหญ่ต่างคุ้นเคยกับหน้าตาของเครื่องมืออยู่แล้วเช่น vSphere หรือส่วนบริหารจัดการ Tanzu ท่านจะเห็นได้ว่าถูกผนวกเข้ามาได้อย่างไร้รอยต่อ เช่นเดียวกันกับ Aria ที่ไม่ได้ทำให้งานของท่านยากขึ้นหรือต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด โดยโซลูชันนี้เองเป็นพระเอกหลักของการให้บริการ Multi-cloud Management ที่ Stream นำมาใช้ให้บริการทุกท่าน หากท่านใดสนใจสามารถติดต่อทีมงานได้ตามที่อยู่ด้านล่างครับ
เกี่ยวกับ Stream
บริษัท Stream ก่อตั้งเมื่อปี 1998 จากการเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการด้านไอทีแก่ลูกค้าในตลอด 24 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อช่วงปี 2019 บริษัทได้มีการขยายความเชี่ยวชาญจากเพียงแค่ไอทีสู่โซลูชันดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยลูกค้าก้าวเข้าสู่โลกแห่ง Digital Transformation ได้อย่างมั่นใจ
ผลงานบางส่วนคือ Stream ได้ให้บริการกลุ่มธุรกิจประกันให้เป็น InsurTech ด้วยการสร้างแอปพลิเคชัพลิเคชันสำหรับประกันโดยเฉพาะ สามารถออกแบบ UX-UI สำหรับบริการประเภทต่างๆ ให้เหมาะกับลักษณะของธุรกิจประกัน อาทิเช่น การทำแอป e-Claim สำหรับการเคลมประกันผ่าน VDO conference มีวิธีการยืนยันตัวตนในการเข้าแอปโดยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ด้วยการทำ e-KYC เพื่อความปลอดภัย และรับส่งข้อมูลมหาศาลผ่านโซลูชั่น Managed File Transfer โดยในกรณีของงานแอปพลิเคชันทีมงานของ Stream มีความเชี่ยวชาญในการทำงานบนสถาปัตยกรรมแบบ Microservices ร่วมกับเทคโนโลยี Cloud และ Container ทำให้มั่นใจว่าแอปพลิเคชันของลูกค้าจะรองรับนวัตกรรมใหม่แห่งยุคสมัยและเข้าสู่ Digital Transformation ได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ Stream ยังได้มีโอกาสให้บริการลูกค้าในอีกหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การทำ Digital Core Bank ให้กลุ่มสถาบันการเงิน ให้คำปรึกษาองค์กรภาครัฐด้านการทำ Digital Transformation เช่น ระบบเก็บและบันทึกข้อมูลกับ IoT สู่ Big Data เป็นต้น ตลอดจนอุตสาหกรรมค้าปลีกเกี่ยวกับ Digital Process ประกอบด้วยการจัดการ Workflow อย่างอัตโนมัติร่วมกับ RPA หรือทำ Digital Supply Chain ด้วย e-Procurement เป็นต้น
หากลูกค้าในกลุ่มธุรกิจใดต้องการทำ Digital Transformation สามารถติดต่อ Stream เพื่อรับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล ซึ่งจะสะดวกรวดเร็วเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ ตรงกับเป้าหมายขององค์กร โดยสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายการตลาด อีเมล marketing@stream.co.th หรือโทร. 02-679-2233
ที่มา :
- https://learn.microsoft.com/en-us/devops/deliver/what-are-microservices
- https://aws.amazon.com/microservices/
- https://blog.opstree.com/2021/06/02/major-devops-challenges-faced-while-implementing-microservices/
- https://www.datamation.com/cloud/what-is-microservices/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Digital_transformation
- https://en.wikipedia.org/wiki/EnterpriseDB
- https://en.wikipedia.org/wiki/PostgreSQL
- https://arctype.com/blog/postgresql-features-list/
- https://www.cio.com/article/191102/5-challenges-every-multicloud-strategy-must-address.html
- https://cloudsecurityalliance.org/blog/2021/05/18/the-challenges-managing-multi-cloud-environments/
- https://techbeacon.com/enterprise-it/4-essential-open-source-tools-cloud-management
- https://www.vmware.com/products/aria.html