กรุงเทพฯ, 4 ตุลาคม 2560: นอกจากประเทศไทยจะติดอันดับโลกในฐานะผู้ใช้นวัตกรรมเพิ่มขึ้นแล้ว ไทยยังคงมุ่งหน้ายกระดับการขยายการเข้าถึงบรอดแบนด์
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประกาศแผนที่จะจัดตั้งสองบริษัทเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เพิ่มเติมแก่หน่วยงานของรัฐและประชาชนทั่วไป
ภายใต้ข้อเสนอที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) จะให้บริการและจัดการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสายเคเบิลและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ตามข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการอนุมัติเมื่อกลางเดือนมิถุนายน บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom) จะนำ NGDC ซึ่งจะลงทุนในเครือข่ายบรอดแบนด์ระหว่างประเทศ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ข้อมูล บทบาทของ NBN ซึ่งนำโดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หน่วยงานด้านโทรคมนาคมแห่งชาติของรัฐ คือการพัฒนาและดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศและเครือข่ายใยแก้วนำแสงทั่วประเทศ
รัฐมนตรีกล่าวว่าทั้งสองบริษัทได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้นและมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนพฤศจิกายน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคลายความกังวลของผู้ให้บริการภาคเอกชน นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่าบริษัทใหม่ๆ จะต้องปฏิบัติตามกฎและระเบียบข้อบังคับตามที่กระทรวงกำหนดไว้สำหรับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อจะได้ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขันของภาคเอกชน
ในแง่ของภูมิทัศน์ทางธุรกิจ พบว่ายังคงมีช่องว่างในการเติบโต ทั้งนี้ ตัวเลขประมาณการอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของจำนวน 22 ล้านครัวเรือน เท่านั้นในประเทศไทยที่ใช้บริการบรอดแบนด์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ให้บริการ รวมไปถึงการเปิดให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานแก่ตลาดที่มุ่งขยายความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรม และการใช้ข้อมูลที่สูงขึ้น
สถานะ “เอเชียน ไทเกอร์”
การกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนของการส่งมอบบริการจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดที่ระบุไว้ในดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี พ.ศ. 2560 (GII) ซึ่งพบว่าประเทศไทยยังตามหลังประเทศอื่นๆ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงด้านไอซีที และอยู่ในอันดับที่ 71 ในหมวดนี้
รายงานประจำปี ซึ่งจัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์, สถาบันอินซีด (INSEAD) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ได้จัดประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 127 ประเทศ ซึ่งอยู่สูงขึ้นหนึ่งอันดับจากปีที่แล้วและสูงขึ้นสี่อันดับจากปี พ.ศ. 2558
รายงานดังกล่าวยังระบุว่าในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่จัดอยู่อันดับสูงสุดในกลุ่มประเทศขนาดเล็กหรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย คู่แข่งอย่างเช่นประเทศไทยกำลังตามตีตื้นอย่างรวดเร็ว
ประเทศไทยยังได้รับการขนานนามให้เป็นหนึ่งใน “เอเชียน ไทเกอร์” หรือเสือแห่งเอเชีย พร้อมๆ กับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ประเทศไทยยังได้รับการยอมรับในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงมีจำนวนภาคส่วนต่างๆ มากมายที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย
รายงานยังกล่าวถึงพัฒนาการอันเป็นผลมาจาก “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและความรู้ ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตแบบก้าวหน้า แผนยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งเปิดตัวในปี พ. ศ. 2559 ได้มุ่งเน้นไปที่ 10 ภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการเพิ่มมูลค่าผ่านเทคโนโลยี
ประเทศไทยทำงานเพื่อพัฒนาการวิจัย
ประเทศไทยได้มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา (R & D) โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ ในรายงาน GII ประเทศไทยได้จัดอยู่อันดับที่ 40 จาก 127 ประเทศในหมวดนี้ โดยมีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ประกอบกับผลลัพธ์ด้านความรู้และผลผลิตด้านเทคโนโลยีและการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และการส่งออกเทคโนโลยีล้ำสมัยในระดับปานกลาง
รายงานฉบับนี้ยังระบุว่าความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมนั้นมีความแข็งแกร่งและโดยรวมอยู่อันดับที่ 40
การเพิ่มการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างความเชื่อมโยงใหม่ๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในประเทศไทย 4.0 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานสถาบันวิทยสิริเมธี กล่าว
“ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปรับปรุงระบบการวิจัยในประเทศไทย ทำให้ประเทศเรามีเงินกองทุนสำหรับงานวิจัยในระดับชาติอย่างน้อยร้อยละ 1 ของจีดีพี” เขากล่าวกับอ๊อกซ์ฟอร์ด บิสซิเนส กรุ๊ป หรือ โอบีจี “จนถึงขณะนี้เราใช้จ่ายเพียงแค่ร้อยละ 0.4 ของจีดีพี เทียบกับมาเลเซีย ซึ่งใช้จ่ายอยู่ที่ร้อยละ 1.26 หรือเกาหลีใต้ที่ร้อยละ 4.29 “
ข้อมูลเศรษฐกิจไทยฉบับนี้ผลิตโดย อ็อกซ์ฟอร์ด บิสซิเนส กรุ๊ป
###