ทำความรู้จัก Self-Driving Car ฉบับเบื้องต้น

Self-Driving Car รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (หรือในอีกชื่อหนึ่ง: รถยนต์ไร้คนขับ) นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆเช่น Google, Apple, Uber, Baidu เลยไปจนถึง Intel และอื่นๆ ต่างก็กระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้กันอย่างแน่นขนัด ไม่นับรวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆอีกมากมาย แต่ตัวตนแท้จริงของรถยนต์ไร้คนขับนั้นเป็นอย่างไรกันแน่? บทความนี้จะแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกันแบบชัดเจนยิ่งขึ้น

(ส่วนหนึ่งของบทความอ้างอิงและเรียบเรียงมากจาก Everything about Self Driving Cars Explained for Non-Engineers)

เทคโนโลยีหลักในการสร้างรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้นเป็นนวัตกรรมที่บูรณการเทคโนโลยี 4 อย่างเข้าด้วยกัน ได้แก่ Computer Vision, Deep Learning, Robotic, และ Navigation

Computer Vision นั้นเปรียบเสมือนตาของรถที่ทำให้รถยนต์นั้นรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวได้ เทคโนโลยีที่ใช้ก็มีตั้งแต่การติดตั้งกล้องถ่ายภาพ การใช้คลื่นเสียงเบื่อตรวจจับวัตถุรอบๆในลักษณะเดียวกับเรดาร์ และการใช้เลเซอร์

ตัวอย่างการใช้เซนเซอร์ คลื่นเสียง และกล้อง ใน Tesla (Credit: Tesla)

Deep Learning ถือเป็นสมองของรถยนต์ไร้คนขับเลยทีเดียว โมเดล Deep Learning ที่ถูกเทรนด์มาอย่างดีจะทำหน้าที่วิเคราะห์สภาพในท้องถนน เช่น การตรวจจับว่ารถขับตรงเลนหรือไม่ การตรวจจับผู้ใช้ทางเท้า การระบุป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ความเหมาะสมในการเร่งเครื่องหรือเบรก และอื่นๆอีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นส่วนที่เป็นพื้นฐานของการตัดสินใจกระทำใดๆของรถ

Robotic นั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญยิ่ง นั่นคือการแปลงจากคำสั่งที่ประมวลผลมาแล้ว (สัญญาณไฟฟ้า) ให้กลายเป็นคำสั่งที่ใช้กับเครื่องยนต์และส่วนต่างๆของรถได้จริง

Navigation เทคโนโลยีการนำทางเป็นทั้งส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมจากข้อมูลแผนที่ การประมวลผล และการตัดสินใจเส้นทางการขับเคลื่อนของรถยนต์

การทำงานโดยทั่วไปของรถยนต์ไร้คนขับนั้นจะอาศัยการรับข้อมูลผ่านทางกล้องหรือคลื่นเสียงแล้วนำมาประมวลผลด้วย Deep Learning แล้วจึงนำคำตอบจาก Deep Learning นี้ (เช่น: มีป้ายจราจรให้ลดความเร็ว) ไปเปลี่ยนเป็นคำสั่งในการขับเคลื่อนรถยนต์ต่อไป

ระดับของรถยนต์ไร้คนขับ

เมื่อไม่นานมานี้ BMW ประกาศตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไร้คนขับเลเวล 5 ภายในปี 2021 “เลเวล 5” นี้หมายความถึงระดับของความอัตโนมัติของรถยนต์ ซึ่งมีการแบ่งออกเป็นหลายระดับ ดังนี้

  • Level 0 คือรถยนต์ที่มนุษย์ต้องควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง ไล่ไปตั้งแต่การบังคับทิศทาง เบรก สตาร์ทเครื่อง ฯลฯ
  • Level 1 รถยนต์โดยมากยังถูกควบคุมโดยมนุษย์ แต่มีบางฟังก์ชั่นที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ เช่นการยังคับทิศทาง หรือการเร่งเครื่อง
  • Level 2 การบังคับทิศทางหรือการเร่งเครื่องอย่างใดอย่างหนึ่งถูกทำโดยระบบอัตโนมัติซึ่งจะทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องใช้ทั้งแขนและขาพร้อมกัน เช่น ระบบ cruise control
  • Level 3 รถยนต์ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติแต่ต้องมีผู้ขับขี่คอยเฝ้าระวังและแทรกแซงในกรณีที่ฉุกเฉินหรือต้องการความปลอดภัยสูง
  • Level 4 รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเต็มตัว แต่สามารถขับเคลื่อนในสภาวะที่มันถูกออกแบบมาเท่านั้น
  • Level 5 รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติซึ่งมีความสามารถในการขับขี่เทียบเท่ามนุษย์

มาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นโดยหน่วยงาน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ของสหรัฐฯดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้มีจุดอ้างอิงที่ชัดเจน อีกทั้งยังสำคัญอย่างยิ่งต่อการประเมิณอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาในบริษัทผู้ให้บริการประกันรถยนต์

ประโยชน์ของรถยนต์ไร้คนขับ

แน่นอนว่ารถยนต์ไร้คนขับนั้นไม่ใช่เพียงนวัตกรรมเท่ๆเท่านั้น สำนักข่าว Business Insider สรุปประโยชน์ของรถยนต์ไร้คนขับไว้อย่างตรงประเด็น 3 ข้อใหญ่

  1. ท้องถนนจะมีความปลอดภัยมากขึ้น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่รับรู้และตอบสนองต่อสภาพภายนอกได้อย่างรวดเร็วนั้นย่อมจะช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้น งานวิจัยจาก Eno Centre for Transportation กล่าวว่าหาก 90% ของรถยนต์ในสหรัฐฯเป็นรถอัตโนมัติ จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้เกือบ 80% เลยทีเดียว
    Credit: Waymo
  2. การจราจรและการใช้เชื้อเพลิงจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การลดอุบัตเหตุนั้นนอกจากจะลดความสูญเสียแล้วยังเป็นการกำจัดสาเหตุที่รถติดบนท้องถนน การมีแท็กซี่ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะจูงใจให้ผู้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง และการตัดสินใจของระบบอัตโนมัติจะทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยการเบรกและเร่งอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น และมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถลดอัตราการเกิดคาร์บอนได้สูงถึง 300 ล้านตันต่อปี
  3. มีเวลามากขึ้น เมื่อรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผู้ใช้งานสามารถนำเวลาในการเดินทางไปทำอย่างอื่นได้อย่างเต็มที่ และการที่รถอัตโนมัติช่วยลดการเกิดรถติด จะทำให้เวลาในการเดินทางสั้นลง McKinsey มีการประเมิณว่าเมื่อรถยนต์อัตโนมัติเข้าสู่กระแสหลัก จะช่วยประหยัดเวลาในท้องถนนรวมๆแล้วกว่า 1 พันล้านชั่วโมงต่อวัน

ใครอยู่ตรงไหนของเกมนี้

การพัฒนา ลงทุน และทดสอบรถยนต์ไร้คนขับนั้นปรากฎให้เห็นในหน้าข่าวไม่เว้นแต่ละวัน บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งทางด้านเทคโนโลยี และผู้ผลิตรถยนต์ต่างก็มีแผนที่จะผลิตรถยนต์ดังกล่าวขึ้น Navigant Research ทีมวิจัยและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสีเขียวทั่วโลกได้ทำการศึกษาและประเมิณกลยุทธและการดำเนินงานของบริษัทต่างๆในการสร้างรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและได้เผยการศึกษาออกมาในช่วง Q2 ของปี 2017 ที่ผ่านมา มีผลลัพธ์ดังนี้

Leaderboard ผู้นำด้านรถยนต์ไร้คนขับ (Credit: Navigant)

การศึกษาครั้งนี้มีเกณฑ์อยู่ 10 ข้อ ได้แก่วิสัยทัศน์, แผนการตลาด, พาร์ทเนอร์, แผนการผลิต, เทคโนโลยี, ยอดขาย, การตลาดและการกระจายสินค้า, กำลังการผลิต, คุณภาพของสินค้า, สินค้าที่ผ่านๆมา, และความมั่นคงของบริษัท แม้จะยังไม่มีการแข่งขันในตัวสินค้าออกมาเป็นรูปธรรมแต่ก็เป็นตัวชี้วัดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

หากต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเพิ่มเติม

 

อ้างอิง:


Check Also

Salesforce นำเสนอโซลูชั่น AI ใหม่ล่าสุด ต่อยอดนวัตกรรมเพื่อยกระดับ Customer Experience ให้ธุรกิจทั่วโลก [Guest Post]

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, 8 มิถุนายน 2566 – เมื่อเร็ว ๆ นี้ Salesforce (เซลส์ฟอร์ซ) ประกาศเปิดตัวนวัตกรรม AI ล่าสุดหลายรายการสำหรับ Data …

Google เปิดตัว Secure AI Framework แนวทางการสร้าง AI อย่างปลอดภัย

Google เปิดตัว Secure AI Framework ช่วยแนะนำแนวทางการสร้าง AI อย่างปลอดภัย