Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

รีวิว : Acer Swift Go 14 แล็ปท็อปเพื่อธุรกิจที่คล่องตัว ขับเคลื่อนด้วย Intel Core i7 เจนเนอเรชัน 13 รุ่นล่าสุด

Acer Swift Go 14 จะเข้ามาเป็นคู่หูที่รู้ใจให้การทำงานในรูปแบบ Working from Anywhere มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ด้วยความบางเพียง 14.9 มม. มีน้ำหนักเบาถึง 1.25 กก. และหน้าจอแสดงผล OLED ให้ภาพที่คมชัด มาพร้อมขุมพลังรุ่นล่าสุด CPU Intel® Core™ เจนเนอเรชัน 13 รองรับ Intel® Unison™ ทำให้การเชื่อมต่อแล็ปท็อปและสมาร์ทโฟนสะดวกและง่ายขึ้น มีอายุแบตเตอรี่ที่เหนือระดับเพื่อการทำงานที่ยาวนานตลอดวัน และสุดยอดระบบระบายความร้อนแบบ TwinAir ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้สูงถึง 60.7% รู้สึกได้ถึงควมเย็นขึ้นจนสัมผัสได้ด้วยฝ่ามือ
 
Swift Go 14 มุ่งเน้นไปที่การมอบประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมและหน้าจอแสดงผล OLED ที่มีความคมชัดของภาพสูง ในราคาที่สามารถจับต้องได้สำหรับแล็ปท็อปที่มีความทนทาน มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นสีเงินเรียบง่ายหรูหราสวยงามแบบมินิมอลตรงกับเทรนด์ปัจจุบัน ซึ่งสร้างขึ้นด้วยโครงสร้างอะลูมิเนียมทั้งหมดเน้นความแข็งแรงรวมถึงฐานวางแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดด้วย

จุดเด่นของ Acer Swift Go 14

  1. แรง ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี 13th Gen Intel Core i7-13700H รุ่นล่าสุด
  2. เย็น จนสัมผัสได้ด้วยฝ่ามือ
  3. เบา น้ำหนักเพียง 1.25 กก.
  4. ชัด หน้าจอ OLED 14 นิ้ว 2,880 x 1,800 พิกเซล

การออกแบบ Acer Swift Go 14

 

Acer Swift Go 14 ภายนอกออกแบบมาอย่างเรียบง่ายด้วยวัสดุอะลูมีเนียมมีให้เลือก 2 เฉด สีเงินแวววาวและสีทองประกาย พื้นผิวไม่ทิ้งคราบรอยนิ้วมือไว้ให้ดูต่างหน้า จุดนี้ถือว่าทำมาได้อย่างดีเยี่ยม ฝาครอบเมื่อเปิดขึ้นมาจะดันยกฐานเครื่องให้ลอยขึ้นมาจากพื้นเพื่อเพิ่มช่องว่างช่วยในเรื่องการระบายความร้อนให้มีความเย็นเร็วมากขึ้น สัดส่วนของหน้าจอ 16:10 เว้นพื้นที่ขอบด้านบนเพื่อวางตำแหน่งกล้อง Webcam ส่วนขอบด้านล่างมองดูมีมิติทำมุมลึกตัดกับขอบตัวฐานซึ่งซ่อนช่องระบายความร้อนหลบสายตา จุดนี้ถือว่าใส่ใจการออกแบบได้ดีมาก และยังทำให้มุมมองของหน้าจอดูใหญ่ขึ้นกว่าปกติ

แป้นพิมพ์ออกแบบมาให้มีขนาดปุ่มขนาดใหญ่และเว้นระยะห่างระหว่างปุ่มได้ดีมาก เพิ่มความรู้สึกการสัมผัสที่นุ่มปลายนิ้ว ซึ่งตรงกับความชอบส่วนตัวที่นิยมใช้งานลักษณะแบบนี้เมื่อต้องอยู่กับการพิมพ์เป็นระยะเวลานานๆ ใต้ปุ่มแป้นพิมพ์มีการเพิ่มแสงไฟสีขาว LED เพิ่มเข้ามาช่วยให้การพิมพ์งานมีมิติที่สว่างสบายตามากขึ้น และในส่วนพื้นที่ทัชแพดมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไปมีการตอบสนองได้ดีมาก
 

Acer Swift Go รุ่นหน้าจอขนาด 14 นิ้ว มีน้ำหนักเพียง 1.25 กก. สัดส่วนอย่างละเอียด ความหนา 14.98 มม. กว้าง 312.92 มม. และ ยาว 217.93 มม. เหมาะสำหรับการพกพาโดยที่ไม่สร้างความเหมื่อยล้าในทุกการเดินทาง

พอร์ตการเชื่อมต่อ

 

Acer Swift Go 14 มีจำนวนพอร์ตที่เพียงพอสำหรับการใช้งานทั้งระดับองค์กรและการใช้งานส่วนบุคคลทั่วไป พอร์ตการเชื่อมต่อทั้งสองข้างที่ Acer ให้มานั่น มีช่องสำหรับอ่าน MicroSD Card เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะถูกใจเพราะตรงกับพฤติกรรมการใช้งานที่เอื้ออำนวยความสะดวก ส่วนอื่นๆ ไล่จากพอร์ต USB-C Thunderbolt 4 จำนวน 2 พอร์ต (สำหรับชาร์จไฟ และ ถ่ายโอนข้อมูล) USB-A 3.2 Gen1 จำนวน 2 พอร์ต HDMI 2.1 จำนวน 1 พอร์ต และ 1 พอร์ต สำหรับไว้อ่านข้อมูลจาก MicroSD Card ท้ายสุดของการเชื่อต่อไร้สาย Wi-Fi 6E และ Bluetooth 5.1 ที่เข้ามาสร้างความสมบูรณ์ให้ Working Anywhere บน Acer Swift Go มีความคล่องตัวที่ไร้รอยต่อบนเทคโนโลยีเวอร์ชันล่าสุด

ลำโพง อยู่ไหน?

 

ลำโพงจำนวน 2 ตัว ถูกวางไว้ ณ ตำแหน่งด้านล่างค่อนถัดมาเกือบสุดขอบของฐานซ้ายและขวา คุณภาพเสียงไม่ได้ดังกังวานมากนัก สำหรับใครที่ชื่นชอบเสียงในระดับคุณภาพระดับสเตอริโอคงไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากตำแหน่งลำโพงเมื่อวางลงบนพื้นโต๊ะเสียงที่ได้จะออกแนวทุ้มอู้ๆ ไม่ค่อยกังวานเท่าไหร่ ถึงแม้ว่า Acer จะพยายามออกแบบให้บางส่วนของช่องลำโพงโค้งทำมุมเปิดเพื่อให้เสียงสามารถกระจายออกมาด้านข้างได้ง่ายขึ้นก็ตาม แต่คุณภาพก็ยังดูแตกต่างเมื่อลองเทียบกับการยกตัวเครื่องขึ้นมาฟัง อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานส่วนมากมักจะใช้อุปกรณ์เสริมจากลำโพงบลูทูธที่สามารถเลือกซื้อตามระดับคุณภาพเสียงที่ต้องการได้

หน้าจอ OLED

คมชัดระดับ 2.8K (2880 x 1800) 5.1 ล้านพิกเซล

ด้านประสิทธิภาพการทำงานของรุ่นนี้

Acer Swift Go 14 ได้ใส่ชิปประมวล Intel Core i7 Gen 13 รุ่นใหม่ล่าสุดของปี ผสมผสานการทำงานร่วมกับหน่วยประมวลผลกราฟิก Intel Iris Xe และหน่วยความจำ 16GB LPDDR5 เพื่อการขับเคลื่อนเวิร์กโหลดภาคส่วนธุรกิจได้ไหลลื่น ด้านการออกแบบมุ่งเน้นไปการใช้งานในรูปแบบ Work form Anywhere ตัวเครื่องจึงมีน้ำหนักเบาบางพกพาได้สะดวกสบาย เพิ่มความคล่องตัวในทุกๆ ที่ที่ต้องการเปิดขึ้นมาใช้งาน ด้วยขนาดหน้าจอ 14 นื้ว กับคุณสมบัติข้างต้นที่กล่าวมา ถือว่าเป็นแล็ปท็อปที่มีน่าสนใจรุ่นนึงสำหรับปีนี้เลย

  • Processor : Intel Core i7-13700H
  • Graphics : Intel Iris Xe
  • RAM : 16GB LPDDR5
  • Storage : 512GB PCIe Gen4 SSD
  • Display : 14 inch WQXGA+ (2,880 x 1,800) OLED, 90Hz
  • Webcam : QHD (1440p)
  • Battery : 65 watt-hours
  • Operating System : Windows 11 Home Single Language V.22H2

เย็นเป็นสองเท่า เย็นจนสัมผัสได้ด้วยฝ่ามือ

เรื่องการระบายความร้อนในแล็ปท็อป ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าสถาปัตยกรรมจะล้ำสมัยมากแค่ไหน แต่ถ้าออกแบบการระบายความร้อนได้ไม่ดีพอ อาจจะส่งผลต่อความต่อเนื่องให้ธุรกิจสะดุดได้ง่ายๆ ซึ่งนั่นหมายถึง สูญเสียความต่อเนื่องลง สำหรับ Acer Swift Go 14 ถูกเคลมว่า “เย็นเป็นสองเท่า เย็นจนสัมผัสได้ด้วยฝ่ามือ” รับรู้ได้จริงในถานการณ์การใช้งานปกติ ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปการออกแบบที่มุ่งเน้นการใช้งานในระดับธุรกิจทั่วไป แต่อาจจะยังไม่ก้าวไปถึงระดับการโหลดงานกราฟฟิกที่ซับซ้อนสูง ซึ่งอาจจะต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนที่มากกว่านี้ เช่น สเปกของ GPU แยกส่วนเข้ามาช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานไหลลื่นยิ่งขึ้น ถ้าใครที่กำลังมองหาแล็ปท็อปสเปกสูงๆ เพื่อประมวลผลงานเวิร์กโหลดระดับองค์กร รุ่น Swift Go 14 อาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจใน พ.ศ. นี้

ด้วยระบบระบายความร้อนแบบ TwinAir Cooling พัดลมแบบคู่ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษช่วยให้การระบายความร้อนมีประสิทธิภาพสูงถึง 60.7% เมื่อเทียบกับพัดลมแบบตัวเดียว Single Fan ต้องบอกว่าสัมผัสความเย็นได้จริงแค่วางฝ่ามือลงบนตัวเครื่องและแป้นคีย์บอร์ด

ทดสอบด้วยโปรแกรม Cinebench R23

โปรแกรม Cinebench ใช้สำหรับทดสอบประสิทธิภาพกราฟิกและซีพียู ซึ่งจะแสดงผลเปรียบเทียบชิปประมวลเพื่อประเมินผลประสิทธิภาพการทำงานของการเรนเดอร์ซีพียูและการ์ดจอด้วยเอนจิ้น 3D จากการทดสอบบน Acer Swift Go 14 เป็นลำดับ Ranking อยู่สองโหมด คือ Single Mode ทำได้ 1,851 คะแนน Ranking ขึ้นมารั้งอันดับที่ 1 และ Multi Mode ทำได้ 11,378 คะแนน Ranking อยู่อันดับที่ 4 เป็นรอง AMD Ryzen 16C/20T 3.4 GHz ซึ่งมีสเปกที่สูงกว่า แต่เมื่อดูคะแนนแล้ว ไม่ได้ทิ้งห่างกันมาก 

สกอร์เรทการทดสอบบนเครื่องมือ PCMARK 10 ชี้ให้เห็นคุณภาพการทำเวิร์กโหลดสกอร์ค่อนข้างดีเยี่ยมทั้ง 3 หมวดหมู่

  • Essentials ทำได้ 10,575 คะแนน เน้นการทำงานระดับพื้นฐานทั้งในส่วนของแอปพลิเคชัน การประชุมออนไลน์ การท่องเว็บต่างๆ
  • Productivity ทำได้ 7,601 คะแนน เน้นการทำงานในส่วนตารางสเปรดชีทที่มีการคำนวนสูตรเป็นหลัก
  • Digital Content Creation ทำได้ 7,389 คะแนน เน้นการประมวลผลด้านกราฟฟิกทั้ง การสร้างแก้ไขรูปภาพ การแรนเดอร์ และการประมวลผลในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว (Video)

ภาพรวมของการทดสอบถือว่าตรงปก เป็นแล็ปท็อปเพื่อธุรกิจที่มีความคล่องตัว เมื่อย้อนกลับไปดูสเปกมีการเพิ่มหน่วยความจำมากถึง 16GB ซึ่งให้มาตั้งแต่ตั้งต้น ซึ่งทำให้ Acer Swift GO 14 มีขุมพลังที่มีประสิทธิภาพสูงพอที่จะรับมือกับงานเวิร์กโหลดที่ยากๆ ในระดับองค์กรได้สบายๆ

บทสรุป

ภาพรวมที่ได้สัมผัสและทดสอบการใช้งานจริงแล็ปท็อปรุ่น Acer Swift Go 14 ถือว่าออกแบบมาค่อนข้างลงตัวดี มีฟังก์ชันครอบคลุมสำหรับการทำงานทั่วไป ด้านประสิทธิภาพเปิดตัวมาพร้อมกับชิปประมวลผลรุ่นใหม่ล่าสุดจากค่าย Intel Gen. 13th คงไม่ต้องเปรียบเทียบอะไรเพื่อหาที่ติเพราะ Acer ได้ใส่หน่วยความจำขนาด 16GB เพื่อผสานการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่เรื่องที่น่าแปลกใจ คือ การระบายความร้อน รุ่นนี้ Acer ทำได้ดีเกินคาด ด้วยเทคโนโลยี TwinAir Cooling พัดลมแบบคู่ นอกจากนี้ ยังเสริมตัวช่วยด้านกายภาพจากฝาครอบเมื่อเปิดขึ้นมาตัวเครื่องจะถูกดันยกระดับจากพื้นให้มีช่องว่างซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การระบายลมมีความคล่องตัวขึ้น Acer Swift Go 14 เปิดตัวราคา 32,990 บาท ไม่แพงเกินถ้าเทียบกับสเปกที่ได้มาในกล่อง

About Pawarit Sornin

- จบการศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต - เคยทำงานด้าน Business Development / Project Manager / Product Sales ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Wireless Networking และ Mobility Enterprise ในประเทศ - ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ 

Cisco ปิดดีลเข้าซื้อ Splunk มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนได้รับอนุมัติเรียบร้อย ล่าสุดทาง Cisco ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ Splunk ที่มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 1 ล้านล้านบาทอย่างเป็นทางการแล้ว