สรุปงาน Red Hat : ก้าวสู่ Hybrid Cloud ด้วย RHEL8 และ OpenShift 4

ทุกวันนี้เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าแทบทุกองค์กรมีการใช้งาน Cloud ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ถึงกระนั้นหลายท่านคงมองภาพออกแล้วว่า Hybrid Cloud คือทางที่เหมาะสมและตอบโจทย์การใช้งานขององค์กรมากกว่า อนึ่งคอนเซปต์ของ CI/CD และ Container ได้เข้ามามีบทบาทกับการพัฒนาแอปพลิเคชันขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการประยุกต์ใช้คอนเซปต์ข้างต้นนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดซอฟต์แวร์พื้นฐานที่ดี ทำให้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมาทาง Red Hat จึงได้จัดงานในธีมของ Hybrid Cloud ซึ่งได้พูดถึงเรื่องของ Cloud แต่ละประเภท, CI/CD, ฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจใน RHEL 8 และ OpenShift 4 ว่าจะสามารถตอบโจทย์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันสมัยใหม่ได้อย่างไร

Brendan Paget, Director of Product Portfolio, APAC จาก Red Hat

ความท้าทายของโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่าสู่ Hybrid Cloud

เราได้ผ่านจุดที่จะพูดกันถึงประโยชน์ของ Cloud กันมาระยะหนึ่งแล้ว โดยถ้ากล่าวอย่างรวบรัดคือ Cloud ได้เข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องของ Optimization Resource จ่ายเท่าที่ใช้และไม่ต้องตั้งงบเผื่ออนาคตเหมือนการซื้อฮาร์ดแวร์แบบเดิมๆ รวมถึงยืดหยุ่นกว่าเพราะปรับเพิ่มหรือลดได้อย่างรวดเร็วเมื่อใดก็ได้ นี่ยังไม่นับรวมถึงเรื่องของ Availability (SLA 99.99999% หรือมากกว่า) แถมไม่ต้องลงทุน ลงแรงในการดูแลฮาร์ดแวร์อีก

โดยในงานสัมมนาครั้งนี้ทาง Red Hat ชี้ว่าในปัจจุบัน Hybrid Cloud คือสิ่งที่องค์กรต้องการจริงๆ ซึ่งหลายองค์กรคงพอทราบแล้วว่าเราไม่อาจทอดทิ้งระบบเก่าทั้งหมดไป Cloud ได้ 100% ทั้งนี้อาจเป็นเหตุผลด้านต้นทุน หรือ รูปแบบของการใช้งาน ด้วยเหตุนี้เองแอปพลิเคชันของเราจึงควรจะสามารถย้ายข้ามแพลตฟอร์มได้อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งทำให้ ‘Container’ ได้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจนได้รับความนิยมไปทั่วโลก กระนั้นเองก็ยังมีความน่ากังวลบางอย่างเมื่อต้องเปลี่ยนระบบเดิมสู่ Hybrid Cloud

ข้ามข้อจำกัดสู่ Hybrid Cloud ด้วย Red Hat

credit : Red Hat

เมื่อจะต้องย้าย Workload ข้ามแพลตฟอร์มอย่าง Hybrid Cloud องค์กรจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แม้เป็น Linux เหมือนกันแต่ความต่างของ Distribution ก็อาจทำให้แอปพลิเคชันมีปัญหา อย่างไรก็ตามเหตุผลหลักๆ ขององค์กรที่นิยมใช้ linux นั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นโอเพ่นซอร์ส แต่คำถามคือองค์กรจะแก้ไขอย่างไรเมื่อเกิดปัญหา ยิ่งถ้าเป็นปัญหายากและผู้ดูแลมีความเชี่ยวชาญไม่มากพอ ธุรกิจอาจจะได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ดังนั้นจะมีกว่าไหมหากองค์กรยังได้ใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สแต่ยังมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงคอยอัปเดตและทดสอบความเข้ากันได้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้แทน ซึ่งตรงนี้เอง Red Hat จะสามารถไขปัญหาข้างต้นให้ท่านได้

โดยปัจจุบัน Red Hat ยังได้มุ่งเน้นการตอบโจทย์ในการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบ Cloud Native อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดหาเครื่องมืออำนวยความสะดวกอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้าน Container, Infrastructure as a Code และ CI/CD ไม่เพียงแค่นั้น Red Hat ยังได้ช่วยให้การใช้งาน Linux เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคนผ่านทาง UI นั่นเอง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า Red Hat คือระบบปฏิบัติการที่จะช่วยให้องค์กรข้ามข้อจำกัดสู่ Hybrid Cloud ได้อย่างแท้จริง

7 ฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจใน RHEL 8

1.Insights – อันที่จริงแล้วฟีเจอร์นี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่ Red Hat 6 และ 7 แล้ว เพียงแต่อัปเดตใหม่ที่ประกาศล่าสุดคือปัจจุบันลูกค้าที่ซื้อ RHEL Enterprise จะมีฟีเจอร์ Insights เข้ามาอยู่แล้ว สำหรับ Insights เป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามปัญหาได้แบบ Proactive ที่เกิดขึ้นได้เพราะมีการส่งข้อมูลขึ้นไปวิเคราะห์บน Cloud โดยภายในโปรแกรมจะแบ่งหมวดปัญหาออกเป็น 4 ส่วนดังนี้

  • Availability – ดูว่าทรัพยากรอย่าง CPU และ Ram ยังเหลือพอใช้หรือไม่
  • Performance – ประสิทธิภาพการใช้งานปกติหรือไม่ เช่น Network ใช้ได้เต็มที่ 10 Gbps แต่ใช้จริงแค่ 1 Gbps
  • Stability – เสถียรภาพในการใช้งาน เช่น มีพื้นที่ว่างอยู่น้อยมากๆ จะทำอย่างไร
  • Security – มีช่องโหว่ตรงไหนที่ยังไม่แพตช์บ้างโดยมีเลขอ้างอิงตาม CVE

อย่างไรก็ตามนอกจากจะแสดงผลแล้ว ผู้ใช้จะสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของปัญหาได้ว่าคืออะไร นอกจากนี้ระบบยังได้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและแนะนำวิธีแก้ไขให้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น Red Hat ยังมีเครื่องสำหรับการทำ Automate Remediation เพื่อแก้ปัญหาด้วย Ansible Playbook (Red Hat ซื้อเข้ามาเมื่อหลายปีก่อน) โดยผู้สนใจสามารถดูวีดีโอแนะนำ insights ได้ตามด้านล่าง

2.In-place Upgrade – ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถอัปเกรต OS ใหม่ทับของเก่าได้ หรือการที่ไม่ต้องลงใหม่นั่นเอง โดยมีเครื่องมือที่ชื่อ Leapp ซึ่งสามารถทำการ Roll-back ได้ด้วย อย่างไรก็ตามต้องมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ต้องเป็น RHEL 7.6 ถึงจะอัปเกรตเป็น RHEL 8 ได้ หรือต้องเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Intel 64 เท่านั้น เป็นต้น สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

3.Support Enterprise Application – ใน RHEL 8 จะรองรับแอปพลิเคชันระดับองค์กรใหม่อย่าง MS SQL Server (ความน่าตื่นเต้นคือรองรับของ Microsoft ได้และทดสอบแล้วว่าประสิทธิภาพแทบไม่แตกต่าง) พร้อมกันนี้ยังรองรับ SAP HANA ได้ซึ่งเรารู้ดีกันอยู่แล้วว่าของเดิมรองรับ Linux ค่ายไหนได้บ้าง

4.Security – มีการทำ Code Hardening ใหม่ๆ เพิ่มเติมมากมาย รวมถึงแก้ไขช่องโหว่ด้วย โดยไฮไลต์ในส่วนนี้คือเรื่องของการรองรับ Open SSL 1.1.1 และ TLS 1.3

5.App Stream – เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของนักพัฒนาและผู้ดูแลระบบ เนื่องจากปกติแล้วนักพัฒนาต้องการระบบที่อัปเดตมาใหม่เสมอ แต่ในทางกลับกันตัว OS มักปล่อยออกมานานๆ ครั้งและผู้ดูแลต้องรอบคอบมากในการวางแผนอัปเดตทำให้อาจไม่ทันใจฝั่งนักพัฒนา ทั้งนี้ App Stream จึงเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการแบ่งส่วน User Space Package ออกจากส่วนของระบบ ดังนั้นการอัปเดตแต่ละส่วนจึงไม่ส่งผลกระทบต่อกันนั่นเอง

6.Web Console – การมี UI เข้ามาทำให้ผู้ดูแลที่ไม่ได้เชี่ยวชาญการใช้ Command line สามารถบริหารจัดการระบบได้ง่ายขึ้น เช่น Deduplication, การสร้างและบริหารจัดการ VM, การทำ Encryption, การตั้งค่า SSO และอื่นๆ นอกจากนี้ใน Web Console ยังมีเครื่องมือ Image Builder (Composer) เข้ามาเพื่อตอบโจทย์ Hybrid Cloud ด้วย

7.Container – มีการเพิ่ม Container Toolkit ที่เป็น Open-standard เข้ามาสนับสนุนผู้ใช้งาน 3 ส่วนดังนี้

  • Podman – เป็นการ Implement การบริหารจัดการ Container อีกแบบหนึ่งซึ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใน Docker คือเรื่องของการที่ต้องมี Daemon ที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น Single Point of failure และหากเกิดความล้มเหลวจะอาจเกิด Orphan Process รวมถึงการปฏิบัติการใดๆ ต้องอาศัยสิทธิ Root ของผู้ใช้งาน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง PODMAN จึงวางโครงสร้างใหม่ให้ทำงานผ่านทาง runC Container runtime process แทน (ตามรูปด้านล่าง) ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่
credit : developers.redhat.com , Edited by TTT
  • Buildah – เป็นเครื่องมือที่มีคำสั่งตอบโจทย์ในเรื่องของการสร้าง Container Image จาก Docker File หรือจาก Format อื่น โดยการสร้าง Image ของ Buildah นั้นไม่ต้องใช้สิทธิระดับ Root นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มสคิร์ปต์ภาษาอื่นเข้าไปในขั้นตอนการ Build ได้ โดย Buildah ใช้การ Fork-exec ผ่านทาง API แทนการใช้ Daemon อย่างไรก็ดีหากเปรียบเทียบระหว่าง Buildah และ PODMAN นั้นจะเป็นการส่งเสริมกันเสียมากกว่าเพราะ Buildah ถนัดเรื่องของการสร้าง image แต่ PODMAN ถนัดเรื่องของการดูแลและแก้ไข OCI image เช่น Pulling และ Tagging นั่นเอง ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ GitHub 
  • Skopeo – เป็นเครื่องมือที่ช่วยปฏิบัติการเกี่ยวกับ Container image registry (ที่เก็บ image เช่น Docker Hub, Quay หรืออื่นๆ) สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก GitHub 

จะเห็นได้ว่า RHEL8 ได้มีการช่วยเหลือองค์กรให้สามารถตอบโจทย์เรื่องของ Container ได้เป็นอย่างมากเพราะช่วยประหยัดเวลาเริ่มต้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ยังโดดเด่นในเรื่องของการ Troubleshooting ด้วย Insights ไม่เพียงเท่านั้นการมี Web UI ยังช่วยให้องค์กรหมกปัญหาในเรื่องขาดผู้ดูแลที่มีทักษะในเรื่อง Command line ด้วย ดังนั้น RHEL8 มาพร้อมกับคุณสมบัติที่จะช่วยให้องค์กรของคุณสามารถก้าวสู่การใช้งานแบบ Hybrid Cloud ได้อย่างแท้จริง

Red Hat OpenShift 4 ตอบโจทย์ครบวงจรในการพัฒนา Application 

Red Hat OpenShift คือการรวมเอาเทคโนโลยีจาก Docker และ Kubernetes เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้การใช้งาน Container ในการพัฒนา Application ต่างๆ เป็นไปได้อย่างครบวงจร โดยเนื้อแท้แล้วแม้แกนกลางจะเป็นเทคโนโลยีของ Kubernetes แต่ความพิเศษคือ Red Hat ได้พัฒนาฟีเจอร์ในการบริหารจัดการ Container เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย อีกทั้งยังใช้งานได้ง่ายด้วย สาเหตุเพราะนี่คือแพลตฟอร์มเวอร์ชันตอบโจทย์ระดับองค์กร ไม่เพียงเท่านั้นภายใน OpenShift ยังได้ขนชุดเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนาแอปพลิเคชัน เช่น CI/CD, Database, Web UI, IDE และอื่นๆ โดยสำหรับ OpenShift 4 นั้นได้ต่อยอดเพิ่มเติมมาจากเวอร์ชันก่อนหน้าที่ออกมาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งมุมมองที่โดดเด่นอย่างชัดเจนมีดังนี้

  • Day 2 Operation และ Immutable Infrastructure – มีฟีเจอร์ Over-the-air Update ซึ่งช่วยลดเวลา Downtime ที่ต้องใช้ในการอัปเดต รวมถึงความสามารถในการทำ Automation นอกจากนี้การใช้ Red Hat Core OS เป็นรากฐานสำหรับ Container (Container เกิดจากการใช้งานความสามารถของ Linux Kernel ที่ช่วยแบ่งแยกการใช้ทรัพยากรได้) ซึ่งมาในรูปแบบของ Read-only จึงนำไปสู่เรื่อง Immutable และยังครอบคลุมไปถึงเรื่อง Optimize การใช้งานด้วย (ดูรูปประกอบด้านล่าง)
credit : www.openshift-anwender.de
  • Cloud Experience – OpenShift 4 สามารถบริหารจัดการ Cluster ได้ข้ามแพลตฟอร์ม เช่น AWS, Azure, GCP, vSphere, OpenStack และ Bare metal รวมถึงยังมี Operator Framework (รูปประกอบด้านล่าง) ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาสร้าง SDK ขึ้นเองได้ผ่าน OperatorHub.io ที่ทาง Red Hat ได้ทดสอบกับพาร์ทเนอร์เหล่านั้นแล้ว รวมถึงเรื่อง Life Cycle Management (YourOperator) หรือการทำ Metering เป็นต้น
credit : www.openshift-anwender.de
  • Empowering Developer – ในเวอร์ชันล่าสุด Red Hat ได้เตรียมเครื่องมือสำหรับตอบโจทย์คอนเซปต์ CI/CD อย่าง Jenkins ให้นักพัฒนาไว้เรียบร้อยแล้ว รวมถึงยังมีเครื่องมือที่ช่วยในเรื่อง Serverless, Service Mesh หรือเครื่องมือพัฒนาอย่าง Eclipse Che IDE เป็นต้น 

โดยสรุปคือ OpenShift เป็นแพลตฟอร์มที่ผสานเอาเทคโนโลยี Docker และ Kubernetes มาให้ใช้ง่ายแต่มีหน้าจอบริหารจัดการที่พัฒนาโดย Red Hat และมีฟีเจอร์มากมายเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานข้ามแพลตฟอร์มขององค์กร นอกจากนี้ยังได้รวบรวมเอาเครื่องมือและบริการที่จำเป็นต่อการพัฒนาแอปพลิเคชันมาอย่างครบครัน อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์มนี้ยังได้รับการดูแล รับรองการใช้งาน และทดสอบอย่างดีแล้วจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญของ Red Hat เพื่อรองรับการใช้งานกับทุกสภาพแวดล้อม

สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านเรื่อง OpenShift เพิ่มเติมได้จากข่าวเก่าของ TechTalkThai หรือที่ Red Hat OpenShift 4

ทดลองใช้งาน Red Hat OpenShift ได้ฟรี

ผู้ที่สนใจอยากทดสอบเทคโนโลยี Red Hat OpenShift หรือต้องการเรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้าน Container สามารถทดสอบได้ฟรีทันที 2 ช่องทาง ได้แก่

  • สำหรับ Developer สามารถทดการทดลองใช้งาน Red Hat OpenShift บน Cloud ได้ฟรีๆ ทันทีโดยการลงทะเบียนที่ https://www.openshift.com/products/online/ และจะสามารถทำการใช้งานได้ทันที 4 Service โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
  • สำหรับ System Administrator ที่ต้องการทดลองทำแล็บสำหรับ Red Hat OpenShift สามารถลงทะเบียนได้ฟรีๆ ที่ https://www.redhat.com/en/engage/openshift-storage-testdrive-20170718 เพื่อทดลองใช้งานระบบแล็บออนไลน์แบบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงใช้ SSH Client และ Web Browser เพื่อทำแล็บเท่านั้น

ติดต่อทีมงาน Red Hat Thailand

สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีต่างๆ ของ Red Hat สามารถติดต่อทีมงาน Red Hat Thailand เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมหรือทดสอบเทคโนโลยีต่างๆ ได้ทันทีที่โทร 02-624-0601 หรืออีเมล์ asaeung@redhat.com


About nattakon

จบการศึกษา ปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ KMITL เคยทำงานด้าน Engineer/Presale ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Network Security และ Public Cloud ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

[Black Hat Asia 2023] ทำลายห่วงโซ่: มุมมองของคนวงในเกี่ยวกับช่องโหว่ของห่วงโซ่อุปทานซอฟต์แวร์

ยินดีต้อนรับสู่มุมมองของคนวงในเกี่ยวกับช่องโหว่ของห่วงโซ่อุปทานซอฟต์แวร์ หัวข้อนี้ถูกนำเสนอโดยนักวิจัยด้านความปลอดภัยชื่อ Yakir Kadkoda และ Ilay Goldman จาก Aqua Security ซึ่งมีประสบการณ์มากมายในงานด้าน Red Team พวกเขาให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับช่องโหว่ที่แฝงตัวอยู่ในช่วงการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่เผยถึงความเสี่ยงที่องค์กรต้องเผชิญในการรักษาความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานซอฟต์แวร์

[Black Hat Asia 2023] สรุป Keynote วันที่ 1 เรื่อง “เตรียมตัวสำหรับการเดินทางอันยาวนานเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล”

ข้อมูลถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของการผลิต และความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ก็ได้รับการจัดอันดับให้มีความสำคัญสูงสุดโดยรัฐบาลทั่วโลก ในประเทศจีน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยข้อมูล เช่น “กฎหมายความปลอดภัยของข้อมูล” และ “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ได้รับการประกาศใช้และมีผลบังคับใช้ในปี 2565 …