ช่วงกลางเดือนที่แล้ว ทีมงาน TechTalkThai ได้มีโอกาสไปร่วมงาน “Google Cloud APAC Media Summit” ที่จัดขึ้นใน ณ สำนักงาน Google Cloud ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นอีกงานสัมมนาที่พาสื่อในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับ Gemini เทคโนโลยี Generative AI ของทาง Google Cloud อย่างเข้มข้น
โดยปีนี้มาในธีม “Let’s Talk AI” ซึ่งชัดเจนว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ AI ตลอดทั้งงาน โดย Google Cloud ได้พาทำความรู้จักและทดลองใช้เครื่องมือ Generative AI อันทรงพลังอย่าง Gemini Advanced, Vertex AI, AI Studio, Google Vids เป็นต้น และได้มาแบ่งปันประสบการณ์ พาเรียนรู้ Gemini และ Google Cloud ในหลากหลายแง่มุม มีเรื่องราวอะไรในงานสัมมนาวันแรกบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้
“The Future is Now” อนาคตที่ว่าคือตอนนี้แล้ว
เริ่มต้นด้วยเซสชัน Keynote จาก Managing Director ฝ่าย Global AI Business ของ Google Cloud คุณ Caroline Yap ที่มาชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยี AI อยู่รอบตัวเราแล้ว เช่น เบื้องหลัง Google สืบค้นข้อมูล ใช้ Gmail รับอีเมล หรือว่าการเลือกซื้อสินค้าบน e-Commerce ก็เรียกได้ว่าใช้งาน AI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และ Generative AI ยิ่งเร่งให้เกิดเปลี่ยนแปลงบริบทการทำงานหรือปฏิสัมพันธ์ไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งคุณ Caroline Yap ได้นำเสนอเครื่องมือของ Google ที่มีพร้อมให้ใช้งาน ณ วันนี้แล้ว รวมทั้งที่กำลังจะทยอยปล่อยออกมาในอนาคตอีก อาทิ
- Vertex AI แพลตฟอร์ม Machine Learning แบบ End-To-End ระดับองค์กร โดย Agent Builder สำหรับสร้าง Agent ตามความต้องการ พร้อมมี Model Garden ให้สามารถเลือก Foundation Model มาต่อยอดได้ทันที
- Gemini 1.5 Pro โมเดล Multimodal AI อันทรงพลัง โดยในเซสชันยังมีการสาธิตการส่งไฟล์ PDF เข้าไปตอบคำถามตามรูปแบบที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
- Google AI Studio แพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการสร้างแอปพลิเคชัน AI ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยในเซสชันได้สาธิตระบบสืบค้นวีดีโอด้วยภาพวาดแบบไม่มีบริบทมากนัก ก็สามารถระบุฉากดังกล่าวในวีดีโอได้อย่างแม่นยำ
- Grounding on Google Search ฟีเจอร์ที่จะทำให้โมเดล AI สามารถเข้าถึงข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตจาก Google Search ได้แบบ Real-Time
องค์กรจึงต้องเร่งปรับใช้เทคโนโลยี Generative AI ในปัจจุบัน เพราะโลกแห่งอนาคตนั้นมาถึงแล้ว และ Google Cloud มีเครื่องมือที่พร้อมสนับสนุนองค์กรอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วย Responsible AI ที่มีความรับผิดชอบผ่านโมเดล Shared Responsibility
Gemini for Google Workspace ทรานส์ฟอร์มแนวทางการทำงานแห่งอนาคต
Google Workspace คืออีกหนึ่งเครื่องมือยอดนิยมที่มีการใช้งานในระดับองค์กรมากมาย ซึ่งปัจจุบัน Generative AI ก็ได้เข้าไปเสริมขีดความสามารถในการทำงานขององค์กรให้เหนือไปอีกระดับขั้นแล้ว โดยด้วย Gemini for Google Workspace หรือก่อนหน้านี้คือ Duet AI
ณ ตอนนี้ Gemini for Google Workspace คือผู้ช่วย AI ที่แทรกตัวอยู่ในเครื่องมือต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ยอดนิยมอย่างการให้ช่วยเขียนบทความ สรุปเอกสาร สร้างสรรค์ครีเอทีฟ ที่สำคัญคือฟีเจอร์ Security และ Privacy ระดับองค์กรที่จะช่วยปกป้องข้อมูลองค์กรได้อย่างมั่นใจ
ภายในเซสชัน ทางคุณ Dragana Beara ยังได้แนะนำ 2 เครื่องมือที่น่าสนใจมาก ๆ ได้แก่
- Gems แชทบอท AI ที่ปรับแต่งได้ ตามบุคลิก (Persona) ที่ต้องการใช้ในงาน (Task) เฉพาะเจาะจง ตาม Prompt ที่ระบุ เช่น การสร้าง Gems ที่เป็นแชทบอท AI ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้การส่ง Prompt ไปยัง Gems สั้นลงและได้ผลลัพธ์ที่เร็วยิ่งขึ้น
- Google Vids เครื่องมือ AI สำหรับสร้างวีดีโอผ่าน Prompt ที่สามารถอ้างอิงไปยัง Google Docs ที่ใช้ Gemini ช่วยเขียนรายงานวิจัยตลาด เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสร้างวีดีโอได้ทันทีเลยด้วย
โดยทีมงาน Google Cloud ได้มีช่วงเวลาให้ทดลองสร้าง Gems และใช้งาน Google Vids เพื่อสร้างรายงานวิเคราะห์การตลาดและนำเสนอเป็นวีดีโอ ซึ่งเพียงแค่ 30 นาทีก็สามารถสร้างรายงานเวอร์ชันดราฟบน Google Docs และสร้างวีดีโอบน Vids ขึ้นมาได้จริง ๆ สิ่งนี้ชัดเจนว่า Generative AI จะทำให้งานหลาย ๆ อย่างเสร็จได้เร็วยิ่งขึ้น รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Gemini for Google Workspace สามารถอ่านได้ที่นี่
เสริมแกร่งความมั่นคงปลอดภัยด้วย Generative AI
เซสชันนี้ได้มาบอกเล่าถึงสิ่งที่ Google ได้มีการใช้งาน AI มาราวทศวรรษแล้ว เพื่อช่วยปกป้องให้การใช้งานเครื่องมือของ Google ให้มีความมั่นคงปลอดภัย (Security) ที่ดี อาทิ Google Workspace ที่ AI สามารถตรวจจับอีเมลสแปม (Spam) แล้วบล็อกไม่ให้ไปที่ Inbox ของผู้ใช้ได้ 100 ล้านกว่าฉบับแล้ว หรือ Google Play ที่สแกนเนื้อหาที่อาจเป็น Malicious ออกไปได้กว่า 200,000 ล้านชิ้นแล้ว เป็นต้น
นอกจาก AI แล้ว Generative AI ก็กำลังจะมีบทบาทในการช่วยปกป้อง Security มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น
- Automated Vulnerability Fix แก้ไขช่องโหว่อัตโนมัติบนอุปกรณ์ที่ดูแลจำนวนมหาศาล
- Incident Summary สรุปเหตุการณ์ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นได้มีคุณภาพเทียบเท่ามนุษย์ทำ แต่เสร็จเร็วกว่าที่ผ่านมาถึง 51%
ที่สำคัญ คือองค์กรควรพิจารณาปรับใช้ Secure AI Framework (SAIF) ตามที่ทาง Google วางกลยุทธ์ไว้เพื่อเป็นส่วนเสริมจากมาตรฐานที่มีอยู่ตามท้องตลาด พร้อมแนะนำการใช้ระบบ AI ให้มี Security โดยควรพิจารณาแยกเป็น 4 ส่วน คือ ข้อมูล โมเดล แอปพลิเคชัน และโครงสร้างพื้นฐาน โดยสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับ SAIF ได้ที่นี่
นอกจากนี้ คุณ Mark Johnston ยังแนะนำด้วยว่าให้เลือกใช้งานผ่านแพลตฟอร์มจะมีความยืดหยุ่นและมั่นคงปลอดภัยกว่า เพราะโมเดล Generative AI ยังคงมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว การเลือกใช้งานผ่านแพลตฟอร์มจะทำให้สามารถปรับใช้โมเดลใหม่ ๆ ได้ทันที อีกทั้งยังมี Security ที่ปลอดภัยมากกว่าด้วย
ขุมพลัง Vertex AI สร้าง AI Agent ด้วย Agent Builder
เซสชันนี้ได้ชี้ให้เห็น Use Case บางส่วนที่สามารถนำเอา AI Agent มาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นด้วย Agent Builder ภายใน Vertex AI ที่สามารถทรานส์ฟอรมกระบวนงาน Workflow ให้มีความอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น และช่วยลดเวลาที่ต้องปิดระบบ (Downtime) ลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ
โดยตัวอย่างคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูล Preventive Maintenance มาวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว ว่าอุปกรณ์ไหนมีปัญหาควรจะต้องสั่งซื้อใหม่ แล้วดำเนินการร่างอีเมลขึ้นมาเพื่อประสานต่อให้ได้ทันทีหรือจะตรวจสอบก่อนส่งอีเมลก็ทำได้เช่นกัน
อีกกรณีคือการทำแคมเปญโฆษณาสินค้าที่สามารถปรับแต่งอีเมลเพื่อส่งให้กับลูกค้าแต่ละรายได้ตามความชอบของแต่ละบุคคล (Personalization) พร้อมกับสร้างภาพประกอบที่ไปอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ตามแนวที่ลูกค้าแต่ละคนชอบได้อย่างรวดเร็ว เหล่านี้คือตัวอย่างบางส่วนที่แสดงให้เห็นศักยภาพของ AI ที่สามารถช่วยทรานส์ฟอร์มให้การทำงานเร็วขึ้น มีความเป็นส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา
Google ก็ใช้เครื่องมือ Generative AI ในทุก ๆ วัน
อีกหนึ่งตัวอย่าง Use Case ในการใช้งาน Generative AI ของ Google Cloud คือการพิจารณาเอกสาร Request For Proposal (RFP) ที่มีเข้ามาในทุก ๆ วันจำนวนมหาศาล ซึ่ง Google Cloud จะต้องทำงานแบบเดิมซ้ำ ๆ กันในทุกวัน เพียงเพื่อพิจารณาว่าแต่ละข้อนั้น Google Cloud สามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร
ด้วยเหตุนี้ Google Cloud จึงสร้างเป็น Google RFP Accelerator ที่นำเอาโมเดล LLM มาช่วยตรวจสอบและตอบคำถามในแต่ละข้อบน RFP ว่าจะ Comply ได้หรือไม่ได้ อย่างไร รวมทั้ง PitchGen เครื่องมือ Generative AI ในการสร้างสไลด์นำเสนอ เพื่อให้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น Proposal Manager สามารถสร้าง RFP ที่สมบูรณ์ได้เร็วขึ้น และมั่นใจได้ว่าเอาข้อมูลจากแหล่งล่าสุดมาอ้างอิงเสมอ
ความยั่งยืนใน Data Center คือสิ่งที่ Google Cloud ให้ความสำคัญ
เพราะความต้องการใช้งานบริการ Google Cloud ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง การออกแบบ Data Center ของ Google Cloud จึงต้องพร้อมตอบโจทย์ทั้งความต้องการลูกค้า และเรื่องความยั่งยืน ทั้งการใช้พลังงานที่สะอาดและทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เซสชันนี้ ผู้บริหารแห่ง Google Cloud ได้เน้นย้ำว่าได้ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนภายใน Data Center มาอย่างต่อเนื่อง โดย Milestone สำคัญคือ Google สามารถใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ได้ตั้งแต่ปี 2017 แล้ว แล้วมีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานแบบ Carbon-Free และ Net-Zero Emissions ภายในปี 2030 ที่จะถึงนี้ ด้วยการผสมผสานกลยุทธ์ในหลากหลายส่วน เช่น
- การปรับใช้ Jupiter Data Center Network ประสิทธิภาพสูงและยืดหยุ่น
- การใช้ Smart Network Manager เพื่อปรับขนาด (Scale) ตามความต้องการใช้งานอย่างชาญฉลาดตาม Demand-Response
- การใช้สายเน็ตเวิร์กส่งข้อมูลผ่านแสงแทนไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงาน
- การวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานใน Data Center (Google Data Center PUE) ที่แสดงให้เห็นว่า Data Center ของ Google Cloud ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cooling) ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ราว 10% และลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง
- การซื้อพลังงานหมุนเวียนจากพาร์ตเนอร์เช่นในไต้หวันหรือสิงคโปร์
เพราะ Generative AI กำลังมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ การรักษาสถานภาพความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน Data Center ของ Google Cloud จึงมีความท้าทายและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนในทุก ๆ จุด ทั้งเรื่องพลังงานหมุนเวียนจากแหล่งต่าง ๆ การใช้พลังงานให้คุ้มค่า รวมทั้งการเลือกใช้บริการจาก Data Center ที่เอาจริงเอาจังในเรื่องความยั่งยืน
Responsible AI คือสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
แม้ว่า Generative AI จะมีคุณประโยชน์หลายประการ หากแต่ก็อาจทำให้เกิดโทษหรือภัยคุกคามได้อย่างชนิดที่ไม่คาดฝัน เช่น การสร้างอีเมลปลอมเพื่อหลอกลวงจารกรรมข้อมูล หรือว่าการให้ข้อมูลแนะนำวิธีการในการโจมตีระบบ เป็นต้น
โดยข่าวที่ Google เพิ่งประกาศแผนลงทุนมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาทในประเทศไทย ได้มีการพูดถึงในเซสชันนี้ด้วยซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะเสริมทักษะ AI และ Security ให้กับคนไทยมากกว่า 150,000 คน รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรในนานาประเทศที่จะต้องร่วมมือกันทำให้ AI ก้าวหน้าอย่างมีความรับผิดชอบ และเสริมทักษะ AI ให้กับผู้ใช้งานให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
Project SEALD สร้าง Data Set ภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุณภาพสูง
Project SEALD หรือ Southeast Asian Languages in One Network Data คือความร่วมมือระหว่าง Google Cloud กับ AI Singapore และองค์กรพาร์ตเนอร์ในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น KBTG เพื่อทำให้มีชุดข้อมูล Data Set ที่เป็นภาษาในภูมิภาคนี้ในคุณภาพสูง
โดย Google ต้องการลดช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Divide) เพื่อให้ AI มีความก้าวหน้าอย่างเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้ Project SEALD จึงมีความสำคัญ เพื่อจัดเก็บคู่ภาษาที่เป็น Prompt-Response ในภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาไทย เวียดนาม พม่า ลาว มาเลเซีย บาฮาซาอินโดนีเซีย ทมิฬ ฟิลิปีโน เป็นต้น
เซสชันนี้ คุณ Pratyusha ได้มาบอกเล่าถึงความคืบหน้าที่เกิดขึ้นใน Project SEALD ว่าตอนนี้มีคู่ภาษามากกว่า 13,000 คู่แล้ว พร้อมกันแนะนำให้รู้จักกับวิธีการขยายขีดความสามารถของ LLM ด้วยเฟรมเวิร์ก CALM (Composition to Augment Learning Models) เพื่อให้การเทรนโมเดลมีประสิทธิภาพที่ดีในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้ง MatFormer เฟรมเวิร์กที่เทรนโมเดลขนาดใหญ่แล้วทำให้ได้โมเดลขนาดเล็ก ๆ ลงมาด้วย เพื่อประหยัดเวลาในการสร้างโมเดลขนาดต่าง ๆ ขึ้นมา
บทส่งท้าย
ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากงาน “Google Cloud APAC Media Summit” ในวันที่ 1 โดยทีม Google Cloud ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ พาเรียนรู้ Gemini, Vertex AI ในหลากหลายแง่มุม พร้อมทั้งประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องติดตามทั้งเรื่องความยั่งยืน Responsible AI ข้อมูล Project SEALD ที่บอกได้เลยว่าโลกยุคอนาคต AI จะมีบทบาทสำคัญในการทำงานอย่างแน่นอน
เพราะการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การพัฒนาอัปสกิลเพิ่มทักษะจึงเป็นทางเลือกที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หากใครสนใจสามารถเรียนรู้ทักษะ AI สามารถ Grow with Google ได้ที่นี่